สื่อสร้างสรรค์..ต้นแบบวิถีใหม่ กระตุ้น"อย่าปล่อย"ให้เด็กอ้วน

รายงาน World Obesity Federation ปี 2565 พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน จำนวนนี้มี 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ 5-19 ปี

ขณะที่รายงาน Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564 และปี 2565 พบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.7 โดยพบว่าเด็กวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี ร้อยละ 13.1 อ้วนเกินค่าเป้าหมายที่กำหนด จากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น ไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินไป ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและการกินของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและใช้จ่ายด้วยตัวเองได้

โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน  The New normal ลดหวาน มัน เค็ม  เพิ่มผักและผลไม้ ..จึงยังต้องขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ปัญหา "โรคอ้วน" อย่างต่อเนื่อง และหาทางเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเตือนสร้างสุขภาวะของเยาวชนไทยซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ โดยในปีนี้เป็นการส่งเสริมการทำสื่อสร้างสรรค์ลดอ้วนโรงเรียนในพื้นที่ กทม. เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายต่อยอดไปทั่วประเทศต่อไป  โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดถึง 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ล่าสุด..เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565 ที่ Lido Connect แหล่งรวมของเด็กและเยาวชน ใจกลางกรุงเทพมหานคร แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักโภชนาการ,  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข,  สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ, เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน, เครือข่ายคนไทยไร้พุง และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โครงการอย่าปล่อยให้เด็กอ้วน The New normal ลดหวาน มัน เค็ม  เพิ่มผักและผลไม้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4

“โรคอ้วน” หรือภาวะโภชนาการเกินในเด็กวัยเรียน เป็นปัจจัยเสี่ยงและปัญหาสาธารณสุขที่ต้องร่วมแก้ไข เพราะเด็กที่เป็นโรคอ้วนตั้งแต่อายุน้อย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 4 คน มีโอกาสเป็นโรคอ้วน และหากเด็กอ้วนไปถึงวัยรุ่น มีความเสี่ยงสูงที่ 3 ใน 4 คน จะป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนเด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอตามเกณฑ์โภชนาการ จะเสี่ยงเกิดภาวะ “ทุพโภชนาการ” น้ำหนักน้อย เตี้ย ผอม แคระแกร็น ส่งผลกระทบต่อร่างกายและพัฒนาการ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย กินอาหารหวาน มัน เค็ม ดังนั้น สสส.จึงเร่งผลักดัน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs โดยมุ่งพัฒนา “นักสื่อสารสุขภาวะ” ในระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชน ผ่านการให้ความรู้ในสื่อต่างๆ  ทุกแพลตฟอร์ม" นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงสาระสำคัญของการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการรณรงค์อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน

สสส.ทำงานมาแล้ว 21 ปี นำศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตสุขภาวะมาดูแลคนไทยอย่างต่อเนื่อง ลดการเกิดโรค NCDs มะเร็ง หัวใจ หลอดเลือดเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้เด็กวัย 20-30 ปีป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้นต้องให้ความรอบรู้เรื่องสุขภาพเข้าไปถึงเยาวชน การจุดประกายนวัตกรรมด้วยการทำงานร่วมกับนักเรียนร่วมคิดร่วมกันทำทุกภาคส่วน ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวเป็น Influencer ได้ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อกระจายสื่อสารออกไป สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ

“สื่อถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการนำมาสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะภายใต้สื่อยุคดิจิทัลที่มีช่องทางสื่อที่หลากหลาย สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ แรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการพัฒนาครูและนักเรียน สู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมสื่อสารประเด็นสุขภาพผ่านการพัฒนากระบวนการสื่อสาร และกิจกรรมสร้างสรรค์ในโรงเรียน โดยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะในโรงเรียน เพื่อช่วยลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นอีกเป้าหมายที่สามารถร่วมเป็นพลังขับเคลื่อน และเป็นโรงเรียนต้นแบบเรื่องการป้องกันเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ จนขยายผลไปทั่วประเทศได้” นางเบญจมาภรณ์กล่าว

ในขณะที่ นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ตอกย้ำว่า หากปล่อยให้เด็กอ้วนเกิดขึ้นโดยไม่ควบคุม จะทำให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 80 ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารไม่มีประโยชน์ การให้ความรู้และความเข้าใจกับเด็ก ผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาพบว่าการสื่อสารเรื่องนี้ยังใช้สื่อแบบเดิม ไม่ทันสมัย ไม่เข้าถึงเด็กได้ลึกพอ ครั้งนี้จึงมีนักโฆษณา ครีเอทีฟมืออาชีพ ให้คำปรึกษากับครูตลอดโครงการ โดยให้เด็กได้ลงมาเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อด้วยตัวเองด้วย คาดว่าเมื่อทำต่อเนื่องจะทำให้เข้าใจโภชนาการทางอาหารเพิ่มขึ้น จะทำให้โรคอ้วนและขาดสารอาหารมีแนวโน้มลดลง

"การพัฒนามาตรการปกป้องกันการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก จึงควรยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พ่อแม่ คนเลี้ยงดู และพัฒนากฎหมายคุ้มครอง ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และนำไปปฏิบัติได้จริง" อุปนายกสมาคมโภชนาการฯ ยืนยัน

ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพในเด็กประถมและมัธยมศึกษา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ครู ผู้ปกครอง พัฒนาสื่อและกิจกรรม ด้วยการออกแบบ ผลิต และจัดกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์สังคมเชิงรุก ผ่านการเปิดโจทย์ เปิดประเด็น ให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาได้รับสื่อสร้างสรรค์ พร้อมพัฒนาความรู้เนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโรงเรียน โดยทุกคนต้องปรับพฤติกรรมใหม่ช่วงโควิด-19 ผ่านการเรียนระบบ 5 ON คือ Online, On Air, On Hand, On Site และ On School Line

ถึงแม้ว่าปีนี้จะต้องทำรูปแบบ The New normal แต่พบว่า 23 โรงเรียนต้นแบบสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมออกมาได้น่าสนใจ และเพื่อเป็นกำลังใจ จึงคัดเลือกโครงการที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นรูปธรรม สู่การเรียนการสอนได้จริงขึ้นมา โดยเน้นการเสริมพลังและสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู และสถานศึกษา เพื่อรับรางวัลสุดยอดโรงเรียนสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรมรณรงค์ลดน้ำหนัก ส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ด้วยการรับรางวัลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“สุดยอดผลงานที่ได้จะเป็นต้นแบบสื่อที่ดี ที่ใช้ขยายผลกับกลุ่มเป้าหมายข้างเคียง ระหว่างกลุ่มเพื่อนของเด็ก ครอบครัว ครู หลักสูตร นโยบายของโรงเรียน ร้านค้ารอบสถานศึกษา เพื่อผลักดันให้โรงเรียนที่ได้รางวัลเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นๆ ยกระดับขยายพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้หลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผ่านการอบรมผู้บริหาร ครู และนักเรียนแกนนำ รูปแบบ Train for The Trainer เน้นกลุ่มนักเรียน ป.4-6 ใน 4 ภูมิภาค สร้างนักสื่อสารสุขภาวะ ที่พัฒนาสื่อเป็นนวัตกรรมให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ ลดปัญหาโภชนาการระยะยาว สามารถติดตามประกาศของโครงการได้ที่ www.artculture4health.com” นายดนัยกล่าว.

***

โรงเรียนต้นแบบ..อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน

รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน 0 โรงเรียนวัดปากบ่อ ...ธีม : หุ่นดีดีรอพี่ที่ท่าน้ำ คลองพระโขนง ตอนภาคีผีนานาชาติ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 0 โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม... ธีม : ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงแห่งสุขภาพ “Army Healthy Operation Center (AHOC)

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 0 โรงเรียนวัดอินทราวาส ...ธีม : Watin Country Fit & Firm Farm

รางวัลชมเชย 0 โรงเรียนวัดบางบอน (พิมพ์ จัน แต้อุปถัมภ์) ...ธีม : แม่ไม้ไทยพิชิตพุง

รางวัลชมเชย 0 โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ...ธีม : กองทัพวัดจันทร์ท้ารบสยบพุง

รางวัลกิจกรรมต่อยอดดีเด่น 0 โรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์

รางวัลเมนูดีเด่น 0 โรงเรียนวัดแสมดำ

รางวัลบูรณาการสู่ความยั่งยืนดีเด่น 0 โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์

รางวัลเพลงการออกกำลังกายดีเด่น 0  โรงเรียนศิริวังวิทยาคาร

***

จากใจ..ผู้คว้าถ้วยรางวัลพระราชทาน

ด.ญ.ศศิวรรณ สวยพริ้ง “ผีนางรำ” อายุ 14 ปี ชั้นมัธยมปีที่ 3 รร.วัดปากบ่อ รางวัลถ้วยพระราชทาน : โรงเรียนวัดปากบ่อ ธีม : หุ่นดีดีรอพี่ที่ท่าน้ำ คลองพระโขนง ตอนภาคีผีนานาชาติ

“เนื่องจาก รร.ปากบ่ออยู่แถวคลองพระโขนง มีเรื่องผีแม่นาคอยู่แล้ว หนูเป็นผีนางรำ เรามีนักเรียนแกนนำกว่า 10 คน สร้างทีมผีนานาชาติ เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวเป็นทีมผีก็มีอยู่แล้วที่โรงเรียน เป็นการลงทุนให้น้อยที่สุด มีครูวจี อนุภัค เป็นครูฝึกเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรม เรามีนวัตกรรมเพลงประกอบนำผีๆ มาออกกำลังกายทุกเช้า มีสายสิญจน์เปลี่ยนไขมัน เด็กๆ ก็สนุกสนานกัน เด็กสนใจที่จะอ่านฉลากโภชนาการก่อนบริโภค เรามั่นใจว่าทีมต้องได้ที่ 1 เป็น รร.ส่งเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะกิจกรรมดำเนินการจริงเห็นผลด้านพฤติกรรมลดความอ้วนได้จริง กลุ่มเด็กอ้วนมี 16 คน มีน้ำหนักเกินกว่า 80 กก. น้ำหนักลดลงได้ทั้งหมด แม้แต่หนูน้ำหนักเดิม 54 กก. ลดลงมาเหลือ 52 กก. น้ำหนักสมส่วนแล้ว ขณะนี้สร้างเครือข่าย รร.ออกไปอีก 3 แห่ง”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ

ไขคำตอบ..ออกกำลังกายเป็นนิจ ตัวช่วยอายุยืนยาวห่างไกล NCDs

อุบัติการณ์โรคในยุคนี้ปรากฏว่า "โรคไม่ติดต่อ (NCDs)" กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี