'หมอหนู' คุย 5 ปีไม่สูญเปล่า! ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

'อนุทิน' เผยความสำเร็จคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขดัน Big Rock 5 ด้านคืบหน้า ชี้ 5 ปีไม่สูญเปล่า สธ.นำมาต่อยอดและปฏิบัติ

10 ส.ค.2565 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและผู้บริหาร สธ.ถึงผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และคณะเข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ทรงคุณวุฒิทุกแขนงได้เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในการกำหนดทิศทางให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศและขับเคลื่อนงานต่างๆ ให้เกิดผลชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์โรค ดูแลผู้ป่วย จัดหาวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะหมดวาระตามกฎหมาย 5 ปี คือ วันที่ 14 ส.ค.2565
จึงต้องขอบคุณคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขที่เข้ามาทำงานร่วมกับ สธ.อย่างใกล้ชิด และสร้างโมเดลในการให้บริการสุขภาพ จนเห็นการพัฒนาจำนวนมาก

นายอนุทินกล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขชุดนี้ให้การสนับสนุน สธ.หลายเรื่อง ทั้งนโยบาย 3 หมอ โดยเห็นความสำคัญแก่ อสม. จึงมีการพิจารณาค่าตอบแทนและเปิดโอกาสเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และศักยภาพ เช่น เปิดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี ปีละ 3,000 ตำแหน่ง ให้กับ อสม. ขณะนี้กำลังเปิดรุ่นที่ 2 เพื่อทำให้เป็นหมอคนแรกของประชาชน ส่วนหมอคนที่ 2 และ 3 เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
ที่อยู่ในโรงพยาบาล ใช้ระบบ Telemedicine ซึ่ง กสทช.ยินดีสนับสนุนสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสัญญาณแรง ระบบข้อมูลที่ดี เพื่อให้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องเดินทาง จะเป็นจุดปฐมภูมิที่เข้มแข็งมาก หรือการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ เริ่มปฏิบัติการเชิงรุก ให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลให้มากที่สุด ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไป ขณะนี้ สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงอายุติดเตียงวันละ 3 ผืน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดภาระผู้ดูแล และประเทศไทยได้รับอนุมัติจากประชาคมอาเซียนให้ตั้งศูนย์ผู้สูงอายุแห่งอาเซียน อยู่ในกระบวนการลงนามสนธิสัญญากับประเทศสมาชิก เป็นต้น

สำหรับผลสำเร็จที่เกิดจากแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แบ่งเป็น 5 ด้าน หรือ 5 Big Rock ได้แก่
Big Rock 1 การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ โดยทำให้เกิดการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ กทม. ปฏิรูประบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ และปฏิรูปกลไกการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน โดยสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อคือ ผลักดันให้เกิดรูปแบบการจัดการระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ในพื้นที่ กทม. ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลแห่งชาติบรรจุเป็นแผนระดับ 3 และประกาศใช้ภายใน 1 ปี เป็นต้น Big Rock 2 การปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสร้างเสริมสุขภาพ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อ ทำให้เกิด Healthy Workplace Policy ระดับประเทศ มีหลักสูตรพัฒนาผู้นำสุขภาพองค์กรระดับต่างๆ มีสถานประกอบการทั่วประเทศเข้าร่วม 4.2 หมื่นแห่ง

Big Rock 3 การปฏิรูประบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาล การรักษาพยาบาลที่บ้าน เกิดการปรับหลักสูตรการพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เกิดผู้บริบาลผู้สูงอายุ 46,256 คน ดูแลผู้สูงอายุกว่า 4 แสนคน โดยต่อไปจะผลักดันระบบการคัดกรองผู้สูงอายุและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าสู่ระบบดิจิทัล ต่อยอดขยายผล Telemedicine และ Telehealth เข้าระบบบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ Big Rock 4 การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการปฏิรูปบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น ประชาชนทุกสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคจำนวน 11 รายการ ขยายสิทธิประโยชน์ Long Term Care เป็นประชาชนทุกกลุ่มวัย เกิดการปฏิรูปบริการการแพทย์ฉุกเฉินภาครัฐ และ Big Rock 5 การปฏิรูปการบริหารจัดการเขตสุขภาพ ทำให้เกิด Sandbox เขตสุขภาพนำร่อง 4 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1 4 9 และ 12 เกิดระบบการกระจายอำนาจและลกไกบริหารจัดการเขตสุขภาพ เกิดรูปแบบบริการใหม่หลากหลายเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง คือ เขตสุขภาพที่ 1 เรื่องโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 4 การดูแลหญิงตั้งครรภ์ เขตสุขภาพที่ 9 เรื่องแม่และเด็ก วัยทำงาน และกลุ่ม Pre-Aging และเขตสุขภาพที่ 12 เรื่องโรคหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง และการคัดกรองมะเร็งเต้านม

“สิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขดำเนินการมาตลอด 5 ปี ไม่ได้สูญเปล่า ไม่ได้ถูกละเลย กระทรวงสาธารณสุขนำมาปฏิบัติ และผลักดันทุกอย่างออกไปได้ โดยสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ มีการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และปลายปีมีการประชุม UNAIDS ที่จะต้องทำให้โรคเอดส์เป็นโรคปกติทั่วไปที่สามารถดูแลได้” นายอนุทินกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย