ป.ป.ช.ฟันแหลก ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ แก๊งเสาไฟกินรี

ป.ป.ช.สรุปคดีไตรมาสแรกปี 65 ชี้มูลระดับ “บิ๊ก” เพียบ​ ฟัน “ผวจ.กาฬสินธุ์” จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวกินส่วนต่าง 1.6 แสนบาท เชือด​ “ฉัตรณรงค์” ร่ำรวยผิดปกติ 52.49 ล้าน คดี “นริศร” เสียบบัตรแทนกัน “ดำรงค์ พิเดช” ขน จนท.ร่วมม็อบแดงถึงมือ อสส. ชี้มูล "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” เมื่อครั้งเป็น รมว.มหาดไทย รับประโยชน์จาก "อีสท์ วอเตอร์" เป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ตปท. ฟัน 6 สำนวนทุจริตเงินทอนวัดเสียหาย 39 ล้าน จ่อแจ้งข้อกล่าวหา “อดีต ผวจ.สมุทรปราการ-นายก อบต.ราชาเทวะ” ปม “เสาไฟกินรี” 871 ล้าน 

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.พร้อมด้วยนายภูเทพ ทวีโชติธากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ  ป.ป.ช.และนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ร่วมกันแถลงผลงานคดีทุจริตไตรมาสแรกปี 2565 โดยนายนิวัติไชยกล่าวว่า การร้องเรียนกล่าวหาเข้าสู่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำปีงบประมาณ  2565 ตั้งแต่ ต.ค.64-ม.ค.65 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น  2,656 เรื่อง แบ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช.โดยตรง 1,835 เรื่อง (ร้อยละ 69.09)  รองลงมาเป็นคำกล่าวหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  389 เรื่อง (ร้อยละ 14.65) และสำนักงาน ป.ป.ท. จำนวน 296 เรื่อง (ร้อยละ 11.14) ตามลำดับ โดยคำกล่าวหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่/และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต 2,031 เรื่อง, จัดซื้อจัดจ้าง 393 เรื่อง และอื่นๆ เช่น ร่ำรวยผิดปกติ, การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม, ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จำนวน 232 เรื่อง

ขณะเดียวกัน คำกล่าวหาร้องเรียนพบว่า หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด 655 เรื่อง (ร้อยละ 24.66) รองลงมาเป็น กระทรวงมหาดไทย 536 เรื่อง (ร้อยละ 20.18) กระทรวงศึกษาธิการ 146 เรื่อง (ร้อยละ 5.49) และเป็นส่วนราชการอื่นๆ จำนวน 1,319 เรื่อง (ร้อยละ  49.66)

นายนิวัติไชยกล่าวว่า สำหรับการชี้มูลคดีสำคัญในปีงบประมาณ 2565 เช่น กรณีกล่าวหานายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย จากเหตุการณ์เสียบบัตรแทนกัน และกรณีกล่าวหานายดำรงค์ พิเดช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย) ปัจจุบัน 2 คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องอื่นๆ เช่น กรณีกล่าวหานายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กับพวก ทุจริตโครงการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ปีงบประมาณ  2558 โดยมีพฤติการณ์ตั้งเรื่องจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวกับเอกชนแห่งหนึ่ง ผืนละ 2 ร้อยบาท กว่า 4 พันผืน แต่เมื่อทำเอกสารเบิกเงินกลับเขียนว่าไปซื้อจากวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง และลงราคาว่าผืนละ 240 บาท ทำให้มีส่วนต่างราว 1.6 แสนบาท

ส่วนคดีร่ำรวยผิดปกติ พบว่ามีการชี้มูลความผิดนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน กรณีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติกว่า 52.49 ล้านบาท โดยพบว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่พึงวิสัยจะมีได้เมื่อเทียบกับรายได้ช่วงระหว่างดำรงตำแหน่ง จึงชี้มูลความผิดเพื่อส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

นายนิวัติไชยแถลงอีกว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.65 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย กับพวก  กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันไม่ควรได้ตามกฎหมาย  โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 55 นายจารุพงศ์กับพวกเดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ปักกิ่ง ประเทศจีน ด้วยสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ ชั้นธุรกิจ ตกราคาที่นั่งละ 39,000 บาท ต่อมาปี 56 เดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ด้วยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ชั้นธุรกิจ ตกราคาที่นั่งละ 20,000  บาทเศษ รวมมูลค่าที่ได้รับไปเกือบ 6 หมื่นบาท

จากการไต่สวนพบว่า นายจารุพงศ์กับพวกมีการเรียกเก็บค่าตั๋วจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรืออีสท์ วอเตอร์ ทั้งที่นายจารุพงศ์ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์โดยตรง หรือควบคุมดูแลบริษัทดังกล่าว รับฟังได้ว่านายจารุพงศ์รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3 พันบาท ตามระเบียบหรือประกาศของ ป.ป.ช. มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 103 มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความคืบหน้าขณะนี้ได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไป

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ยังมีอีกอย่างน้อย 2 คดีที่มีความคืบหน้า ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ได้แก่​ 1.กรณีการชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  อดีตนายกฯ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ มีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการและฝ่าย ป.ป.ช. ขณะนี้ อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้องแล้ว​ และ 2.กรณีการชี้มูลนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก คดีปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เอื้อประโยชน์บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หรือคดีข้าวบูล็อก (bulog) ขณะนี้ อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้องเช่นเดียวกัน

เลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงถึงผลการชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหานายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  (พศ.) นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. รวมถึงข้าราชการสำนักงาน พศ. ในคดีทุจริตการเบิกเงินงบประมาณอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (คดีเงินทอนวัด) จำนวน 6 วัด รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 39,000,000 บาท โดยคดีทั้งหมดส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส. แบ่งมูลค่าความเสียหายได้ดังนี้

1.วัดชุมนุมพระ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ในปีงบประมาณ 2557 มูลค่าความเสียหาย  2,000,000 บาท​ 2.วัดดอนชัย ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2557 มูลค่าความเสียหาย 2,000,000 บาท 3.วัดพระศรีเจริญ ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ประจำปีงบประมาณ  2550 ถึง 2552, ปีงบประมาณ 2554 ถึง  2555, ปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ  2559 มูลค่าความเสียหาย 17,000,000 บาท 4.วัดหันสัง ต.หันสัง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2557 มูลค่าความเสียหาย 1,000,000 บาท​ 5.วัดราชบุรณะ ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ประจำปีงบประมาณ 2555 ถึง  2557 มูลค่าความเสียหาย 15,700,000 บาท​ 6.วัดญาณเมธี ต.ดงขุย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2558 มูลค่าความเสียหาย 2,000,000  บาท

นายนิวัติไชยให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการไต่สวน กรณีกล่าวหาการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี (เสาไฟกินรี) พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) พร้อมติดตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ว่า ในเดือน มี.ค.65 จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  โดยคดีนี้จะแบ่งการไต่สวนเป็น 5-6 สำนวน ตามปีงบประมาณที่มีการจัดซื้อ คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งถึงจะสรุปผล หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว จะให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กรอบระยะเวลา 1-2 เดือน  โดยต้องนำพยานหลักฐานมาหักล้าง ยืนยันว่าต้องเปิดโอกาสให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา จะทำแบบรวดเร็วมากไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วจะสรุปสำนวนให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการจัดซื้อเสาไฟกินรี จ.สมุทรปราการทั้งหมดนั้น มีการตรวจสอบระหว่างปีงบประมาณ 2556-2564 รวมวงเงิน 871,020,971 บาท โดยเป็นการประกวดราคาปกติ และการสอบราคา แบ่งเป็นปี 2556 วงเงิน 64,760,000 บาท ปี 2557 วงเงิน 2,534,519 บาท ปี 2561 วงเงิน 27,622,585 บาท ปี 2562 วงเงิน 171,840,000 บาท ปี 2563 วงเงินรวม 215,768,864 บาท ปี 2564 วงเงินรวม 388,505,000 บาท

สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทเอกชน รวมกว่า 20 ราย โดยตามกฎหมาย ป.ป.ช.ระบุว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง