กมธ. สธ. แนะคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย ยกระดับมาตรการเทียบชั้นนานาชาติ

“หมอเอก” เผยรายงานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขซึ่งมี ส.ส. จากหลายกลุ่มการเมือง โดยรายงานแนะให้ยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้กฎหมายแบนไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำก่อปัญหาเพิ่มทั้งความชัดเจนของตัวกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความไม่ตรงกัน ทำให้ผู้ใช้กลายเป็นผู้กระทำผิดอย่างไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และยังไม่สามารถช่วยลดปัญหาการสูบบุหรี่และไม่สามารถป้องกันการซื้อขายสินค้าให้กับเด็กและเยาวชนได้ พร้อมนำหลักการลดอันตรายมาใช้ควบคู่กับนโยบายควบคุมยาสูบปัจจุบัน ยกระดับมาตรการช่วยให้คนเลิกบุหรี่ให้ทัดเทียมนานาชาติและบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ยาสูบชาติ หลังจากพลาดเป้ามาตลอด

นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. เชียงรายและโฆษกคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวถึงการเผยแพร่รายงานคณะอนุฯ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าว่า คณะอนุฯ เห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาสูบและลดอัตราการสูบบุหรี่ของไทยให้เร็วที่สุด แต่ติดปัญหาที่แนวทางการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันของไทยยังขาดประสิทธิภาพ คณะอนุฯ จึงเห็นว่ารัฐควรพิจารณานำหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้ามาใช้สนับสนุนควบคู่กับนโยบายการควบคุมยาสูบในปัจจุบัน โดยยกเลิกการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้วนำมาควบคุมให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วและหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำทั่วโลก เช่น องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา สำนักงานพัฒนาสุขภาพ ประเทศอังกฤษ สถาบันวิจัยโรคมะเร็ง ประเทศอังกฤษ หรือรัฐบาลนิวซีแลนด์ กรีซ และอีกหลายประเทศให้การยอมรับและนำมาเป็นแนวทางช่วยลดอันตรายให้กับผู้บริโภคยาสูบมากขึ้น

ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้นประมาณ 9.9 ล้านคน (ร้อยละ 17.4) และมีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อัตราการสูบบุหรี่ของไทยไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีจำนวนผู้สูบบุหรี่อยู่ที่ 10.8 ล้านคน อีกทั้งการแบนบุหรี่ไฟฟ้ายังทำให้เด็กละเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายเพราะขาดการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอายุขั้นต่ำ การจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม และการซื้อขายใต้ดินที่ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ

“หมอเอก” ยังกล่าวต่อว่า การยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทำได้ไม่ยาก สามารถทำได้เลย เพราะปัจจุบันเราควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 แต่ที่ยังติดขัดมีเสียงคัดค้านอยู่เพราะว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งของผู้กำหนดนโยบายที่เป็นเอ็นจีโอรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งรัฐควรทบทวนการตำแหน่งของกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิบางราย

“ผู้ทรงคุณวุฒิบางรายที่มีบทบาททับซ้อนไปร่วมคณะผู้แทนไทยในการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ไปนำเสนอนโยบายและเห็นชอบเอกสารต่างๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งที่ควรจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลควรมีการทบทวนองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยก่อนการไปเข้าร่วมประชุมภาคีสมาชิกครั้งที่ 10 (COP10) ที่ประเทศปานามาด้วย ประเทศไทยจะได้มีโอกาสในการยกระดับมาตรการควบคุมยาสูบให้ทัดเทียมนานาชาติ แทนที่จะติดหล่มอยู่กับแนวคิดเดิมๆ” นายแพทย์เอกภพ กล่าว

นายแพทย์เอกภพ กล่าวต่อว่า การจัดทำรายงานฉบับนี้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติทั้งด้านการสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การบังคับใช้กฎหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวม (net benefit) ทั้งต่อผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และการปกป้องเด็กและเยาวชน จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ท่านที่เป็นตัวแทนของ 30 กลุ่ม/หน่วยงานทั้งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือก และฝ่ายที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ อาทิ ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้แทนคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ แพทย์จากราชวิทยาลัยแพทย์ สสส. หน่วยงานราชการ เช่น กรมควบคุมโรค กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร การยาสูบแห่งประเทศไทย กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และยังได้เชิญตัวแทนจาก UK Office for Health Improvement and Disparities (OHID) หรือ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ มาเข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลเชิงวิชาการด้วย ซึ่งทำให้เนื้อหาและข้อสรุปของรายงานนี้มีความเป็นกลาง รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้นโยบายด้านการควบคุมบุหรี่ของบ้านเรามีการพัฒนาขึ้นได้ ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำงานต่อ ก็จะฝากให้พิจารณานำข้อเสนอแนะจากรายงานนี้ไปใช้ได้ทันทีโดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะลดการเสียชีวิตได้ประมาณ 21,400 คนและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้กว่า 31,100 ล้านบาทรวมทั้งสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทอีกด้วย

ขณะนี้คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้มีหนังสือนำส่งรายงานฉบับดังกล่าวไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วและเป็นที่สังเกตว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเพียง 30 กว่าประเทศที่ยังมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและประเทศเหล่านี้เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ต่างประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าและใช้บุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จิราพร' สั่งปราบบุหรี่ไฟฟ้าต่อ แม้พ้น 30 วัน ตามคำสั่งนายกฯ

น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า

รองนายกฯ ประเสริฐ มอบ สสส. ทำงานคู่ขนานรัฐ สื่อสารอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า เตือนเสี่ยงป่วยซึมเศร้า-กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สูงกว่าคนปกติ 2 เท่า และแจ้งเบาะแสแหล่งขาย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประธานการประชุมกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 3/2568 เผยมติที่ประชุมเห็นชอบโครงการสร้างเสริมสมรรถนะและขยายเครือข่ายเพื่อพัฒนางานควบคุมการบริโภคยาสูบทุกระดับ เป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดหนักในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกพื้นที่ควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน

เตือน! ข้อมูลเท็จอย่าเชื่อนายทุนขาย ‘บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน’ เสี่ยง NCDs หนักกว่า 2 เท่า

รัฐบาลย้ำข้อมูลเท็จเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน (HTPs) ว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป เตือนเพิ่มความเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถึง 2 เท่า พร้อมแนะประชาชนระมัดระวังอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเสียชีวิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี