‘คนแม่แจ่ม’ จ.เชียงใหม่ เดินหน้าพัฒนาเมืองทุกมิติ (1) รากเหง้า...วิถี...และสีสัน ‘มนต์เมืองแจ๋ม’

พิธี ‘ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า’ ที่ชาวแม่แจ่มจะถวายไฟให้ความอบอุ่นแด่พระพุทธเจ้าในช่วงอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ (ภาพจากเว็บท่ากรมศิลปากร)

ก่อนอาณาจักรเชียงใหม่เจริญรุ่งเรืองเมื่อหลายร้อยปีก่อน  ชาวลัวะ’ หรือ ‘ละว้า’  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนา (รวมทั้งในพม่าและลาว) มาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่  มีภาษาพูดเป็นของตนเอง  (อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร  สำเนียงพูดคล้ายภาษาเขมร) แต่เมื่อเชียงใหม่แผ่อิทธิพลขึ้นมาแทน  ชาวลัวะแตกพ่ายในศึกสงคราม  กลายเป็นชาวป่าชาวดอยต้องหลบลี้ไปอยู่ในป่าในดง  กระจายอยู่ทั่วไปในภาคเหนือตอนบน  ตั้งแต่เชียงราย  เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน  แพร่  น่าน  ฯลฯ

รากเหง้า...เล่าขานตำนาน ‘คนเมืองแจ๋ม’

อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย  อยู่ไม่ไกลจากดอยอินทนนท์  ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 123 กิโลเมตร  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับที่ราบ  มีแหล่งน้ำสำคัญคือ น้ำแม่แจ่ม’ 

“แม่แจ่ม” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “แจม”  เป็นภาษาลัวะ (คนเมืองหรือคนภาคเหนือออกเสียงว่า “แจ๋ม) ตามตำนานบอกว่ามาจากคำว่า อดอยาก หรือมีความหมายในทำนองว่า มีน้อย  ทุรกันดาร  หรือขาดแคลน  เพราะสภาพพื้นที่แถบนี้เป็นเทือกเขาสูง  ฤดูร้อนอากาศจะแห้งแล้ง  กันดารน้ำ  การติดต่อกับเมืองใหญ่เป็นไปด้วยความยากลำบาก  ต้องเดินเท้าหรือใช้วัวต่าง  ม้าต่าง  บรรทุกข้าวของข้ามดอยไปซื้อขายแลกเปลี่ยนครั้งหนึ่งนานหลายวัน

แม่แจ่มมีพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านไร่  สภาพเป็นภูเขาสลับที่ราบ  ตั้งอยู่ด้านหลังดอยอินทนนท์

บางตำนานเล่าว่า  ในสมัยพุทธกาล  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดผู้คนแถบนี้  วันหนึ่งพระองค์เสด็จออกบิณฑบาต      มีหญิงเฒ่าชาวลัวะนำปลาย่างครึ่งตัวมาตักบาตรถวาย   พระองค์สงสัยตรัสถาม  หญิงลัวะทูลว่า  ปลาอีกครึ่งตัวเก็บเอาไว้ให้หลาน  พระองค์ทรงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจมแต้น้อ”  (บ้านนี้เมืองนี้มันอดอยากจริงหนอ...)

ราว 200 ปีก่อน  ในสมัยที่พม่ายังยึดครองเมืองเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จ.เชียงรายในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2374 รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้ทัพสยามไปขับไล่กองทัพพม่าที่เชียงแสน  ทัพพม่าแตกพ่าย  พระองค์ให้เกณฑ์ชาวเมืองเชียงแสนกว่า 20,000 คนที่เป็นชาวไทยวน (ไท-ยวน หรือคนเมือง) ไปอยู่ยังเมืองต่างๆ เช่น  แม่แจ่ม (เชียงใหม่)  สระบุรี  ราชบุรี  ฯลฯ

ไทยวนหรือคนเมืองที่มาอยู่ที่แม่แจ่ม  ตอนนั้นยังเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองแจม” ตามคำเรียกของชาวลัวะที่อยู่อาศัยมาก่อน  แต่ออกเสียงเป็น “เมืองแจ๋ม” ตามสำเนียงของคนเมือง  และกลายเป็น “เมืองแจ่ม” จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานการแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างคนเมืองกับชาวลัวะ  เล่ากันว่า  สมัยที่คนเมืองจากเชียงแสนอพยพมาตั้งรกรากที่เมืองแจ๋มนั้น  เนื่องจากพื้นที่ราบเพื่อทำไร่  ทำนาในเมืองแจ๋มมีน้อย  เพราะชาวลัวะครอบครองอาศัยอยู่ก่อน 

คนเมืองที่มาอยู่ทีหลังจึงนำหมากแห้งจำนวน 10,000 พวงมาแลกกับที่ดินที่ชาวลัวะอยู่อาศัยและทำกิน  ที่ดินบริเวณนี้มีลักษณะเป็นที่ราบสลับเนินเขา  และมี “ม่อน” หรือเนินเขาย่อมๆ เป็นจุดเด่น  หมากแห้งเป็นของมีค่า  ชาวลัวะยอมรับแลกกับที่ดินและย้ายออกไปหักร้างถางพงไกลออกไป  ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ม่อนหมื่นหมาก”

ปัจจุบัน “ม่อนหมื่นหมาก” ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 บ้านไร่  ตำบลท่าผา  ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มประมาณ 7 กิโลเมตร  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง  เป็นลานกางเต็นท์สัมผัสอากาศหนาวเย็น  นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้าง 360 องศา  มองเห็นเทือกเขาดอยอินทนนท์และเมืองแม่แจ่ม  ยามเช้าจะมีเมฆหมอกปกคลุมดูงามตระการตา

‘ม่อนหมื่นหมาก’ ร่องรอยการย้ายเข้ามาของคนเมืองเชียงแสน...ปัจจุบันเป็นจุดแค้มปิ้ง 

วิถีและสีสัน...ผ้าซิ่นตีนจก-ผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์

อำเภอแม่แจ่ม  ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านไร่  ประชากรประมาณ 60,000 คน  มีทั้งคนเมืองหรือไทยวน  ลัวะ  ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง)  ม้ง   ฯลฯ  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร  ปลูกพืชไร่  เช่น  ข้าวโพด  ถั่วเหลือง  กะหล่ำปลี  ไผ่  กาแฟ ปลูกผักต่างๆ ผลไม้  เช่น  เสาวรส  ส้ม  อะโวคาโด้  ฯลฯ 

ในอดีตคนแม่แจ่มจะพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก  เพราะถนนหนทางจากเชียงใหม่มาแม่แจ่มยังทุรกันดาร  เป็นเพียงทางเกวียน  สินค้าและผ้าทอจากเมืองใหญ่ยังมาไม่ถึง  เมื่อว่างจากงานในไร่หรืองานบ้าน  ผู้หญิงส่วนใหญ่จะทอผ้าเอาไว้ใช้เอง  เหมือนเช่นผู้หญิงในชนบททั่วไป  สมัยก่อนชาวบ้านจะปลูกฝ้ายและทอผ้าฝ้ายเอาไว้ใช้เอง  เช่น  ทอเสื้อ  ผ้าซิ่น  ผ้าห่ม  ผ้านวม   โดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอ  ชาวม้ง  และชาวลัวะ 

ส่วนคนเมืองหรือไทยวนเชื้อสายเชียงแสนจะทอ ‘ผ้าซิ่นตีนจก’ ที่มีลวดลายสวยงาม  แตกต่างจากผ้าทอในชีวิตประจำวัน  เพื่อเอาไว้ใส่ในพิธีกรรมที่มีความสำคัญ  ใส่ไปเทศกาลงานบุญที่วัด  เมื่อยามเสียชีวิตลูกหลานจะสวมผ้าซิ่นตีนจกให้กับศพเพื่อเผาไปพร้อมกัน

‘คุณย่าเลิศ  คำมาวัน’ วัยเฉียด 80  เชื้อสายไทยวนเชียงแสน 

ราวปี 2506  เมื่อความเจริญจากในเมืองเดินทางมาถึง  มีการตัดถนนลาดยางเข้าสู่แม่แจ่ม  มีพ่อค้าจากภายนอกเข้ามาตั้งร้านค้า  สินค้าจากในเมืองทะลักเข้ามา  ทั้งเสื้อผ้า  อาหาร  ข้าวของ  เครื่องใช้  ทำให้การทอผ้าเอาไว้ใช้เองลดน้อยลง  เพราะเสื้อผ้าสำเร็จรูปสะดวกกว่า

ในปี 2517 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมชาวแม่แจ่มเป็นครั้งแรก  ทรงทอดพระเนตรผ้าซิ่นตีนจกของชาวแม่แจ่ม  จากนั้นพระองค์โปรดเกล้าให้ช่างทอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มไปฝึกอบรมการทอผ้าซิ่นตีนจกลายประยุกต์ และส่งเสริมผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณด้วย

ในปี 2528  มีหน่วยงานต่างๆ  เข้ามาศึกษาและส่งเสริมผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มเพื่อพัฒนาและผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย  ต่อยอดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ต่อมาในปี 2537 ททท.และอำเภอแม่แจ่ม  จัด ‘มหกรรมผ้าซิ่นตีนจกอำเภอแม่แจ่ม’ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและฟื้นฟูประเพณี  ศิลปวัฒนธรรมเป็นครั้งแรก  ทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวสวมใส่ผ้าซิ่นตีนจก รวมทั้งผ้าทอพื้นเมืองชนเผ่า  (ปัจุบันใช้ชื่องาน ‘มหกรรมผ้าซิ่นตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม’ จัดล่าสุดครั้งที่ 28 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

ปัจจุบันในอำเภอแม่แจ่มยังมีหลายหมู่บ้าน  หลายตำบล  ที่ได้รับผลพวงจากการส่งเสริมการทอผ้าในครั้งนั้น  ส่วนใหญ่จะทอเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม  หลายรายทำเป็นอาชีพหลัก  หรือนำผ้าทอลวดลายสวยงามมาตัดเย็บเป็นย่าม  กระเป๋าถือ  หรือสินค้าที่ระลึกต่างๆ จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว  ขายทางออนไลน์  หรือส่งต่อให้แก่ร้านค้าในเมืองเชียงใหม่  ราคาตั้งแต่หลักสิบ...หลักร้อย....จนถึงหลายหมื่นบาท

นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนระดับประถมในอำเภอแม่แจ่ม  เช่น  โรงเรียนบ้านทัพ  และโรงเรียนบ้านป่าแดด  ตำบลท่าผา       ได้บรรจุวิชาทอผ้าซิ่นตีนจกให้นักเรียนหญิงได้เรียน  โดยมีครูภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาเหมือนกับที่ครูเคยเรียนมาจากครอบครัวตั้งแต่สมัยยังสาว...เป็นการสืบสานการทอผ้าให้ยืนนานตลอดไป….

สีสันผ้าทอชาวปกาเกอะญอ หรือ ‘กะเหรี่ยง’

กลุ่มทอผ้าบ้านไร่  ตำบลท่าผา มี ‘คุณย่าเลิศ  คำมาวัน’ วัย 79 ปี  เชื้อสายไทยวนเชียงแสน  เป็นหัวเรือใหญ่  คุณย่าเลิศหัดทอผ้าตั้งแต่วัยเริ่มสาวอายุได้ 15 ปี  วันนี้คุณย่าทอผ้ามานานกว่าค่อนชีวิต  จึงปล่อยให้ลูกหลานดูแล

พี่มลฑา  อรินติ๊บ  ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านไร่  บอกว่า  กลุ่มทอผ้าบ้านไร่ก่อตั้งในปี 2553 (เดิมตั้งกลุ่มปี 2544 แต่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา) ปัจจุบันมีสมาชิก 10 คน  กลุ่มจะทอผ้าซิ่นตีนจกจำหน่ายตามออร์เดอร์  ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นผู้หญิง  อายุประมาณ 30-50 ปี  อยู่ในวัยทำงาน  จะสั่งทอผ้าทางออนไลน์  มาจากหลายจังหวัด  โดยมากเป็นลูกค้าจากกรุงเทพฯ  แพร่  เชียงใหม่  ฯลฯ  ทำรายได้ให้สมาชิกคนหนึ่งเดือนละหลายพันบาท

“หากเป็นลวดลายง่ายๆ ไม่ซับซ้อน  จะใช้เวลาทอผืนหนึ่งประมาณ 7-8 วัน  ราคาผืนละ 2,500 บาทขึ้นไป  หากเป็นซิ่นตีนจกจะใช้เวลาทอผืนหนึ่งประมาณ 1 เดือน  ราคาผืนละ 7,000 ถึง 8,000 บาท  ถ้าเอาผ้าไหมอีสานมาทอ  ผืนหนึ่งประมาณ 11,000-12,000 บาท”  พี่มลฑาบอก  

“จก” เป็นเทคนิคการทอผ้าบริเวณปลายผ้านุ่งหรือปลายซิ่น (ตีนซิ่น) ที่มีลักษณะพิเศษ  ผู้ทอจะ “จก” หรือล้วงเส้นด้ายหลากสีลงบนเส้นยืนให้เกิดลวดลายต่างๆ ตามต้องการลงบนปลายซิ่น  เป็นการทอที่ละเอียดอ่อน ประณีต  เกิดลวดลายที่สลับซับซ้อน สวยงาม  มีทั้งลายประยุกต์  และลายโบราณที่ยังเรียกชื่อตามรากเหง้าที่มาของบรรพบุรุษ  เช่น  ลายเจียงแสน (เชียงแสน) หลวง,  เจียงแสนห้องนาค   เจียงแสนหงษ์หลวง  ฯลฯ

‘พี่มลฑา’ กับฝีมือผ้าทอบ้านไร่ลาย ‘เจียงแสนโบราณ’ หรือเชียงแสน  ที่ได้รับรางวัล

สืบสานภูมิปัญญาล้านนา

นอกจากที่กลุ่มทอผ้าบ้านไร่  ยังมีกลุ่มทอผ้าในอำเภอแม่แจ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสานภูมิปัญญา  ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น  และสามารถจำหน่ายเป็นอาชีพหลักที่น่าภาคภูมิใจ  บางผืนมีราคาสูงหลายหมื่นบาท  เช่น เฮือนลายเมืองแจ่ม ตำบลช่างเคิ่ง  ซึ่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายผ้าทอตีนจก  ผ้าฝ้าย  เสื้อผ้า  สินค้าที่ระลึกที่ตัดเย็บจากผ้าทอ  รวมทั้งเปิดเป็น ‘โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  บ้านท้องฝาย’ 

เฮือนลายเมืองแจ่ม  มี ‘แม่อินศรี  กรรณิกา’ เชื้อสายไทยวนเชียงแสน  ได้รับรางวัลด้านการทอผ้าตีนจกมากมาย  ล่าสุดในปี 2565 ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ครูช่างศิลปหัตถกรรม’ ประเภทเครื่องทอ (ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม) จากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถ กรรมไทย (องค์การมหาชน)  และมี ‘ชุติมันต์  กรรณิกา’ เป็นทายาทที่สืบทอดผ้าทอตีนจกให้คงอยู่และขยายไปไกล  มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  สินค้าที่มีราคาสูงสุด  คือ  ผ้าซิ่นลายโจมโบราณ  และซิ่นตีนจกลายเชียงแสนโบราณ  ราคาผืนละ 35,000 บาท

ซิ่นตีนจกหลากสีสันที่ ‘เฮือนลายเมืองแจ่ม’ เชื้อสายไทยวนเชียงแสนเช่นกัน  บางผืนมีราคา 35,000 บาท  ใช้เวลาทอนานนับเดือน

โรงเรียนบ้านทัพ  ตำบลท่าผา  เป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา  เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ยังสืบภูมิปัญญาการทอผ้าซิ่นตีนจกให้แก่เด็กนักเรียน  โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนการทอผ้าซิ่นตีนจกตั้งแต่เมื่อราว 20 ปีก่อน  มีการตั้งโรงทอผ้าขึ้นมา  มีเครื่องทอผ้าโบราณทำด้วยไม้  ทอด้วยมือ  ประมาณ 30 เครื่อง  ตั้งเรียงรายดูขรึมขลังสง่างาม

‘ประภาวี  สมบุศร์’ หรือ ‘แม่บัวเขียว’  อายุ 61 ปี  ครูภูมิปัญญาสอนทอผ้าซิ่นตีนจก  บอกว่า  ที่โรงเรียนบ้านทัพเปิดสอนทอผ้าซิ่นตีนจกให้เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.4 - ป.6 มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน  แต่เธอเพิ่งมาสอนในปี 2563  จากการสนับสนุนของ ‘โครงการบ้านมั่นคงตำบลท่าผา’ ที่สนับสนุนให้เด็กเรียนในโรงเรียนหัดทอผ้า 

“ครูจะสอนทอผ้าซิ่นตีนจกอาทิตย์ละ 1 วัน  วันละ 2 ชั่วโมง  ถ้าบ้านใครมีเครื่องทอก็จะให้เด็กเอาผ้าไปทอต่อที่บ้าน  สอนตั้งแต่การทอผ้าพื้นฐาน  การจกหน้าหมอน  เป็นการจกลายแบบง่ายๆ  เป็นรูปสัตว์ต่างๆ  เช่น  ช้าง  ม้า ไก่  จากนั้นจะสอนลายที่ยากขึ้น  สุดท้ายจึงเป็นการสอนจกตีนซิ่น  ซึ่งถือว่ายาก  แต่เป็นลายประยุกต์  ไม่ใช่ลายผ้าโบราณที่ถือว่ายากที่สุด  ต้องมีความชำนาญจึงจะทอลายผ้าโบราณได้”  แม่บัวเขียว  ครูภูมิปัญญาบอก

ส่วนผลงานการทอผ้าซิ่นตีนจกของเด็กๆ จะนำมาวางขายในโรงทอที่โรงเรียนบ้านทัพ  ใช้เวลาทอผืนหนึ่งประมาณ 1 เดือน  ราคาผืนหนึ่งประมาณ 2,500 บาท  รวมทั้งฝากขายตามร้านจำหน่ายผ้าทอในอำเภอแม่แจ่ม...ประกอบกับหน่วยงานราชการในอำเภอแม่แจ่มได้ส่งเสริมให้ข้าราชการแต่งชุดพื้นเมือง  ชุดผ้าซิ่นตีนจกมาทำงานทุกวันศุกร์  จึงช่วยสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยืนยาวจนถึงปัจจุบัน...

“สมัยเด็กครูยากจน  ไม่ได้เรียนหนังสือ  จึงหัดทอผ้ากับแม่ตั้งแต่อายุได้ 11 ปี  ช่วยแม่ทอผ้ามาตลอด  พอโตเป็นสาวจึงได้ทอผ้าเป็นอาชีพ  มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว  พอมาได้เป็นครูสอนทอผ้าจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกหลานทั้งๆ ที่เราไม่ได้เรียนหนังสือ”  แม่บัวเขียวบอกด้วยความภูมิใจ

ครูบัวเขียวและลูกศิษย์ที่โรงเรียนบ้านทัพ

 ‘เผาหลัวพระเจ้า’ และมนต์เมืองแจ๋ม

นอกจากสีสันจากลายผ้าและเรื่องราวเล่าขานความเป็นมาของท้องถิ่นแล้ว  คนแม่แจ่มยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่โบราณหลายอย่างที่ท้องถิ่นอื่นไม่มี  เช่น  พิธี ‘เผาหลัวพระเจ้า’  หรือ ‘ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า’ ความหมายก็คือ  การเผาฟืน (หลัว) เพื่อหิง (ผิง) ไฟทำบุญถวาย (ตาน) แด่พระพุทธเจ้า

แม่แจ่มในอดีตมีความทุรกันดาร  ยามฤดูหนาว  อากาศก็จะหนาวเหน็บ ผ้าห่ม  ผ้าผวยยังเอาไม่อยู่   ผู้เฒ่าผู้แก่ ลูกเล็กเด็กแดง  ยามหัวค่ำจึงต้องล้อมวงนำหลัวหรือไม้ฟืนมาจุดผิงไฟกันหนาว  ตื่นเช้ามาก่อนออกไปทำไร่ทำนาก็ต้องลุกขึ้นมาผิงไฟอีก  เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น  จึงคิดว่า “เมื่อคนเราห่มผ้าผวยก็ยังหนาว  พระพุทธเจ้าครองผ้าไม่กี่ผืนจะไม่หนาวยิ่งกว่าหรือ ?”  จึงเป็นที่มาของพิธี ‘ตานหลัวหิงไฟพระเจ้า’

พิธีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า ปัจจุบันยังนิยมทำกันในอำเภอแม่แจ่ม  รวมทั้งภาคเหนือทั่วไป เป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา (เป็นหนึ่งในพิธี 12 เดือนของล้านนา) พิธีนี้จะทำกันในช่วงฤดูหนาว  ในวันเพ็ญเดือน 4 ล้านนา  หรือประมาณเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี  ซึ่งชาวนาเพิ่งจะเก็บเกี่ยวข้าวใหม่  จึงมักทำพิธี ‘ตานข้าวใหม่’ หรือถวายข้าวใหม่แก่พระสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย

กองไม้หลัวเตรียมผิงไฟให้พระเจ้า (ภาพจากเชียงใหม่นิวส์)

ก่อนวันงานพระสงฆ์และชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืนหรือไม้หลัว  ในสมัยโบราณจะนิยมไม้ที่มีกลิ่นหอม  ปัจจุบันใช้กิ่งไม้ที่หาได้ง่าย  มีความยาวประมาณ 3-4 เมตร  นำมาตากแดดให้แห้ง  ลอกเปลือกออก  มัดรวมกันให้เป็นกองสามเหลี่ยม  มีไม้ไผ่หรือไม้รวกมัดรวมอยู่ด้านใน  ใส่ฟางแห้งลงไปด้วยเพื่อให้ติดไฟง่ายขึ้น  นำมาตั้งวางเตรียมพร้อมอยู่บนลานหน้าโบสถ์

พิธีตานหลัวจะเริ่มประมาณตี 4-ตี 5 ซึ่งเป็นช่วงอากาศหนาวเย็น  น้ำค้างหยดแหมะ  เจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์จะเป็นผู้นำในพิธี  พร้อมด้วยชาวบ้าน  นำหลัวมัดเล็กๆ  เข้าไปถวายพระพุทธรูปในโบสถ์ก่อน  จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีจุดไฟกองหลัวที่หน้าโบสถ์  ไม้หลัวที่แห้งสนิทจะลุกโชติโชน   ไม้ไผ่ที่มัดรวมอยู่ด้านในเมื่อโดนไฟไหม้จะปะทุส่งเสียงดังปึงปัง...เป็นสัญญานให้ชาวบ้านเตรียมตัวลุกขึ้นมาทำบุญในตอนเช้า  ซึ่งมักจะมีพิธีทำบุญตานข้าวใหม่ด้วย...

นี่คือส่วนหนึ่งของรากเหง้า  ประเพณี  วัฒนธรรมของชาวแม่แจ่ม...ที่ยังคงอยู่  หลอมรวมกับสายน้ำและภูเขาเป็นมนต์เสน่ห์แห่งเมืองแจ่ม...รอผู้ไปเยือนและสัมผัส...!!

(ติดตามอ่านตอนต่อไป...คนแม่แจ่ม...เดินหน้าพัฒนาเมืองทุกมิติ)

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่