‘คนแม่แจ่ม’ จ.เชียงใหม่ เดินหน้าพัฒนาเมืองทุกมิติ (4) การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย...สร้างแม่แจ่มให้เป็นเมืองสีเขียว

ดอยหัวโล้นจากการถากถางเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด  เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย  รอเพียงน้ำฝน

แม้ว่าชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยและทำกินต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  แต่กฎหมายทึ่เดินทางมาถึงทีหลัง  เช่น  พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504  และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้บุกรุกป่า  ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน  ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  หน่วยงานรัฐและท้องถิ่นไม่สามารถสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรหรือสาธารณูปโภคเข้าไปในพื้นที่ได้  ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ติดตามมา...เป็นรากเหง้าปัญหาของคนแม่แจ่ม...(อ่านตอนที่ 3 จากม่อนบ่อเฮาะ...สู่ ‘แม่แจ่มโมเดล’...การพัฒนาที่ยั่งยืน www.thaipost.net/)

แต่อย่างไรก็ตาม...ปัญหาเหล่านี้เริ่มคลี่คลายไปทีละเปลาะ...เมื่อชาวแม่แจ่มและภาคประชาสังคมในนาม “แม่แจ่มโมเดลพลัส” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม...!!

ปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบเป็นลูกโซ่

อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่  มีพื้นที่ทั้งหมด 1,692,698 ไร่  แต่พื้นที่เกือบทั้งหมด คือ 1,668,883  ไร่  หรือประมาณ 98.60 %  อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  พื้นที่ป่าอนุรักษ์  ป่าต้นน้ำ  และเขตอุทยานแห่งชาติ    ส่วนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น  โฉนด, นส.3, นส.3 ก, สปก. ฯลฯ  มีพื้นที่รวมกันเพียง  23,815 ไร่   หรือ 1.40 %  ของพื้นที่ทั้งหมด  ทำให้ชาวแม่แจ่มมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน  รวมทั้งปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กรมชลประทาน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  (อบต. เทศบาล) ไม่สามารถสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ชาวบ้านได้  เนื่องจากติดขัดกฎหมายป่าไม้  เมื่อขาดแคลนแหล่งน้ำ  ชาวบ้านจึงต้องเลือกปลูกพืชที่ไม่ต้องอาศัยระบบชลประทาน  โดยเฉพาะข้าวโพด (ส่งขายทำอาหารสัตว์) ซึ่งเป็นพืชทนแล้ง  อาศัยเพียงน้ำฝน  

แต่เมื่อปลูกข้าวโพดก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา  เช่น  ฝุ่นควันจากการเผาซากไร่เพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบใหม่  (เพราะง่ายแก่การกำจัด) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและหนี้สิน  เพราะเมื่อปลูกข้าวโพดทุกปี  หน้าดินขาดความอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านก็จะต้องซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงดิน  ใช้สารเคมีฆ่าหญ้า  ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ราคารับซื้อข้าวโพดไม่แน่นอน  บางปีผู้ปลูกต้องขาดทุน  มีหนี้สิน

นอกจากนี้  ในช่วงฤดูฝน  พื้นที่ปลูกข้าวโพดบนดอยหรือพื้นที่สูงจะถูกน้ำฝนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำด้านล่าง  ตะกอนดิน  หิน  ทราย  จะไหลลงไปสะสมในแหล่งน้ำ  ลำห้วย ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน  ยามน้ำหลากจะทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน  เรือกสวนไร่นา  ยามฤดูแล้ง  แหล่งน้ำที่ตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้  เกิดภัยแล้งตามมา  รวมทั้งปัญหาสารเคทีที่สะสมอยู่ในแหล่งน้ำ ฯลฯ

ช่วงฤดูฝน ตะกอนดิน  หิน  ทราย  จะไหลลงไปสะสมในแหล่งน้ำ  ลำห้วย ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน  เกิดน้ำท่วม  ยามฤดูแล้งจะกักเก็บน้ำไม่ได้

เส้นทางการแก้ปัญหาที่ดิน

ปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบเป็นลูกโซ่ดังกล่าว  ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา  คนแม่แจ่มได้ใช้ความพยายามผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายมาตลอด  เช่น  ในปี 2553  ภาคประชาสังคมในอำเภอแม่แจ่มได้จัดทำ ‘โครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ขึ้นมา  เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า   การจัดทำแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน  กำหนดพื้นที่แนวกันชนและที่ราบเชิงเขาให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การปลูกป่า เพื่อป้องกันภัยพิบัติและการป้องกันการบุกรุกป่า ขยายพื้นที่ป่าชุมชน และส่งเสริมการปลูกไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  ฯลฯ

ในปี 2557  สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ทั่วประเทศ  ภาคประชาสังคมแม่แจ่มได้ขยับทำงานเชิงรุกมากขึ้น  เช่น  ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2557 ภาคประชาสังคมร่วมกับอำเภอแม่แจ่ม หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานป่าไม้  จัดเวทีรับฟังปัญหาป่าไม้-ที่ดินทั้ง 7 ตำบลในอำเภอแม่แจ่ม เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข มาจัดทำเป็นแผนงานในโครงการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกินอำเภอแม่แจ่ม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาในเดือนมกราคม 2558  จัดเวทีที่อำเภอแม่แจ่มเพื่อนำเสนอ Road map การแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้อำเภอแม่แจ่ม  รวมทั้งยื่นหนังสือถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ  และอธิบดีกรมป่าไม้  เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดินอำเภอแม่แจ่ม  (โครงการดังกล่าวนี้  ต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘โครงการแม่แจ่มโมเดล’  และ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’)

สมเกียรติ  มีธรรม  ในฐานะภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ในอำเภอแม่แจ่มมาตลอดกล่าวว่า  หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาก็คือ  จะใช้ฐานข้อมูลที่มีการสำรวจอย่างต่อเนื่องมาจัดทำเป็นข้อเสนอในการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชน  เช่น  1.พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ภายในปี 2545  จำนวน 213,462  ไร่  (12.5 % ของพื้นที่ทั้งอำเภอ 1,692,698 ไร่)  ให้รัฐจัดที่ทำกินในรูปแบบแปลงรวมตามนโยบายของรัฐบาลให้แก่ชุมชน  พร้อมทั้งจัดหาแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์

2.พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ในช่วงปี 2546-2554   จำนวน 161,706  ไร่  (9.5 %  ของพื้นที่ทั้งอำเภอ) ให้รัฐอนุญาตให้ชาวบ้านทำกินและอยู่อาศัยต่อไปอย่างมีเงื่อนไข  โดยให้ชาวบ้านร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  รัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนกล้าไม้  ปลูกไม้เศรษฐกิจ  ไผ่   กาแฟ  ไม้ผล  ปลูกป่าเอนกประสงค์  ฯลฯ

3.พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์หลังปี พ.ศ.2554  จำนวน 86,359  ไร่  (5 %  ของพื้นที่ทั้งอำเภอ) ให้คืนเป็นป่าถาวร  โดยให้จ้างชาวบ้านปลูกและดูแลอย่างน้อย 3   ปีเพื่อให้มีรายได้  ปลูกไม้เป็นแนวกันชน  สร้างกลไกชุมชนในการดูแลรักษาป่า  ฯลฯ

“ทั้ง 3  แนวทางนี้จะทำให้อำเภอแม่แจ่มมีป่าไม้เพิ่มขึ้น 5 %   มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก  9.5 %  รวมเป็น  14.5   % หรือ 248,065  ไร่  ทำให้อำเภอแม่แจ่มได้ป่าเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่  73 %  เป็น 85.5 %  โดยไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น”  สมเกียรติกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ “คนอยู่ร่วมกับป่าได้”

 

 สำราญ  กุลนันท์  ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะ  ตำบลท่าผา  ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่ปลูกข้าวโพด  ให้ข้อมูลเสริมว่า  การปลูกข้าวโพดในปัจจุบันจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 2 กระสอบต่อไร่  ราคากระสอบละ 900 บาท  รวมเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่  ยาฆ่ายาประมาณ 1,500 บาทต่อไร่  และค่าจ้างรถไถ  ไม่รวมค่าแรงงานในครอบครัว  และค่าจ้างหักข้าวโพด

“ปลูกข้าวโพด 1 ไร่จะได้ผลผลิตประมาณ 1 พันกิโลฯ  ราคารับซื้อประมาณกิโลฯละ 6-8 บาทแล้วแต่ค่าความชื้น  เมื่อขายจะได้เงินพอๆ กับต้นทุนที่ลงไป  แต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก  เพราะข้าวโพดปลูกปีหนึ่งได้ 2 ครั้ง  เมื่อขายก็จะมีเงินหมุนเวียนมาใช้จ่ายและทำไร่ข้าวโพดต่อไปอีก แต่ถ้าปลูกพืชอื่นจะต้องมีพื้นที่เยอะจึงจะคุ้ม  และต้องใช้ระยะเวลาปลูก  เช่น  กาแฟ  ต้องปลูก 5 ปีจึงจะเก็บเกี่ยวได้”  ผู้ใหญ่บ้านม่อนบ่อเฮาะบอก

ชาวแม่แจ่มและผู้แทนหน่วยงานภาคีร่วมกันปลูกไผ่ตามโครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ช่วงกลางปี 2561

กระทรวงทรัพยากรฯ มอบสิทธิที่ดินให้ชาวแม่แจ่ม 4 แสนไร่

ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)       ในคณะรัฐบาล คสช. ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ตามแนวทาง ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ที่อำเภอแม่แจ่ม 

ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาที่อำเภอแม่แจ่ม  เพื่อติดตามการแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืนครบวงจร  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทาง คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  มีนายกฯ เป็นประธาน) การลดการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การป้องกันรักษาป่า ฯลฯ  ชมนิทรรศการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล คสช. มีมติเห็นชอบ (เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561) เรื่อง “พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนทั่วประเทศ  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ของภาคประชาชน 

ขณะที่คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัสได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน และสิทธิทำกินของชุมชน ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ภูมิสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ขึ้นมา  เพื่อจัดทำข้อมูลแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง การออกทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน  โดยระบุชื่อเจ้าของที่ดินทำกิน   มีผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.ลงนาม (คล้ายการออกโฉนด  แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์  และมีข้อตกลงการใช้ที่ดินร่วมกัน  เช่น  จะไม่ขาย ไม่ขยาย ไม่บุกรุกป่า)  เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการที่ดินให้กับชาวบ้านทั้งอำเภอ                  

จากการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัสร่วมกับหน่วยงานราชการ  โดยมีกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมป่าไม้  อำเภอแม่แจ่ม  อบต. เทศบาล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำชุมชน  และชาวบ้านร่วมกันทำงาน  ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในอำเภอแม่แจ่มมีความคืบหน้ามาเป็นระยะ

ในวันที่ 24 เมษายน 2566  นายจตุพร  บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เดินทางมาเป็นประธานพิธี “มอบสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช. ‘กระดุมเม็ดแรก เส้นทางสู่แม่แจ่มยั่งยืนโมเดล’ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ให้แก่ประชาชนแม่แจ่มทั้งอำเภอ  เนื้อที่ประมาณ 400,000 ไร่...!!

โดยกรมป่าไม้ได้มอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการอนุมัติโครงการตามมาตรา 19  พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้ชาวแม่แจ่มอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“การมอบหนังสืออนุญาตในครั้งนี้  จะทำให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องเหมาะสม  มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน  ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน เกิดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว บำรุงรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของประเทศ ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าให้คงอยู่ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป”  นายจตุพร  ปลัดกระทรวง ทส.กล่าว

นายจตุพร  ปลัดกระทรวง ทส. มอบสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.ให้ตัวแทนชาวแม่แจ่ม  เมื่อ 24 เม.ย.2566

‘ตำบลท่าผา’  ต้นแบบการแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-ฝุ่นควัน-พัฒนาอาชีพ

นอกจากการมอบสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.  โดยกระทรวงทส. ดังกล่าวแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอแม่แจ่ม  เช่น  เทศบาลตำบลท่าผา  ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย  ปัญหาฝุ่นควัน  การพัฒนาอาชีพ  ฯลฯ ตามแนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัสเช่นกัน

อุทัย  บุญเทียม  นายกเทศมนตรีตำบลท่าผา  บอกว่า  ตำบลท่าผามีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน  รวม 1,800 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 5,000 คน  ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง (80 %) และปกาเกอะญอ  มีอาชีพปลูกข้าวโพด  ข้าว  หอมแดง  ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี  เลี้ยงวัว ฯลฯ เนื้อที่ทั้งตำบลประมาณ 115 ตารางกิโลเมตร  ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  และเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ  ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน  นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นควัน  ปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตร  น้ำท่วม  น้ำแล้ง  ฯลฯ

“การแก้ไขปัญหาที่ดินนั้น  เราเริ่มตั้งแต่ปี 2562  โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 5 คน  รวม 10 หมู่บ้าน  ทำงานร่วมกับป่าไม้  อำเภอ  และเทศบาลท่าผา  มีการจัดประชาคมหมู่บ้าน  เพื่อชี้แจง  สร้างความเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เช่น  ถ้าใครทำกินหรือขยายพื้นที่ทำกินหลังปี 2557 จะไม่ได้รับสิทธิ์  เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า  มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดินทำกิน  ใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัดที่ดินทำกินรายแปลง  แนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน  จนได้ข้อมูลที่ดินทั้งตำบลในปี 2563  จากนั้นจึงเอาข้อมูลมาทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองข้อมูล  รับรองสิทธิ์ให้ถูกต้องอีกครั้ง”  นายกเทศมนตรีตำบลท่าผาบอกถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา

การสำรวจที่ดินรายแปลงในตำบลท่าผาตั้งแต่ปี 2562-2563

เขาบอกด้วยว่า  การจัดทำข้อมูลการครอบครองที่ดินทำกินรายแปลงในตำบลท่าผา  เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 และนำไปสู่การมอบ ‘เอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน’ ให้แก่ชาวบ้านประมาณ 1,300 ครอบครัว  ประมาณ 2,000 แปลง  เนื้อที่ประมาณ  16,000 ไร่  (เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งประมาณ 15 ไร่) โดยเทศบาลตำบลท่าผาเป็นผู้มอบ  เนื่องในโอกาสการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ  2566’ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา  ที่เทศบาลตำบลท่าผา  เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการใช้ประโยชน์และครอบครองที่ดินที่เทศบาลรับรอง 

ทั้งนี้หลังจากการมอบเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชาวตำบลท่าผาแล้ว  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะจัดทำหนังสือรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.(คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ : คทช.)ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ให้แก่ประชาชนแม่แจ่มทั้งอำเภอ ประมาณ 38,000 ราย  เนื้อที่ประมาณ 420,000 ไร่  เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนหนึ่งของชาวท่าผาที่มารับเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น  นายกเทศมนตรีตำบลท่าผา  บอกว่า  เทศบาลร่วมกับชาวบ้านและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลท่าผา’ ในปี 2563  เพื่อสนับสนุนการซ่อมสร้าง  ปรับปรุงบ้านเรือนประชาชนที่มีฐานะยากจนในตำบล  โดยให้คณะกรรมการในแต่ละหมู่บ้านร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  และนำข้อมูลมาทำประชาคมรับรองสิทธิ์  พบผู้เดือดร้อนทั้งตำบล 205 ครัวเรือน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท (รวมงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ 11 ล้านบาทเศษ) เพื่อนำมาปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือน  ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 205 ครัวเรือน

นอกจากนี้เทศบาลยังร่วมกับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน  ร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตั้งแต่ปี 2561 เช่น  ลดการปลูกข้าวโพด  ส่งเสริมการปลูกไผ่  กาแฟ  ผักสลัด ผักอินทรีย์ต่างๆ  ไม้ผล  อะโวคาโด้ เงาะ  และไม้ยืนต้น  โดยนำไม้ไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์  โต๊ะ  เก้าอี้  แคร่  ถ้วย  ฯลฯ มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในตำบลรองรับ  ส่วนกาแฟมีบริษัทอเมซอน  มาช่วยส่งเสริมการปลูกและจะรับซื้อผลผลิต  มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 40 ราย

“เมื่อก่อนชาวบ้านท่าผาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์   ตอนนี้เหลือพื้นที่ปลูกประมาณ  60 เปอร์เซ็นต์  ส่วนคนที่ยังปลูก  เราส่งเสริมให้นำซังข้าวโพด  ต้นข้าวโพดที่เก็บฝักแล้วมาใช้ประโยชน์  นำมาเป็นอาหารสัตว์  ทั้งอาหารสดและเป็นอาหารหมักให้แก่วัว  ทำให้ไม่ต้องเผา  และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ด้วย”  นายกเทศมนตรีบอกถึงการลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่

รวมทั้งยังมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ 7-10 คน  ช่วยกันเฝ้าระวัง ทำแนวกันไฟ  ลาดตระเวน  ดับไฟป่า  ไฟจากไร่นา  ฯลฯ  ทำให้เทศบาลท่าผาได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา  ในฐานะหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกัน  แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันดีเด่น  ประจำปี 2566

นำต้นข้าวโพดที่เก็บฝักแล้วมาทำอาหารให้วัวควาย  ลดการเผา

ขยายผลสร้างแม่แจ่มเป็น ‘เมืองสีเขียว’

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เทศบาลตำบลท่าผาดังกล่าวแล้ว  ขณะนี้ตำบลบ้านทับ  อ.แม่แจ่ม  กำลังดำเนินโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’  เช่นเดียวกับเทศบาลตำบลท่าผา  โดยจะมีการซ่อมแซมบ้านเรือนชาวบ้านที่มีสภาพทรุดโทรม  มีฐานะยากจน จำนวน 215 ครัวเรือน  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  เศรษฐกิจชุมชน  ลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ส่งเสริมการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เช่น  ไผ่  กาแฟ  ผักอินทรีย์  ผลไม้  และไม้ยืนต้นต่างๆ   โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.สนับสนุนงบประมาณ รวม 12.9 ล้านบาท

สยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. บอกว่า  นอกจากโครงการบ้านมั่นคงที่เทศบาลตำบลท่าผาและตำบลบ้านทับแล้ว  ขณะนี้ตำบลแม่นาจรก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงและการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจ  สร้างพื้นที่สีเขียว      มีเป้า           หมายเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น  ปลูกผลไม้  ไม้ยืนต้น  ฯลฯ  โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  ตนได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร อบต.แม่นาจร ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน  ผู้แทนกรมป่าไม้  มหาวิทยาลัยแม่โจ้   ฝ่ายทหาร  และนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะประธานมูลนิธิสร้างสรรค์ 

“พอช.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ สนับสนุนชาวบ้านตำบลแม่นาจรเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว  สร้างเศรษฐกิจชุมชน รวมพื้นที่ประมาณ 3 พันไร่  เช่น 1.ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนข้าวโพด  เช่น ไผ่  กาแฟ  ผลไม้  ผักอินทรีย์  พืชระยะสั้น  สร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้  2.ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในป่าอนุรักษ์  เพื่อนำมาจัดทำโครงการเครดิตคาร์บอน  โดยโครงการนี้จะมีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนเพื่อลดภาวะโลกร้อน  ขณะที่ชุมชนก็จะมีรายได้จากการดูแลรักษาป่า  หรือขายเครดิตคาร์บอน  และ 3.สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน โดยภายในเดือนมกราคมนี้ผมจะลงไปดูพื้นที่ร่วมกับ อบต.แม่นาจร และหน่วยงานภาคี  หลังจากนั้นจะเริ่มโครงการได้”

ผู้ช่วย ผอ.พอช. บอกถึงแผนงาน  และว่า  โครงการสนับสนุนชุมชนสร้างพื้นที่สีเขียว  สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ตำบลแม่นาจร  และตำบลต่างๆ ในอำเภอแม่แจ่มของ พอช. ดังกล่าวนี้  เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. สนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน  ส่งเสริมอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทั่วประเทศ

แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรบนดอยที่บ้านแม่วาก  ต.แม่นาจร  สนับสนุนการสร้างโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) /ภาพจาก สวพส.

สมบุญ   พะเยาว์  นายก อบต.แม่นาจร  บอกว่า  พื้นที่ตำบลแม่นาจรส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าเขาและภูเขาสูง  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  384,000 ไร่  พื้นที่ประมาณ 90 % อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)  ปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก (ประมาณ 80 %)  เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง  ขาดแคลนแหล่งน้ำ  จึงต้องปลูกข้าวโพด  เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย อาศัยเพียงน้ำฝน  แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ  เช่น  การเผาซากไร่ก่อนการปลูกข้าวโพดรอบใหม่  ทำให้เกิดฝุ่นควัน  บางทีไฟลามไหม้ป่า  ต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าจะดับไฟได้

“ที่ผ่านมา  มีหน่วยงาน  เช่น  สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง  เข้ามาสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำบนดอย  โดยขุดสระและสูบน้ำขึ้นไปเก็บ  เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้  จะได้ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  แล้วเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่น  แต่แหล่งน้ำยังมีไม่พอ เราจึงมีแผนงานร่วมกับ พอช. เพื่อจะสร้างแหล่งน้ำเพิ่ม  และส่งเสริมพืชเศรษฐกิจอื่น  เช่น  กาแฟ  อโวคาโด้  มะม่วง  เสาวรส  ไม้ยืนต้น  และเอาซังข้าวโพด  ต้นข้าวโพดมาอัดเป็นก้อน  เป็นอาหารสัตว์  เพื่อลดการเผา  จะทำให้ตำบลแม่นาจรเป็นพื้นที่สีเขียว”  นายก อบต.แม่นาจรบอกถึงเป้าหมาย

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของคนแม่แจ่มที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างแหล่งน้ำ  ลดปัญหาฝุ่นควัน  การเผาป่า  ช่วยกันดูแลป่าไม้  ช่วยกันพลิกฟื้นดอยหัวโล้น...โดยมีเป้าหมาย...สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็นเมืองป่าไม้..เป็นเมืองสีเขียวที่ยั่งยืนต่อไป”

บ่อน้ำบนดอยที่บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร  ช่วยให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด  ทดแทนข้าวโพด  เส้นทางสู่เมืองสีเขียว

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่