คนดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ‘ฮอมแฮง’ สร้างบ้าน-สร้างเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาที่ดินส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหมูดำ-วัวเนื้อ สร้างชีวิตที่มั่นคง

ทะเลสาบดอยเต่าในช่วงน้ำขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  ตัวเขื่อนตั้งอยู่ที่      จ.ตาก  มีพื้นที่เก็บน้ำยาวมาถึงดอยเต่า จ.เชียงใหม่  ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร  (ภาพจาก Photoontour.com)

อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่  ในอดีตเป็นพื้นที่ทุรกันดารอดอยาก   เพราะบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาถูกน้ำท่วมตั้งแต่ยุคสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2507  ชาวบ้านต้องหอบลูกจูงหลานขนย้ายข้าวของหนีน้ำ เมื่อสร้างบ้านแปงเมืองตั้งหลักปักฐานได้  ก็ต้องเจอกับปัญหาสารพัด  เช่น  ขาดแคลนที่ดินทำกิน  ที่ดินทับซ้อนกับป่าสงวนฯ ผืนดินไม่อุดมสมบูรณ์   ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในการเกษตร ฯลฯ จนคนดอยเต่าจำนวนไม่น้อยต้องละทิ้งบ้านเรือนออกไปขายแรงงานต่างถิ่น

แต่คนดอยเต่าที่ยังอยู่  ไม่ยอมแพ้ต่อความลำบากยากจน  พวกเขาพลิกฟื้นผืนดินทุรกันดารให้เป็นไร่สวน  ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้สวยงามร่มเย็น  มีวัดวาอาราม  มีทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอาหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเชียงใหม่  ดังคำขวัญของอำเภอดอยเต่าในปัจจุบันว่า...“มะนาวลูกใหญ่  ลำไยเนื้อหนา  ดอยเกิ้งสูงสง่า  ชิมรสปลาดอยเต่า” 

นอกจากนี้ชาวดอยเต่ายัง ‘ฮอมแฮง’ (ร่วมแรง) พัฒนาที่อยู่อาศัย  สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แหล่งน้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างชีวิตที่มั่นคง ตาม ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’ ที่พัฒนาและมุ่งแก้ไขปัญหาทุกมิติ...มิใช่เฉพาะเรื่องบ้าน...!!

ดอยเต่า ‘ยุคบ้านแตกสาแหรกขาด” หาบคอนตะกร้า  กระบุง ย้ายข้าวของออกจากพื้นที่น้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนในปี 2507 (ภาพจากกรมประชาสงเคราะห์)

ดอยเต่าเมื่อวันวาน...

อำเภอดอยเต่า  อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 125 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ  803 ตารางกิโลเมตร  พื้นที่อำเภอดอยเต่าเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์  ผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทาน  ตัวเขื่อนตั้งอยู่ที่อำเภอสามเงา  จ.ตาก  มีพื้นที่กักเก็บน้ำยาวไปถึงอำเภอฮอด  จ.เชียงใหม่ (เดิมดอยเต่าขึ้นอยู่กับอำเภอฮอด) ยาวประมาณ  207 กิโลเมตร  เริ่มก่อสร้างเขื่อนเมื่อปี 2504 แล้วเสร็จในปี 2506  เริ่มกักเก็บน้ำในปี 2507  ทำให้ชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัย  ปลูกบ้าน  ทำเรือกสวนไร่นา  ถูกน้ำท่วม...!! 

ขณะเดียวกันทางราชการ  โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้ง ‘นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล’  ขึ้นมา  เพื่อจัดสรรพื้นที่รองรับที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวดอยเต่าเอาไว้  ประมาณ  2,400  ครอบครัว ๆ  ละ  5  ไร่  รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยที่ดินเดิมไร่ละ 400 บาท  แต่ผืนดินใหม่ที่รองรับขาดความอุดมสมบูรณ์   ขาดแคลนน้ำใช้  ปลูกพืชไม่เห็นผล  ชาวบ้านจึงทุกข์ยากกันถ้วนหน้า…

นอกจากนี้ผลพวงที่ตามมาก็คือ  เมื่อชาวบ้านไม่มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงต้องลักโค่นต้นสักที่เคยมีอุดมสมบูรณ์แปรรูปขายให้แก่นายทุน  จนดอยเต่าที่เคยมีป่าสักหนาแน่นกลายเป็นป่าราบ...เมื่อป่าหมดชาวบ้านก็หันไปทำงานรับจ้างสารพัด  จนได้ชื่อว่าดอยเต่ามีแรงงานอพยพมากที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่  บ้างก็ต้องขายที่ดินให้กับนายทุนและคนต่างถิ่น  ไปหากินยังถิ่นใหม่  เพราะที่ดินทำกินไม่เห็นผล

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ   ‘ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย’  เนื่องจากที่ดินนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล (นค.) นับหมื่นไร่ที่จัดสรรให้ชาวบ้านอยู่อาศัยก็มีปัญหาทับซ้อนกับป่าสงวนฯ  นอกจากนี้คนดอยเต่าส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง  ต้องอยู่อาศัยในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด  ป่าสงวนฯ แม่ตูบ  อุทยานแห่งชาติแม่ปิง  ที่ดินกรมธนารักษ์  ที่ดินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ที่ดิน ส.ป.ก.  ทำให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิต  ปัญหาต่างๆ จึงเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอุตลุด

ดังที่บทเพลง “หนุ่มดอยเต่า” ที่โด่งดังในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา (แต่งโดย ‘เทพธารา  ปัญญามานะ ในปี 2528)  สะท้อนปัญหาต่างๆ ในอดีตของชาวดอยเต่าออกมาได้อย่างแจ่มชัด  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า...

“ดอยเต่าบ้านเฮากันดาร  หมู่เฮาจากบ้านไปหางานทำ   ทำงานเซาะเบี้ยหาเงิน   ลำบากเหลือเกิน   ตากแดดหน้าดำ  ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ  ทนเอาหนักเบาเช้าค่ำ  มันแสนชอกช้ำ  ทำงานหาเงิน

ไอ้หนุ่มดอยเต่า  มันเศร้าหัวใจ๋  กิ๊ดมากิ๊ดไป  มันน้อยใจ๋แต๊เล่า  แต่ก่อนบ้านเฮา   ดอยเต่าเมินมา  ลำบากหนักหนา   น้ำตาเฮาไหล   พอถึงหน้าฝน  เหมือนคนมีกรรม  ไฮ่นาที่ทำน้ำท่วมทั่วไป

อดอยากแต๊เล่า  ดอยเต่าเฮานี้  เอ็นดูน้องปี้จะไปพึ่งไผ  พอถึงหน้าหนาว  ก็หนาวก็เหน็ด  เดือนหกเดือนเจ็ด   ก็ฮ้อนเหลือใจ๋   หน้าแล้งแห้งน้ำ  จะทำจะใด จะไปตี้ไหน  น้ำกินบ่มี...”

ลำไย...พืชเศรษฐกิจหลักของคนดอยเต่าในปัจจุบัน  มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดประมาณ 49,066 ไร่ เป็นอำเภอหนึ่งในเชียงใหม่ที่ปลูกลำไยมาก (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอดอยเต่า ปี 2566)

60 ปี...ก้าวย่างสู่การพัฒนา

เสียงสะท้อนจากบทเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ ฉายภาพความทุกข์ยากของคนดอยเต่าเมื่อ 40-60 ปีที่แล้ว  แต่ทุกวันนี้ดอยเต่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น  เพราะหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่างๆ  สร้างความเจริญให้อำเภอดอยเต่า  ทำให้คนดอยเต่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าในอดีต 

ปัจจุบันอำเภอดอยเต่าแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 6 ตำบล  มี 43 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  27,400 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร  ทำสวนลำไย (ประมาณ 80 %)  ปลูกมะนาว  มะม่วง  ข้าวโพด  ข้าว  เลี้ยงสัตว์   ประมงพื้นบ้าน   รับจ้างทั่วไป  ค้าขายเล็กๆ  น้อยๆ

อนุรักษ์  ก๋องโน  นายก อบต.ดอยเต่า  บอกว่า  จากปัญหาที่คนดอยเต่าต้องเผชิญนับแต่น้ำจากเขื่อนภูมิพลเอ่อท่วมพื้นที่ตั้งแต่ปี 2507  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 60 ปีเต็ม  แม้ว่าปัญหาหลายอย่างจะคลี่คลาย  แต่ปัญหาโครงสร้าง  เช่น  ปัญหาเรื่องปากท้อง  เรื่องเศรษฐกิจ  ความยากจน  ปัญหาที่ดินทำกินขาดแคลน  ที่ดินทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ  ยังคงอยู่  ดังนั้นคนดอยเต่าจึงพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด

เช่น  ในปี 2561   แกนนำการพัฒนาในอำเภอดอยเต่า กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  อบต. สภาองค์กรชุมชนตำบล  ร่วมกับสำนักงานภาคเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)   สำรวจข้อมูลปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนดอยเต่าเพื่อจะนำมาสู่การแก้ไข  พบว่า  อำเภอดอยเต่าทั้งหมด 6  ตำบล  รวม 43  หมู่บ้าน  มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดกว่า 8,000 ครัวเรือน  แต่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจำนวน  4,460 ครัวเรือน  หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งอำเภอ 

อนุรักษ์อธิบายความซับซ้อนของปัญหาที่ดินว่า  เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอดอยเต่าเป็นเทือกเขา  และเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2507   บางส่วนได้รับการจัดสรรที่ดินจากนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล  ครอบครัวละ 5 ไร่  แต่ส่วนมากถอยร่นขึ้นมาจากพื้นที่ที่น้ำในอ่างท่วมถึงและไม่มีที่ดินทำกิน  จึงต้องอยู่รวมกับชุมชนอื่นๆ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  นอกจากนี้พื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ   และยังทับซ้อนกับที่ดินของนิคมฯ  ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

นายก อบต.ดอยเต่า  บอกต่อไปว่า  ข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว  นำมาสู่การวางแผนพัฒนา ‘นครดอยเต่าโมเดล’  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับชาวดอยเต่า  มีแผนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาครบทุกมิติทั้งอำเภอ  นับตั้งแต่เรื่องที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  การพัฒนาสาธารณูปโภค  แหล่งน้ำ  ไฟฟ้า  ส่งเสริมอาชีพ   เศรษฐกิจ  และคุณภาพชีวิต   รวม  6 ตำบล  43 หมู่บ้าน  กลุ่มเป้าหมายรวม  4,460  ครัวเรือน  ตามแผนงานจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท  แต่ต่อมาได้มีการปรับขนาดของโครงการ  ประกอบกับเกิดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2565  โครงการจึงชะงักไป  และเริ่มต้นใหม่ในช่วงปี 2565-2566

“จากเดิมที่จะทำทั้งอำเภอดอยเต่า  6 ตำบล  กว่า 4 พันครอบครัว    จึงปรับมาทำตำบลเดียว  คือที่ตำบลดอยเต่าก่อน   ทำเป็นตำบลนำร่อง  หรือเป็นตำบลแม่  เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ  ตั้งแต่เรื่องที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  เรื่องสาธารณูปโภค  แหล่งน้ำ  เรื่องเศรษฐกิจ  อาชีพ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน  เมื่อสำเร็จเห็นผลแล้วจะขยายไปยังตำบลอื่นๆ ต่อไป”  นายก อบต.ดอยเต่าบอก

ทั้งนี้ตำบลดอยเต่า มี 10 หมู่บ้าน  จำนวน 2,432  ครัวเรือน  ประชากรรวม 6,468 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนลำไย  พื้นที่ปลูกลำไยประมาณ 12,000 ไร่  (ประมาณ 86 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด) 

ชาวดอยเต่าเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2561 มีการจัดเวทีระดมความเห็นจัดทำแผนพัฒนาทั้งอำเภอ  โดยมีสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.ในขณะนั้นเข้าร่วม (แถวยืนที่สอง  คนที่ 6 จากซ้าย/เสื้อคลุมสีดำ)

‘บ้านมั่นคงชนบทดอยเต่า’ แก้ปัญหา-พัฒนาทุกมิติ

แผนงานพัฒนาตำบลดอยเต่า  ใช้ชื่อว่า ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’  มีการสำรวจข้อมูลปัญหาต่างๆ และต้นทุนที่ตำบลมีอยู่  นำมาสู่การวิเคราะห์  และจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งตำบล  ทุกมิติ  เสนอโครงการโดย  ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลดอยเต่า’   เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช.ในปี 2565  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ รวม 42 คน  โดยมีกิตติภณ  ปินตา จากสภาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธานโครงการ  อนุรักษ์   ก็องโน  นายก อบต.ดอยเต่าเป็นที่ปรึกษาโครงการ  และคณะกรรมการจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และผู้แทนชาวบ้าน 

กิตติภณ  ปินตา ประธานโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า  บอกว่า  โครงการบ้านมั่นคงฯ ได้รับการอนุมัติโครงการจาก พอช.ในเดือนเมษายน 2566  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณรวม 12,900,000  บาท  และได้เริ่มเดินหน้าโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

มีแผนงานหลัก  คือ  1.การสร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยในที่ดินทุกประเภท เช่น การขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินจาก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/ระดับจังหวัดมี ผวจ.เป็นประธาน)  การซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน  จำนวน 311 ครอบครัว   งบประมาณ รวม 8 ล้านบาท 

2.การพัฒนาสาธารณูปโภค  แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ  เช่น  สร้างถังเก็บน้ำ  วางท่อส่งน้ำ  ขุดลอกแหล่งน้ำ  สร้างฝายชะลอน้ำ  ปรับปรุงตลาดนัดชุมชนเพื่อเป็นแหล่งรวมสินค้า  จำหน่ายสินค้าชุมชน   ฯลฯ  งบประมาณ 2,400,000 บาท 

3.การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ   เช่น  ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัวขุน  เลี้ยงหมูดำ  หมูขุน  แปรรูปลำไย  ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร  เกษตรอินทรีย์  เพื่อลดต้นทุนการผลิต  การทอผ้าพื้นเมือง  ฯลฯ  งบประมาณรวม 1 ล้านบาท 

4.การพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  เช่น  ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  การจัดการขยะ   ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน  ประเพณี  วัฒนธรรม  ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง  ฯลฯ  งบประมาณรวม 1 ล้านบาท

5.การพัฒนากระบวนการ  เช่น  จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา  การพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ  คณะทำงาน  กลุ่มต่างๆ ในตำบลเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง  การผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน  เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาต่างๆ  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกับตำบลอื่นๆ ทั้งอำเภอ  งบประมาณรวม  500,000 บาท 

บ้านผู้ด้อยโอกาสก่อนและหลังการสร้างใหม่  ใช้งบ 50,000 บาท

‘ฮอมแฮงคนดอยเต่า’ สร้างบ้านสร้างกองทุนที่อยู่อาศัย

อนุรักษ์  ก๋องโน  นายก อบต.ดอยเต่า  ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ  บอกว่า  สภาพบ้านเรือนของชาวตำบลดอยเต่าที่ปลูกสร้างมานานหลายสิบปี  ตั้งแต่สมัยอพยพหนีน้ำจากการสร้างเขื่อน  บ้านเรือนหลายหลังมีอายุเกือบ 60 ปี  จึงชำรุดทรุดโทรม แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ซ่อมแซมเพราะชาวบ้านมีรายได้น้อย  ต้องนำเงินไปใช้จ่ายเรื่องปากท้องก่อน  บางหลังเสาเรือนโย้เย้จวนหัก  บันไดบ้านผุพัง  จนอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย  โดยเฉพาะเด็ก  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ฯลฯ 

 ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’ จึงได้สำรวจและจัดทำข้อมูลเพื่อจะซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  มีสภาพทรุดโทรมก่อน  เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัย  พบว่า  ทั้งตำบล 10 หมู่บ้าน  มีครอบครัวที่เดือดร้อนทั้งหมด 311 ครัวเรือน  โดยเริ่มซ่อมแซมบ้านเรือนตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เฟสแรกจำนวน 174 หลัง  ชณะนี้ (มกราคม 2567)            ซ่อมแล้วเสร็จทั้งหมด  และอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมเฟสที่ 2  อีก 137 หลัง  คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้

“การซ่อมแซมบ้านจะมีช่างชุมชนที่ผ่านการอบรมจากโครงการประมาณ 30 คนมาช่วยกันซ่อม  เป็นการ “ฮอมแฮง”  หรือลงแรงร่วมกับจิตอาสาและเจ้าของบ้าน  เพื่อช่วยให้ซ่อมได้เร็ว  ประหยัดงบประมาณ  ใครมีไม้เก่า  วัสดุเก่าก็เอามาใช้จะช่วยให้ประหยัดงบ  เพราะ พอช.สนับสนุนการซ่อมบ้านไม่เกินหลังละ 40,000 บาท  หากเกินจากนั้นเจ้าของบ้านจะต้องออกเอง”  ที่ปรึกษาโครงการบอก

นอกจากนี้  เพื่อให้คนดอยเต่ามีกองทุนสำหรับใช้พัฒนาที่อยู่อาศัย    โครงการบ้านมั่นคงฯ จึงมีแนวคิดให้ครอบครัวที่ได้รับการซ่อมบ้านออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท  และสมทบเงินเข้ากองทุน 10 % ของวงเงินที่ได้รับการซ่อมบ้าน  เช่นหากได้รับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมบ้านในราคา 30,000 บาท   จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 3,000 บาท   โดยสมทบเป็นรายเดือนๆ ละ 100-200 บาทตามกำลัง  เพื่อเอาเงินกองทุนนี้ไปช่วยคนที่เดือดร้อนรายอื่น  หรือต่อไปใครจะซ่อมบ้าน  สร้างบ้านใหม่ก็ยืมเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ได้  ส่วนครอบครัวที่ไม่มีรายได้  ไม่ต้องสมทบ

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอดอยเต่าเป็นป่าและภูเขา  ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

“ถ้าแก้ปัญหาที่ดินได้...เราจะทำอะไรได้อีกเยอะ”

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินในตำบลดอยเต่า  ที่ปรึกษาโครงการบอกว่า  ขณะนี้มีความคืบหน้าและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น  อบต. และจังหวัดมาตลอด  เช่น  1.ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมานานก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด (ประกาศปี 2509)  โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศเขตป่าทับซ้อนกับที่ดินนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลที่ชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ 10,000 ไร่นั้น 

“ในช่วงที่ผ่านมา  คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้มีการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ ดังกล่าวแล้ว  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขกฎกระทรวงของกรมป่าไม้เพื่อเพิกถอนเขตป่าทับซ้อนดังกล่าว  ซึ่งจะส่งผลทำให้ชาวบ้านได้รับการรับรองสิทธิ์  สามารถจัดทำโครงการต่างๆ ได้  เช่น  การพัฒนาสาธารณูปโภค  สร้างแหล่งน้ำ   ทำการเกษตร  ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกิน”  อนุรักษ์  ที่ปรึกษาโครงการบอก

2.ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าฯ  ชาวบ้านได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.ชาติ  มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน /คทช.จังหวัด มีผวจ.เป็นประธาน)  โดยทาง คทช.จังหวัดได้อนุมัติการใช้ที่ดินให้ชาวบ้านแล้ว  435  ราย  เนื้อที่ประมาณ  1,930 ไร่  ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการมอบหนังสือรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช. จากกรมป่าไม้

3.ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยกให้เป็นที่ดินสาธารณะของตำบลเพื่อทำเกษตรแปลงรวม  บริเวณหมู่ 1 เนื้อที่ 30 ไร่    โดยจะให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ขณะนี้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกไผ่และปลูกผักต่างๆ แล้ว

“ปัญหาที่ดินในอำเภอดอยเต่า  เป็นปัญหาที่สะสมมานานนับตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนเสร็จ  โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างหน่วยงานต่างๆ  ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการพัฒนา และไม่มีสิทธิในที่ดิน  เช่น  จะสร้างแหล่งน้ำเพื่อทำการ เกษตรก็ไม่ได้  เมื่อไม่มีน้ำ  จะเพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้ผล  ทำให้ชาวบ้านเกิดความลำบากยากจน  ถ้าแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้  เราจะทำอะไรได้อีกเยอะ  ชาวบ้านก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”  ที่ปรึกษาโครงการบอก

อนุรักษ์  ก๋องโน  ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า (แถวหลังที่ 5 จากซ้าย)

ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหมูดำ-วัวขุน

นอกจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่าจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยดังกล่าวแล้ว  โครงการยังส่งเสริมเรื่องอาชีพ  รายได้  เช่น  ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหมูดำและการทำอาหารเพื่อลดต้นทุน  เนื่องจากหมูดำเป็นหมูที่ตลาดในท้องถิ่นมีความต้องการ  เนื้อรสชาติดี  เลี้ยงง่าย  ทนทานต่อโรค

ในเดือนสิงหาคม  2566  โครงการบ้านมั่นคงฯ ได้จัดอบรมการเลี้ยงหมูแม่พันธุ์  การทำคลอด การให้วัคซีนลูกหมูและการผสมอาหารใช้เอง  และใช้งบประมาณจำนวน 180,000 บาท  นำไปซื้อหมูดำแม่พันธุ์จำนวน 18 ตัว ตัวละ 10,000 บาท  มอบให้สมาชิกจำนวน 9 กลุ่ม  นำไปเลี้ยงกลุ่มละ 2 ตัว  หมูแม่พันธุ์แต่ละตัวจะออกลูกครั้งละ 8-10 ตัว  ตัวหนึ่งจะออกลูกได้ 3 ครั้ง 

ดังนั้นจากหมูดำแม่พันธุ์ 18 ตัวจะสามารถขยายพันธุ์หมูออกไปได้อีกนับพันตัว  ลูกหมูที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำมาเลี้ยงเป็นแม่พันธุ์  ส่วนลูกหมูตัวอื่นๆ จะเลี้ยงเป็นหมูขุน  และนำลูกหมูแบ่งปันให้สมาชิกคนอื่นที่ต้องการนำไปเลี้ยงต่อไป  ทำให้เพิ่มทั้งคนเลี้ยงและปริมาณหมูที่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นทุกปี  เป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด  เมื่อมีผลกำไรจากการขายหมู  ผู้เลี้ยงจะมีรายได้จากการขายหมูจำนวน 70 %  และแบ่งกำไรเข้ากลุ่ม  30%  เพื่อใช้เป็นกองทุนส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหมูในตำบลต่อไป

ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัวขุน  การผสมเทียม และการทำอาหารเพื่อลดต้นทุน  ในตำบลดอยเต่ามีชาวบ้านเลี้ยงวัวนับร้อยราย  วัวนับพันตัว  แต่ส่วนใหญ่เป็นวัวพันธุ์พื้นเมือง  คุณภาพเนื้อและราคาขายไม่ดี  ในเดือนสิงหาคม 2566 โครงการบ้านมั่นคงฯ จึงจัดสรรงบประมาณ 180,000 บาท  เพื่ออบรมอาสาปศุสัตว์ทุกหมู่บ้าน  ให้ความรู้การพัฒนาสายพันธุ์วัวพื้นเมืองสู่วัวเนื้อคุณภาพ   และซื้อพ่อพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ จำนวน 1 ตัว และสายพันธุ์บราห์มัน  1 ตัว  เพื่อให้สมาชิกนำไปผสมพันธุ์กับวัวพื้นเมือง  หากเป็นสมาชิกคิดราคาครั้งละ 700 บาท  ไม่เป็นสมาชิกคิดราคาครั้งละ 1,000 บาท (ราคาผสมพันธุ์ทั่วไปประมาณครั้งละ 1,200-1,500 บาท) รายได้จากการผสมพันธุ์จะแบ่งให้คนดูแลวัว 70% และแบ่งเข้ากลุ่มเป็นกองทุน 30%

หมูดำและวัวแม่พันธุ์ที่จะสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้าน

สร้างแหล่งน้ำ-สร้างพื้นที่สีเขียว

แผนงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  : จัดทำโรงเพาะชำกลางของตำบล  เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะชำ อนุบาล รวบรวมและแจกจ่ายกล้าไม้ของตำบล สนับสนุนการปลูกป่าและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตำบล  อบรมให้ความรู้การเพาะชำกล้าไม้  ฯลฯ  เริ่มโครงการในเดือนสิงหาคม 2566 ปัจจุบันเพาะกล้าไม้และแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปปลูกแล้วประมาณ 20,000 ต้น  มีทั้งไม้เศรษฐกิจและไม้ดอก  เช่น  กาแฟพันธุ์โรบัสต้า  ไผ่ซางหม่น (โตไวใช้ทำเฟอร์นิเจอร์  หน่อกินได้) หว้า  และไม้ดอก  เช่น  ชมพูพันธุ์ทิพย์  ราชพฤกษ์  เหลืองเชียงราย  ฯลฯ 

ปลูกป่าในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ป่าชุมชน จำนวน 10 หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน  เพิ่มพื้นที่สีเขียวในตำบล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความร่มรื่น ฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติให้กับคนในชุมชน

ทำฝายหินทิ้งบริเวณป่าต้นน้ำ  จำนวน 10 ฝาย  เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น  ช่วยชะลอน้ำให้ไหลช้าลง  และช่วยกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน  เพราะน้ำที่ถูกกักจะซึมลงใต้พื้นดิน  สร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้บริเวณนั้น  ช่วยป้องกันไฟป่า  ทำให้เกิดเห็ดป่า  และพืชอาหารอื่นๆ  เช่น  ผักกูด  ผักหวาน  หน่อไม้ 

ทำฝายหินเทียมชะลอน้ำในเขตป่าชุมชน  ใช้วิธีการเดียวกับฝายหินทิ้ง  แต่เปลี่ยนจากก้อนหินเป็นหินทรายผสมปูนซีเมนต์บรรจุกระสอบ  ทำไปแล้วจำนวน 20 ฝาย ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน  ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย    ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้นและแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้าง

ฮอมแฮงทำฝายชะลอน้ำในป่าต้นน้ำและป่าชุมชน  รวมประมาณ 30 ฝาย

จาก ‘ตำบลแม่’ ขยายสู่ตำบลลูกทั้งอำเภอ

นอจากนี้โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่ายังมีแผนงานในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนลำไยซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนดอยเต่า  เช่น  ลดต้นทุนการผลิต   ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและสารบำรุงพืชจากสารอินทรีย์ชีวภาพที่ผลิตเอง  พัฒนาระบบน้ำ  การปลูกแบบผสมผสาน  ปลูกผักหวาน  เลี้ยงสัตว์  เลี้ยงผึ้งโพรงในสวนลำไย   ส่งเสริมการแปรูปลำไย  พัฒนาผลิตภัณฑ์  บรรจุภัณฑ์  และการตลาด  เพื่อให้ชาวสวนลำไยมีรายได้เพิ่ม  มีความมั่นคงในอาชีพ 

นอกจากลำไยซึ่งเป็นอาชีพหลักแล้ว  การทอผ้าก็ถือเป็นอาชีพเสริมของคนดอยเต่า  ในอดีตเมื่อว่างจากงานบ้านงานเรือนแล้ว  แม่บ้านจะทอผ้าเอาไว้ใช้  ใครมีฝีมือก็จะทอขาย  มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สะท้อนถึงภูมิปัญญา  ประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานานหลายร้อยปี  ปัจจุบันเรียกว่า “ผ้าซิ่นลายน้ำท่วม” เพื่อเป็นการเตือนความจำ  ย้ำรากเหง้า  และเป็นเอกลักษณ์ของคนดอยเต่าที่ผ่านยุคทุกข์เข็ญน้ำท่วมบ้านเรือนจากการสร้างเขื่อน  แต่ก็ยังสร้างสรรค์ผ้าทอออกมาได้ประณีตสวยงาม

อนุรักษ์   ก๋องโน  นายก อบต.ดอยเต่า  ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคงชนบท  บอกว่า  เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา  ตนและผู้นำชุมชน  พร้อมทั้งนายอำเภอดอยเต่า  ได้เข้าพบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่  เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผ้าทอดอยเต่าให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งจะทำให้ผ้าทอลายน้ำท่วมดอยเต่าเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าทอที่มีเอกลักษณ์  มีประวัติศาสตร์แตกต่างจากผ้าทอแหล่งอื่นๆ  ซึ่งจะช่วยทำให้ผ้าทอดอยเต่าเป็นที่ต้องการของนักสะสม  มีมูลค่าสูงขึ้น  จากเดิมผืนละ 5-6 พันบาท  อาจเพิ่มเป็น 7-8 พันบาท  หรือสูงกว่านั้น  เช่น  ผ้าทอที่อำเภอแม่แจ่มได้รับรองว่าเป็นสินค้า GI บางชิ้นมีราคาสูงหลายหมื่นบาท

“โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่าเพิ่งเริ่มต้นได้ประมาณ 5-6 เดือน แต่ก็ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เช่น คนเฒ่า คนแก่ ดีใจที่บ้านเรือนที่ผุพังสร้างมานานได้รับการซ่อมแซม  มีชาวบ้านมาช่วยกันซ่อม ช่วยกันฮอมแฮง ช่วยกันเพาะกล้า  ปลูกป่า สร้างฝาย...เราจะทำโครงการนี้  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบลให้ลุล่วงภายในปี 2568  และจะทำต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน...เป็นต้นแบบ เป็นตำบลแม่ที่จะขยายไปสู่ตำบลลูก ตำบลอื่นๆ รวม 6 ตำบลในอำเภอดอยเต่า  เพื่อให้คนดอยเต่ามีชีวิตที่ดีขึ้น  ไม่ทุกข์ยากเหมือนแต่ก่อน”  ที่ปรึกษาโครงการบอกทิ้งท้าย

สร้างฝายชะลอน้ำ  สร้างพื้นที่สีเขียว

***************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และการสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่