ลงพื้นที่ฟังปัญหาโดยตรง

"บิ๊กตู่" ลั่นจัดสรรเวลาลงพื้นที่ให้มากที่สุด เดินสายเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย ได้เห็นด้วยตา รับฟังปัญหาประชาชนโดยตรง ยิ่งเป็นแรงผลักดันทุ่มเททำหน้าที่นายกฯ ให้ดีขึ้นทุกวัน "บิ๊กป้อม" ลุยช่วยน้ำท่วมโคราชรอบสอง 23 ต.ค. "หญิงหน่อย" นำไทยสร้างไทยไปมหาสารคาม เร่งทำแผนแก้น้ำท่วมอีสานซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย จึงมีความตั้งใจว่าจะจัดสรรเวลาลงพื้นที่เยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยหรือทุกพื้นที่ที่มีปัญหา เพื่อจะได้เห็นด้วยตา รับฟังข้อเท็จจริงโดยตรง รวมทั้งติดตามการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และขจัดอุปสรรคให้กับข้าราชการระดับปฏิบัติด้วย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความสมบูรณ์ เติมเต็มการขับเคลื่อนจากส่วนกลาง โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำหลากในจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 17 จังหวัด ที่มีแผนงานและโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง 13 ปี (พ.ศ.2560-2572) รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง มีพื้นที่รับน้ำ 1.15 ล้านไร่ ทำหน้าที่เป็น "แก้มลิง" ตามแนวทางพระราชดำริ สามารถหน่วงน้ำได้กว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ในส่วนในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย รัฐบาลจะมีการจ่ายค่าทดแทน หรือค่าชดเชยความเสียหายให้ โดยหากจะเปรียบเทียบมูลค่างบประมาณที่ใช้ในการชดเชยนี้ กับความเสียหายที่จะเกิดจากอุทกภัยแล้ว นับว่าใช้จ่ายไปได้อย่างเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอุทกภัยนั้นควบคุมได้ยาก สร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร ชุมชน เขตเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ ทรัพย์สินของประชาชน และโบราณสถานต่างๆ รวมทั้งการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน ก็เป็นสิ่งที่ประเมินค่าเป็นเงินเป็นทองไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงเลือกการบริหารสถานการณ์วิกฤตแบบควบคุมได้ และเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ที่สำคัญยังสามารถนำน้ำในทุ่งรับน้ำ มาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นกุศโลบายในการแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว เรายังมีความจำเป็นต้องมีแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละปี เช่นปีนี้ แผนการส่งน้ำเพื่อเพาะปลูก เริ่มต้นเดือน พ.ค.-ส.ค.64 และเก็บเกี่ยวช่วงปลาย ก.ย.-ต.ค.64 หลังจากนั้น ตั้งแต่ช่วงปลาย ต.ค.เป็นต้นไป พื้นที่ลุ่มต่ำหรือทุ่งต่างๆ จะทำหน้าที่เป็น "แก้มลิง" รองรับน้ำหลากได้

"ในการลงพื้นที่ของผมทุกครั้ง มาจากความตั้งใจอย่างเดียวของผม นั่นคือการได้ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนด้วยตัวของผมเอง การได้พูดคุย รับฟังความคิดเห็น เห็นสภาพปัญหา ข้อร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งเป็นแรงผลักดันที่เตือนใจผมตลอดเวลาว่าต้องพยายามให้มากขึ้น ทุ่มเทให้มากขึ้น และทำให้ดีขึ้นในทุกๆ วันที่ยังอยู่ในตำแหน่งนี้ ผมยอมรับว่าปัญหาและอุปสรรคในประเทศของเราที่ยังต้องแก้ไขนั้นมีมาก แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เกิดและโตขึ้นมาในประเทศแห่งนี้ ผมได้เห็นประเทศที่รักของเราผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ด้วยแรงกายแรงใจ และความกล้าหาญของบรรพบุรุษ เช่นเดียวกับวีรชนเมืองสิงห์ที่ผมได้มาเยือน ผมจึงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเราชาวไทย เป็น “ชนชาตินักสู้” หากเพียงแต่เราคนไทยทุกคน รวมพลังแห่งศรัทธา พลังแห่งความสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยประสานเติมเต็มซึ่งกันและกัน เราสามารถที่จะแข่งขันกับทุกชาติในโลก ได้อย่างแน่นอนครับ" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอีกครั้งในวันที่ 23 ต.ค. โดยมีกำหนดการเดินทางไปยังโรงพยาบาลมหาราช เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และมอบสิ่งของให้กับผู้แทนโรงพยาบาล แล้วไปตรวจบริเวณเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล จากนั้นไปเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2 จุดคือที่ชุมชนมหาชัยอุดมพร เขตเทศบาลนครราชสีมา และที่วัดหมื่นไวย ต.ในเมือง พร้อมมอบถุงยังชีพจุดละ 100 ชุด ก่อนเดินทางกลับ กทม. ทั้งนี้ ถือเป็นการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.เขต 1 จังหวัดพะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีน้ำท่วมสูง ส่งผลให้บ้านเรือน พืชสวนไร่นาได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และหัวหน้า พปชร. มีความห่วงใยประชาชน หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัด ขอนแก่น สระแก้ว กาญจนบุรี ที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาน้ำ ในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนของพื้นที่ จ.นครราชสีมา พรรคเตรียมการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือต่อไป โดยมีคณะผู้บริหารพรรคและ ส.ส. ประกอบด้วยตนและนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนได้รับกับผลกระทบในครั้งนี้

วันเดียวกัน พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยนายพงศกร อรรณนพพร ประธานคณะกรรมการบริหารพื้นที่, นายทองหล่อ พลโคตร รองประธานคณะกรรมการบริหารพื้นที่ และทีมงานพรรคไทยสร้างไทย ลงพื้นที่มอบสิ่งของ พร้อมพบปะพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม หลังน้ำท่วมขังกว่า 2 สัปดาห์ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของภาคอีสานต่อเนื่องมาอย่างยาวนานมาก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยจากการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อเนื่องมายังจังหวัดมหาสารคาม ได้ระดมเครือข่ายนักวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อสรุปเป็นแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง