'ชลน่าน' วางหมากศึกซักฟอก ประเมิน 3 ปัจจัย ฟันธงรัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม

7 เม.ย.2565 - ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ว่า เรามีการประชุมร่วมกันตลอด โดยจะมีการยื่นให้เร็วที่สุด แต่มีเงื่อนไขเพียงว่าต้องดูบริบทโดยรวม ว่าการยื่นขอเปิดอภิปรายฯจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ และสภาฯหรือไม่ เช่น การยื่นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ และทำให้กฎหมายพิจารณาล่าช้าไป หรือขัดขวาง เราก็จะนำเหตุผลเหล่านั้นมาพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น ส่วนในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะมีการยื่นขอเปิดอภิปรายฯ เลยหรือไม่นั้น เรายังไม่กำหนดถึงขนาดนั้น ต้องดูภาพอื่นๆประกอบไปด้วย เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่ จะได้เข้าพิจารณาในช่วงใด หรือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการ วันที่ 1-2 มิ.ย.นี้

“ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวพอสมควร เดิมเราตั้งใจจะยื่นก่อนการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ พอกำหนดไทม์ไลน์พ.ร.บ.งบฯมาอย่างนี้ ก็ทำให้จังหวะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำได้ไม่ต่อเนื่องอย่างแน่นอน เว้นแต่งบประมาณผ่านไปแล้วและนำกลับมาพิจารณาในวาระ 2-3 ช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ เราคิดว่าช่วงกลางๆนี้น่าจะเหมาะสม” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า จะยื่นในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายังไม่กำหนดถึงขั้นนั้น แต่เราเตรียมพร้อมตลอด นัดประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาสาระอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาล จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า เป็นเจตจำนงค์ของรัฐบาลที่จะอยู่ให้ครบ4ปี หรือดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่เท่าที่ดูมั่นใจว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม ด้วยปัจจัย 1.ผลงานความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา 2.รัฐบาลจะยุบสภาก่อนและไปเลือกตั้งช่วงใกล้ครบเทอม อย่างที่เขาแพลนออกมาว่าหลังการประชุมเอเปค เพราะต้องการผลงานในช่วงการประชุมเอเปค รวมถึงถ้าปล่อยให้ครบเทอม จะมีการย้ายพรรคของส.ส. ดังนั้นการยุบสภาหลังเอเปคจะเหมาะสม เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน60วัน จึงเป็นจุดสำคัญ

“แต่กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า กรณีที่มีการยุบสภาให้สังกัดพรรคภายใน 30 วัน ฉะนั้นมีเวลา 30 วันที่จะโยกย้ายเปลี่ยนพรรคการเมืองกันแบบสะดวกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอยู่ครบเทอมต้องสังกัดพรรคใน90วัน และต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่คิดว่ารัฐบาลมีโอกาส และประโยชน์สูงสุดเขาก็จะเลือกทำแบบนี้"

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เช่น ครบวาระ8ปีนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก็อาจเป็นประเด็นที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนว่าเราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องดูอีกที เบื้องต้นคือพ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระรับหลักการ จะมีประเด็นหรือร่องรอยใดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของส.ส. และไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกันกับรัฐบาล โดยเราจะยื่นหลังจากนั้นซึ่งเป็นจุดสำคัญ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะไปเจอวาระครบ8ปีของนายกฯ 23 ส.ค.นี้ และอีกจุดหนึ่งคือหลังการประชุมเอเปค" ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พิชัย' เซ็ง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ยถามสังคมแบบนี้ควรมีอิสระไหม!

'พิชัย' ผิดหวัง 'แบงก์ชาติ' ไม่ลดดอกเบี้ย ทั้งที่ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ แต่กลับไม่เดือดร้อน ชี้ไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติมากำหนดอัตราการเติบโต แนะอย่าอ้างว่าต้องอิสระบนความเดือนร้อนของประชาชน

'เศรษฐา' ไม่ติดใจ 'ทักษิณ' มีบารมีมากกว่า

นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ​ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษ เพื่อรดน้ำขอพรวันสงกรานต์

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

รมต.-สส.-คนเสื้อแดงแห่ร่วมงานสงกรานต์ รดน้ำขอพรทักษิณ เจอฝนตกหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าช่วงเช้า ได้ไปร่วมทำบุญขึ้นบ้านใหม่บ้านของนางเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาว ที่อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยบรรยากาศมีคนในครอบครัวชินวัตร