สสส.ผนึก6องค์กรเครือข่าย สร้างสังคมสูงวัยรู้เท่าทันสื่อ

จากข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พ.ศ.2564 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระ ทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  พบว่า ผู้สูงอายุไทย อายุระหว่าง 57-73 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 21 นาทีต่อวัน และที่น่าสนใจคือ ช่วงเว้นระยะห่าง อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องงดเว้นการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เป็นเหตุให้การใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น

ด้วยเหตุปัจจัยของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้เอง การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท ทำมาปัน จำกัด และภาคีเครือข่ายสูงวัยรู้ทันสื่อ 12 จังหวัด ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสร้างสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะยั่งยืน ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ "นพ.วิชัย โชควิวัฒน" เปิดเผยว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้สูงวัยต้อง “รู้เท่าทัน” สื่อ เนื่องจากสื่อมีพัฒนาการที่มีความสลับซับซ้อน (Complexity) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามทันสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมี “ตัวช่วย” ให้ผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ  จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อ มุ่งพัฒนาระบบองค์ความรู้และนวัตกรรมเครื่องมือ เพื่อสร้างเป็นหลักการพื้นฐานของการรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ

ผู้สูงวัยผ่านโลกและชีวิต ผ่านร้อนและหนาวมาแล้วอย่างยาวนาน ผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างโชกโชน รู้เท่าทันผู้คนมาแล้วเป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นก็พูดกันว่า 4 เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เพราะข่าวสารบนโลกใบนี้มีความซับซ้อน การรู้เท่าทันสื่อจึงกลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงต้องสร้างระบบเป็นตัวช่วยเพื่อให้ผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ

ทุกวันนี้เราใช้โทรศัพท์ smart phone เกิดเป็นจักรวาลนฤมิต ทำอย่างไรเราจะได้ประโยชน์จากสื่อที่พัฒนาแล้ว หลักการพื้นฐานรู้ทันสื่อ การใช้ประโยชน์จากสื่อ ป้องกันอันตรายจากสื่อ อุปกรณ์สื่อมีการพัฒนาได้หลากหลายมาก จากกล้องถ่ายรูปปัญญาอ่อน พัฒนาเป็นกล้องถ่ายรูปอัจฉริยะอยู่ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวกัน ไม่ต้องปรับโฟกัส ถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้สูงวัยใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การป้องกันอันตรายจากสื่อ สื่อหลอกลวงจากแก๊ง Call Center แก๊งตกทอง ยั่วยุให้คนโลภตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงให้ไปลงทุนทำให้เสียทรัพย์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด มีข่าวเท็จข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนเกินกว่าความจริงเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหลงเชื่อกลัววัคซีนยิ่งกว่าการกลัวโควิด หลายคนต้องเสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบอะไรควรเชื่อและไม่น่าเชื่อถือ ด้วยการรับฟังข่าวจากแหล่งข่าวทางราชการ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือสารคดีข่าวมีความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น อย่าด่วนรีบแชร์ข่าวลวงข่าวเท็จเป็นการสร้างความเสียหาย  และยังผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย 20% จากจำนวนประชากรมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% และในอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยสื่อยุคดิจิทัลส่งผลต่อพฤติกรรมการดำรงชีวิต ผลการสำรวจผู้สูงอายุต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีเพื่อรับทราบข่าวข้อมูลอย่างเป็นทางการ ขณะนี้จำนวน 75% มีทักษะที่จะรู้เท่าทันสื่อ ปี 2563-2564 ระดับโดยรวมของสังคมไทยถือว่าใช้ได้ถึง 70% เมื่อโฟกัสไปที่ผู้สูงอายุ 63% ยังมีช่องว่าง เราต้องสร้างอาวุธในการใช้สื่อ “การเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นภาระ แต่เป็นการเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักสื่อสารสุขภาวะให้บุคคลแวดล้อม เพราะผลกระทบจากข่าวลวงทำให้ผู้สูงอายุต้องสูญเสียทรัพย์สิน การระบาดโควิด-19 มีผลกระทบต่อสุขภาพผู้สูงอายุ

“ยูนิเซฟมีคำขวัญ พยาบาล หมอ ข้อเท็จจริงเป็นผู้ช่วยชีวิต การเข้าถึงข้อมูลรู้จักใช้ข้อมูลอย่างถูกต้อง อาศัยความร่วมมือของสื่อทุกแขนง การพัฒนาศักยภาพทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพ สื่อจึงเสมือนกับเหรียญสองด้าน เน้นในการเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นผู้สูงอายุตื่นรู้ ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”

 สสส.มุ่งเน้นเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี  โดยมียุทธศาสตร์การทำงานมุ่งพัฒนา “คน” และ “ปัจจัยแวดล้อม” สร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่มีความสมดุลจัดการความรู้และสร้างเครื่องมือที่สามารถนำไปยกระดับการทำงานและการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติมีพื้นที่ปฏิบัติการระดับจังหวัด 21 จังหวัดทั่วประเทศ

“เอ็มโอยู 'สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ' ครั้งนี้ มีแนวทางส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัย 4 ข้อ ได้แก่ 1.พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ขยายผลเกิดเป็นเครือข่ายอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อในทุกพื้นที่ 2.พัฒนากลไกการทำงานในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ กลไกเฝ้าระวังสื่อ 3.สนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ เครื่องมือ และหลักสูตร ที่สอดคล้องกับบริบทการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็น Knowledge Hub เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุในสังคมไทยยั่งยืน และ 4.พัฒนาการสื่อสาร สร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อสารสาธารณะสร้างการรับรู้ประเด็นผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทันสื่อ มุ่งเป้าสู่การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบาย” นางญาณีกล่าว

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ มุ่งพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในพื้นที่ระดับจังหวัด.

 

“คาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ”

 นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัว D บริษัท ทำมาปัน จำกัด เปิดเผยว่า “กลุ่มคนตัว D ร่วมกับ สสส.และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อตั้งแต่ปี 2562 มีบทบาทในการออกแบบกระบวนการการจัดการความรู้ ซึ่งในปี 2565 ได้พัฒนาเครื่องมือ “คาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ” 3ข้อ ได้แก่

1.จำเป็นหรือไม่?

2.หาข้อมูลเพิ่มเติม

3.เดือดร้อนตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่?

เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์สื่อ รับสื่อ และใช้สื่ออย่างปลอดภัย ตอบโจทย์บริบทการใช้สื่อในแต่ละพื้นที่ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อบุคคล ถือเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงและเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์”

“เราถือหลักว่าจำเป็นไหมที่จะต้องซื้อ  หากซื้อแล้วจะเดือดร้อนคนในครอบครัวหรือไม่? ถ้าเดือดร้อนต้องกล้าปฏิเสธ No ก่อนตัดสินใจซื้อต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วน ต้องใช้สติยั้งคิดก่อนตัดสินใจ ขณะนี้ อบจ.เทศบาลมีหลักสูตรเพื่อประยุกต์ขยายการสอนไปยังทุกจังหวัด”นายวันชัย บุญประชา ให้ข้อคิดปิดท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

'วราวุธ' ชี้ปมน้องไนซ์เชื่อมจิต ส่งทีมประเมินสภาพจิตใจ ยึดพรบ.คุ้มครองเด็ก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้า กระทรวง พม. กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ. ) ดำเนินการตรวจสอบเรื่องน้องไนซ์เชื่อมจิ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022