เลือกตั้ง 2566 : รู้จักผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้ช่วย กกต. ตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

 

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติงานในการจัดการการเลือกตั้ง ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 โดย

“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้

“ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีหน้าที่และอำนาจในจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ  และมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้  ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว

(2) ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใด ที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(3) เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง

(4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง  ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตามที่ได้รับมอบหมาย

คุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี นับถึงวันสมัคร

(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับถึงวันสมัคร

(4) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(5) มีความเป็นกลางทางการเมือง

(6) มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย

(7) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง

(4) ติดยาเสพติดให้โทษ

(5) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(6) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

(7) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(8) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

(9) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(10) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

(11) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(12) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี นับถึงวันสมัคร เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(13) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

(14) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษให้จำคุกเพราะกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(15) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา    ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

(16) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

(17) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(18) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี

(19) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

(20) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(21) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

(22) มีบุพการี คู่สมรส หรือบุตร เป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(23) เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด แต่ได้ลาออก หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

***

ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง หรือการเลือกมีผลใช้บังคับ แต่ต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด   หรือวันประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา  แล้วแต่กรณี

การพ้นจากตำแหน่ง

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมาย

(3) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดผู้ใด ขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรม มีความประพฤติเสื่อมเสีย ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการขัดต่อระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สามารถ Add Friends (เพิ่มเพื่อน) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand https://lin.ee/jETxaeu

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

'ธนกร' ติง 'ชัยธวัช' พูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค

“ธนกร” ติง “ชัยธวัช” เป็นถึงทนายควรดูข้อกม.ให้ชัด อย่าพูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค มอง ตั้งใจลดทอนความเชื่อมั่นปชช.ต่อศาล ถาม มีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ชี้ ใครทำผิดต้องยอมรับ ขออย่าก้าวล่วง