ผลักดันสิทธิผู้หญิง หยุดความรุนแรง : วันสตรีสากล

ตลอดเดือนมีนาคมทั่วโลกจะมีเรียกร้องยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี  ด้านสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ในข้อ 5.2 ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญขับเคลื่อนทำให้บรรลุเป้าหมาย

ส่วนองค์การอนามัยโลกยืนยันความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ซึ่งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด  ทัศนคติของสังคมที่มองว่าความรุนแรงในบ้านเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา  ในขณะเดียวกันพบผู้หญิงถูกทำร้ายในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ผลพวงเศรษฐกิจฝืดเคือง คนตกงาน มีภาระหนี้สิน เครียดสะสม  

นางภรณี ภู่ประเสริฐ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิพื้นฐานผู้หญิงผ่านยุทธศาสตร์สุขภาวะผู้หญิง ทั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพและการปกป้องคุ้มครองตนเองให้รอดพ้นจากความรุนแรงทุกมิติ วันสตรีสากลปีนี้ สสส. ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สมัครร่วมกิจกรรม แสดงความคิดเห็น และเสนอทางออกปัญหาการรุนแรงทางเพศผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.นับเราด้วยคน.com  โดยจะจัดกิจกรรมปลายเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) กล่าวว่า  สสส.ผลักดันสิทธิของผู้หญิง เราเน้นกลุ่มผู้หญิงที่มีลักษณะทางกายภาพหรือวัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นชายขอบ ได้แก่ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงมุสลิม ผู้หญิงชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้หญิงที่ด้อยโอกาสหรือถูกเลือกปฏิบัติ ได้แก่ ผู้หญิงต้องขัง ผู้หญิงบริการ และผู้หญิงรักผู้หญิง

เมื่อวิเคราะห์ช่องว่างในการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ/ชายขอบหรือด้อยโอกาส พบว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่เผชิญความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงจากอคติทางเพศที่ฝังในระบบคิด ติดอยู่ในจารีต และการปฏิบัติในวัฒนธรรมจนส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิง ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ และอำนาจการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และนโยบายสาธารณะที่กำหนดชะตาชีวิต

อ้างอิงตามสถิติ พบว่า ผู้หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน  และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาแจ้งความร้องทุกข์ปีละ 30,000 คน ขณะที่รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน

สสส.ขับเคลื่อนงานสิทธิผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้

นางภารณีกล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 ประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมา ความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5  เนื่องในวันสตรีสากล สสส. หวังว่า นอกจากส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของสตรีแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันลดและขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ มีความเชื่อว่า ความเป็นธรรมทางสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และทำให้คนในสังคมอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมที่เท่าเทียม

สสส. สนับสนุนทุนทำงานด้านสุขภาวะผู้หญิง เน้นลดความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาสำคัญต่อสุขภาวะผู้หญิงให้กับองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ อาทิ สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น รวมถึงหนุนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการเดินหน้าโครงการต่างๆ ทั้งพัฒนาองค์ความรู้ และหลักสูตรแก้ปัญหา พัฒนาพื้นที่นำร่องระบบงานสหวิชาชีพเพื่อการจัดการกรณีปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว ที่ครบวงจร รวมถึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่องในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ  รวมถึงงานสื่อสารสาธารณะผ่านเพจ Free From Fear  เพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women Thailand สร้างความตระหนักและไม่เพิกเฉยต่อปัญหา

พัฒนาศักยภาพแกนนำสตรี สานพลังเครือข่าย

นางสาววรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญปัญหาถูกลิดรอนสิทธิ ไม่มีส่วนร่วมระดับกลไกของรัฐหรือระดับการเมืองท้องถิ่น ถัดมาสถานการณ์โควิดทำให้ความรุนแรงในครอบครัวสูง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น โดยกรณีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรยุ่ง ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากกล้าหาญไปขอความยุติธรรมจากหน่วยงาน แต่จะถูกบอกว่าให้อดทน แล้วยังมีการไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ ทั้งที่ในพื้นที่ผู้ชายน้อยลงเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ หลบหนีกระบวนการยุติธรรม หรือเจอคดียาเสพติด ไม่ให้โอกาสผู้หญิงร่วมตัดสินใจ จากปัญหาที่เพิ่มขึ้นจึงทำงานสิทธิผู้หญิงในชุมชน เคารพความเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กกว่า 6 หมื่นคน  โดย สสส.สนับสนุน

“ เราทำงานกับผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้นำที่เป็นผู้หญิง และเด็กผู้หญิง ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีมากที่สุด เพื่อให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ปัจจุบันพบสัดส่วนผู้หญิงในระบบการศึกษาใน 3 จังหวัดแดนภาคใต้สูงกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ สร้างเสริมศักยภาพผู้หญิงมุสลิมเป็นแกนนำอยู่ในกลไกชุมชน กลไกท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่มผู้หญิงที่ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือสำหรับผู้หญิงที่ต้องการเข้าถึงความยุติธรรม  รวมถึงขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวใน จ.ยะลา ร่วมกับ สสส. ดึงทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อนสร้างความตระหนักเรื่องการแต่งงานของเด็กหญิง การปกป้องเด็กจากอันตราย ส่งเสริมให้เด็กได้รับวัคซีน ส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย สร้างสัมพันธภาพในครอบครัว “  นางสาววรรณกนก ผู้หญิงที่มีบทบาทการขับเคลื่อนสิทธิสตรีในพื้นที่ชายแดนใต้ย้ำยังต้องต่อสู้เคียงข้างผู้หญิงอีกหลายประเด็นเพื่อหยุดความรุนแรง การกีดกันในการทำงาน สู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครื่องฆ่าเชื้อโรค-กลิ่นอับหมวกกันน็อก นวัตกรรมสุขภาพขับเคลื่อนสู่การใช้จริง

เครื่องฆ่าเชื้อโรคในหมวกนิรภัยเสริมสร้างสุขภาวะของผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร ของทีมเยาวชนจากวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘พัก กะ Park’ เปลี่ยนสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กลุ่ม we!park และภาคีเครือข่ายพัฒนาเมืองสุขภาวะและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance)

ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย

8มี.ค.วัน'สตรีสากล' OCAยกย่อง'คุณหญิงปัทมา' นำกีฬา-วัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก

สภาโอลิมปิกแห่งเอเซีย หรือ"โอซีเอ" ร่วมเฉลิมฉลองวันสตรีสากล 8 มีนาคม ยก 8 นักบริหารหญิงของโอซีเอ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ทั้งในและนอกสนาม ซึ่งหนึ่งในนั้นมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ ในฐานะกรรมการบริหารโอซีเอ ของไทยรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน คุณหญิงปัทมา ยังได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรม จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2567 อีกด้วย