'ดร.ณัฏฐ์' ชี้คำร้อง 'ณฐพร' ไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง

นักกฎหมายมหาชน “ดร.ณัฏฐ์” วิเคราะห์กรณี “ณฐพร โตประยูร” ยื่นศาล รธน. ปมการเลือก สว. ชี้ยังไม่เข้าเงื่อนไข “ล้มล้างการปกครอง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายช่องทางใช้วินิจฉัยนำไปสู่ยุบพรรค

17 พฤษภาคม 2568 - จากกรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยอ้างว่ามีขบวนการได้มาซึ่งอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ อันเป็นการล้มล้างการปกครอง

ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ความเห็นเชิงวิชาการ ว่าตามหลักการของมาตรา 49 รัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากเห็นว่ามีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยอัยการสูงสุดก่อน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ซึ่งในทางปฏิบัติกรอบเวลาดังกล่าวมักทำไม่ทัน ทำให้ผู้ร้องอย่างนายณฐพรสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามขั้นตอน แต่การรับคำร้องหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาล

ดร.ณัฏฐ์ อธิบายว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้จึงเป็นเพียง “เทคนิคทางกฎหมาย” ส่วนจะเข้าเงื่อนไข “ล้มล้างการปกครอง” หรือไม่ ต้องดูข้อเท็จจริงประกอบ ซึ่งหากศาลรับคำร้องวินิจฉัย ก็สามารถนำไปใช้ยื่น กกต. เพื่อขอยุบพรรคภูมิใจไทย ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้ายได้ โดยเป็นโมเดลเดียวกับกรณีของพรรคก้าวไกล

เนื้อหาที่นายณฐพรฯระบุในคำร้องที่เผยแพร่ผ่านสื่อ เป็นการอ้างว่ามีขบวนการเชื่อมโยงกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน กับพรรคภูมิใจไทย กระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติโดยไม่ชอบ ซึ่งเข้าข่ายกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และทำลายหลักประชาธิปไตย

ดร.ณัฏฐ์ ระบุว่า มาตรา 49 มีไว้เป็นกลไกให้ประชาชนพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นการ “ป้องกันไว้ล่วงหน้า” และคำว่า “ล้มล้างการปกครอง” หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายระบบให้หมดสิ้น โดยต้องเป็นการกระทำที่ไม่ห่างไกลจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และยังไม่แล้วเสร็จ ตามแนววินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564

เมื่อวิเคราะห์คำร้องของนายณฐพรแล้ว ดร.ณัฏฐ์ เห็นว่า พยานหลักฐานที่อ้าง ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนโดย กกต. ในประเด็นความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือก สว. ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.และศาลฎีกา ไม่ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ

แม้คำร้องกล่าวถึงการวางแผนโดยพรรคภูมิใจไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ แต่การกระทำนี้ต่างจากการล้มล้างการปกครองโดยตรง เพราะการทุจริตเลือก สว. อยู่ในขอบเขตที่ กกต.มีอำนาจพิจารณาเพิกถอนสิทธิต่อศาลฎีกา หรือดำเนินคดีทางอาญา ไม่ใช่การใช้อำนาจยื่นคำร้องช่องทางล้มล้างการปกครองฯต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อีกทั้ง การเลือก สว. เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2566 ถือว่าเป็นเหตุการณ์ห่างไกลจนเกินไป ไม่ใช่การกระทำที่กำลังดำเนินอยู่และยังไม่สิ้นสุด

ข้อกล่าวหาระหว่าง “นายใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน” กับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่อ้างควบคุม สว. ผ่านการแอบอ้างสถาบัน หากมีมูลก็เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ไม่ใช่พฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าด้วย การล้มล้างการปกครองฯ

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย หาก กกต.ตรวจพบการกระทำผิดร่วมของบุคคลอื่น เช่น เจ้าของพรรคตัวจริง กรรมการบริหารพรรค หรือ สส. ก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้ ตามมาตรา 77 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง สว. ซึ่งหากเกี่ยวพันถึงการฟอกเงินหรืออั้งยี่ ก็จะอยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

ดร.ณัฏฐ์ สรุปว่า ข้อเท็จจริงของคำร้องครั้งนี้ เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นการทุจริตเลือกตั้ง สว. โดยไม่ชอบตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ซึ่งสิ้นสุดลงแล้ว ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

“จึงไม่แตกต่างจากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร เคยยื่นคำร้องกรณีนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณาในที่สุด” ดร.ณัฏฐ์ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ณัฏฐ์ ชี้โยกงบแจกเงินหมื่น ไม่เข้าเงื่อนไขฝ่าฝืนรธน.

นักกฎหมายมหาชน "ดร.ณัฏฐ์" ชี้กรณีโยกงบแจก 10,000 บาท ไม่เข้าเงื่อนไขฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เชื่อพุ่งเป้าล้มรัฐบาล ไม่ต่างจาก “รัฐประหารเงียบ”

'อนุทิน' ประณามคนปล่อยข่าว ภท.ล้มนายกฯ ยันไม่แข่งตั้งรัฐบาล ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

"อนุทิน" ประณามคนปล่อยข่าวภูมิใจไทยจ้องล้มนายกฯ-รัฐบาล​ ยัน​"เนวิน" ไม่ได้ดีลลุง​ หนุน​ "พีระพันธุ์" นั่งนายกฯ​ ประกาศไม่ตั้งรัฐบาลสู้​ เหตุเหลือเวลาไม่นาน​ ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้าน​ ตัดจบไม่ขอชักเข้าชักออก กลับไปเป็นรัฐบาล​ แม้เปลี่ยนตัวนายกฯ

ประธานวุฒิสภา ยื่นศาลรธน.-ป.ป.ช. ถอดถอน 'แพทองธาร' ผิดจริยธรรมร้ายแรง

นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง (ป.ป.ช) ภายหลังคณะสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2568 ขอให้ประธานวุฒิสภาส่งหนังสือกล่าวหานางสาวแพทองธาร ชินวัตร

'ภราดร' มั่นใจ ภท. ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีกว่าปชน. ไม่ขัดข้องแยกกันตรวจสอบรัฐบาล

นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การเมืองในโลกยุคใหม่กับการท้าทายและโอกาส”

ดร.ณัฏฐ์ ชี้คลิปแพทองธาร-ฮุนเซน ทำลายความชอบธรรมรัฐบาล!

ดร.ณัฏฐ์ เผยปมคลิปแพทองธาร-ฮุนเซน ทำลายความชอบธรรมรัฐบาล กลไกรัฐธรรมนูญ-ลาออก-ยุบสภา แม้ภูมิใจไทย ถอนตัวร่วมรัฐบาล ไม่พ้นคดีฮั้ว สว.

'ภูมิใจไทย' แถลงถอนตัวพ้นรัฐบาล! ชี้คลิปเจรจาแพทองธาร-ฮุนเซน บั่นทอนอธิปไตยชาติ

พรรคภูมิใจไทยออกแถลงการณ์ด่วน หลังประชุมกรรมการบริหาร มีมติชัดเจน ถอนตัวพ้นรัฐบาล เหตุคลิปเสียงนายกฯ แพทองธาร สนทนากับสมเด็จฮุนเซน กระทบเกียรติภูมิและอธิปไตยของไทย