เด็กทั่วโลกอ้วนลงพุงสูงถึง340ล้านคน เด็กไทยติดอันดับ2กลุ่มอาเซียน

 

เด็กอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก เด็กวัย 5-18 ปี มีน้ำหนักเกินพุ่งสูงถึง 340 ล้านคนทั่วโลก  เด็กไทยอ้วนลงพุงติดอันดับแถวหน้าอันดับ 2 กลุ่มประเทศอาเซียน สสส.-สธ.ผนึก 100 ภาคีสุขภาพ  ระดมสมองสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็กอ้วน ลุยดันมาตรการบังคับใช้ปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่ส่งผลต่อสุขภาพ เน้นจัดการเทคนิคการทำการตลาดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดเสี่ยง NCDs ต้นเหตุการตายก่อนวัยอันควร

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กไทยมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำการตลาดที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเด็กเล็ก1-5 ปี เพิ่มเป็น 11.4% และเด็กวัยเรียน 6-14 ปี เพิ่มเป็น 13.7% รวมทั้งเด็กวัยรุ่นพบ 13.1% ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทยที่สำคัญนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs อาทิ  เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“แม้ไทยมีมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กอ้วนอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ สร้างความรอบรู้และสนับสนุนให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี แต่มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป  เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อด้วยตนเอง ที่ผ่านมาไทยมีการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมเทคนิคการทำการตลาด ขาดกลไกการบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายสุขภาพ จึงร่วมกันพัฒนามาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า นโยบายด้านการตลาดก้าวไกลมาก เพราะทุกวันนี้ผู้ใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าก็เพราะเชื่อกลเกมในการโฆษณา มีการโปรโมชันลดแลกแจกแถม ถ้าเป็นเด็กย่อมจะลำบากใจ ดังนั้นจำเป็นต้องให้ข้อมูลความรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการเฝ้าระวังแนะนำคนใกล้ตัว

สสส.ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา  สสส.ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงานประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐกว่า 100 องค์กร เร่งระดมความคิดเห็นผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในระดับนโยบายต่อไป

พญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ  องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO)  กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมรับรองชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเด็ก ในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63  และแผนปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและควบคุม NCDs ระดับโลก พ.ศ.2556-2573 และนอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุม NCDs ซึ่งมาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  เป็นมาตรการที่แนะนำให้ดำเนินการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs อันอิงอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์  ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะทำงานร่วม ระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย (UNIATF  on NCDs) ที่เสนอต่อรัฐบาลไทย นอกจากนี้ พบว่าประเทศที่ใช้กฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เช่น ชิลี อังกฤษ แคนาดา  (รัฐควิเบก) เกาหลีใต้ สามารถช่วยลดปัจจัยการพบเห็นและลดสิ่งกระตุ้นจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กได้ ซึ่งมีประสิทธิผลดีกว่าประเทศที่มีแนวปฏิบัติแบบภาคสมัครใจ

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า กว่า 20  ปีที่เครือข่ายฯ มุ่งสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคหวาน ส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ จัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการโรงเรียนอ่อนหวานที่มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 700 โรง ใน 25 จังหวัด รวมถึงการผลักดันมาตรการทางภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อให้คนในประเทศบริโภคหวานน้อยลง ทำให้ไทยได้รับคำชื่นชมในระดับสากล นับเป็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ด้วยหลักการที่สำคัญคือ การจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และควบคุมปัจจัยที่มากระตุ้น ชักชวน จูงใจให้เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น หน่วยงานทุกภาคส่วน พ่อแม่ ผู้ปกครอง  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนและผลักดันมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยอย่างเร่งด่วน

รศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้จัดการแผนงานวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า กลยุทธ์ทางการตลาด เทคโนโลยี และการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้บริโภคในหลายๆ ด้าน มีการส่งเสริมการขาย การแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร คำเตือน  การโฆษณา การจูงใจ ลด แลก แจก แถมมาใช้ในกระบวนการจำหน่ายสินค้า เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อและบริโภคของประชาชน ในขณะที่วัยเด็กส่วนใหญ่ยังมีดุลพินิจไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ และขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมถึงไม่เท่าทันเทคนิคทางการตลาดที่เข้าถึงตัวเด็กง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้มาตรการการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับมาตรการอื่นๆ จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ถูกต้อง และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

***

ดร.สุชีรา บันลือสินธุ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO)

เด็กอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโรคอ้วนในเด็กอยู่ในลำดับต้นๆ ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐฯ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดโรค NCDs ในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องจัดการในระดับโลก เด็กอายุ 5 ปี-9 ปีมีน้ำหนักเกิน 340 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มจำนวนสูงขึ้นกว่า 40 ปีที่ผ่านมา และเด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นก็จะอ้วนต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงสูงเป็นโรค NCDs ดังนั้นมาตรการในการจัดการปัญหาเด็กอ้วน ต้องทบทวนการทำตลาดของของบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเด็กเห็นโฆษณาก็จะรบเร้าพ่อแม่ให้ซื้อขนมขบเคี้ยว เด็กไทยอ้วนก็มีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นติดอันดับ 2-3 ของประเทศในระดับอาเซียน ทั้งๆ ที่มีการรณรงค์ทุกอย่างเพื่อไม่ให้เด็กอ้วน ตั้งแต่การไม่บริโภคไขมัน น้ำตาล โซเดียม คาร์โบไฮเดรตจากอาหารแปรรูปเกินความจำเป็น และขอให้แนะนำให้เป็นผู้พิทักษ์รอบรู้เรื่องสุขภาพ

ขณะนี้ 60 ประเทศดำเนินมาตรการใช้ความสมัครใจในการออก กม.ควบคุมการตลาด ในทวีปอเมริกาเหนือ  กลาง และใต้ 20 ประเทศออก กม.ควบคุมการตลาด 18 ประเทศออกระเบียบควบคุมการตลาดในพื้นที่โรงเรียน  ประเทศนอร์เวย์ห้ามโฆษณาอาหารเครื่องดื่มที่มีโซเดียมสูงทางวิทยุ โทรทัศน์ เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา  ประเทศไอร์แลนด์ ตุรกี ห้ามการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มควบคุมที่มีส่วนผสมของน้ำตาล รวมถึงรายการเด็ก อินเดียห้ามทำการตลาดและขายรายรอบบริเวณโรงเรียน ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ประเทศชิลีประสบความสำเร็จในการออกมาตรการควบคุมการโฆษณาฉลากผลิตภัณฑ์ ควบคุมการตลาด การขายอาหารภายในโรงเรียน ประเมินผลที่เกิดขึ้น เด็กรับชมโฆษณาลดลง โดยเฉพาะไม่ให้ใช้การ์ตูนโฆษณาเพื่อดึงดูดความสนใจเด็ก

***

นายสราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย

ภาคีเครือข่าย 60 องค์กรเสนอแนะร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อสำรวจเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การโฆษณาส่งผลให้เด็กบริโภคเกิดโรคอ้วนสูงขึ้นถึง 13.7% ทั้งๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายให้เด็กอ้วน 10% จากการสำรวจข้อมูลบริษัทใช้เงินเพื่อโฆษณาสูงถึง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือ 27-30% ในการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจะต้องขับเคลื่อนด้วยการออก พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา ขณะเดียวกันต้องให้ข้อมูลความรอบรู้เรื่องการมีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้ สสส. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสื่อมวลชนมีบทบาทสูงในการปกป้องสิทธิเด็ก

ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ข้อมูล ด้วยการรับฟังจากผู้ประกอบการมาเป็นกรรมการร่วมด้วย การวาง Timeline เพื่อผลักดัน กม.เข้าสภาในเดือน ก.ย. ดึงภาคประชาชนและภาคธุรกิจทำผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพภายในปี 2566 บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการทำ CSR เพื่อสุขภาพเด็กน่าจะมีหนทางออกพบกันครึ่งทาง ขณะเดียวกันการโฆษณาผ่านทางทีวี วิทยุ วิดีโอ และทางออนไลน์จะต้องไม่เกินจริง อยู่ในขอบเขต พ.ร.บ.อยู่ระหว่างการยกร่าง กำหนดบทลงโทษอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นจะมีการฝ่าฝืนทำผิดได้ง่าย ถ้าทำให้เด็กบริโภคหวาน มัน เค็มลดลงได้ รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ สุขภาพเด็กก็จะดีขึ้น เมืองไทยตั้งเป้าให้มีเด็กอ้วนได้ 10% แต่ขณะนี้มีเด็กอ้วน 13% รวมทั้งวางแผนว่าเด็กไทยในอีก 19 ปีข้างหน้าจะต้องสูงอย่างสมส่วน ชายสูง 175 ซม. หญิงสูง 165 ซม. เด็กที่อายุ 5 ปี เด็กชายสูง 113 ซม. เด็กหญิงสูง 112 ซม. และยังมีส่วนสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จำเป็นต้องมีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะเป็นผู้นำในการผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายลดการเกิดโรค NCDs ในกลุ่มเด็กอ้วน ด้วยความเชื่อมั่นทางข้อมูลวิชาการว่า การลดโฆษณาจะส่งผลให้เด็กลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นต่อสุขภาพลงได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี

เปิดผลสำรวจวัยโจ๋ ขีดเส้นสนามกีฬาฟุตซอล ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน

เครือข่ายงดเหล้า และสสส. ส่งเสริมกีฬาเยาวชนจัดฟุตซอล No-L ชิงถ้วยพระราชทานฯ รร. ราชวินิต มัธยม คว้าแชมป์ไปครองสมัยที่ 2 ด้วยสกอร์ 6:0 ในขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 90 ต้องการให้สนามแข่งไม่ดื่ม ไม่สูบ ไม่เสพ ไม่พนัน และร้อยละ 84.8 คิดว่ากีฬาฟุตซอลทำให้เยาวชนเห็นคุณค่าของตัวเอง