ฉะ! รัฐบาลซื้อไฟเอกชนราคาสูงทั้งที่ไฟฟ้าล้นเกิน ต้นเหตุเก็บค่าไฟแพง ผุดแคมเปญ 'ทะลุแดด' สู้

วงเสวนา ฉะ รัฐบาลซื้อไฟเอกชนราคาสูง ทั้งที่ไฟฟ้าล้นเกินถึง 62 % ต้นเหตุเก็บค่าไฟแพงเพื่อใช้หนี้ เสนอ’ โซลาร์รูฟ’ ให้ประชาชนผลิตและขายไฟให้รัฐแก้ปัญหาค่าไฟราคาแพง ผุดแคมเปญ ‘ทะลุแดด’ ให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ได้

21 เม.ย. 2566 - เมื่อเวลา 11.00-12.30 น. สภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเวที "สภาที่สาม - The Third Council Speaks"วาระประเทศไทย เรื่อง " พลังงาน ค่าไฟฟ้าแพง น้ำมันแพง ประชาชนทุกข์ทรมาน รับกรรมถ้วนหน้า" มีการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live สภาที่ 3 ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 , นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ท(ผศ.) ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ คือ พันโท (พ.ท.)แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี จากเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.), นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน(คปต.)

นางสาวรสนา กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพง เกิดจาก 1. ต้นทุนเชื้อเพลิงคือ ก๊าซ LNG เป็นหลักซึ่งต้องนำเข้า เนื่องจากเเหล่งก๊าซในอ่าวไทยลดลง 2. การซื้อไฟฟ้าของรัฐบาลจากเอกชนระยะยาว 25 ปีและในราคาที่แพงกว่าที่ กฟผ.นำมาขายให้ กฟน.และ กฟภ.ในสัดส่วนถึง 70% ผลิตเองเพียง 30% เท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองหรือไฟฟ้าล้นเกินถึง 62% สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่มีไฟฟ้าล้นเกิน 54% โดยที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคา 3-9 บาทต่อหน่วย แต่กฟผ.นำมาขายส่งให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ที่ 2.75 บาท ต่อหน่วย ทั้งที่หาก กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเองประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกกว่านี้ แต่ปัจจุบัน กฟผ.ผลิตเพียง 30% เท่านั้นและตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ลดกำลังผลิตได้ถึง 25 % ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่รัฐบาลทำสัญญานั้นไม่ว่าจะได้ผลิตหรือไม่ แต่รัฐบาลก็ต้องจ่าย "ค่าความพร้อมจ่าย" จึงเกิดหนี้สินราว 40,000 ล้านบาทและอีก 100,000 ล้านบาทจากการซื้อไฟฟ้ามาในราคาแพงแต่ขายในราคาถูก รวมแล้วกฟผ.มีหนี้ประมาณ 150,000 ล้านบาท และกลายมาเป็นค่า FT ในแต่ละงวด ส่วนการหาเสียงของนักการเมืองที่จะลดค่าไฟฟ้านั้นก็เป็นการยืดเวลาการใช้หนี้ของกฟผ.ออกไปเท่านั้นและยังจะทำให้ค่าไฟขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆอยู่อีก

“เมื่อซื้อแพงแต่ขายถูกจึงเกิดหนี้สะสม ที่สำคัญคือ กฟผ.และประชาชนคือผู้แบบรับต้นทุนราคาแพงดังกล่าว ส่วนเอกชนได้กำไร ซึ่งเกิดจากการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งจะมีโรงไฟฟ้าเอกชนที่เซ็นสัญญาไปแล้วเพิ่มเข้ามาในระบบอีก และตามสัญญารัฐบาลยังต้องจ่าย "ค่าพร้อมจ่าย" ให้กับเอกชนแม้ว่าไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ตาม ส่วนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศจะลดค่าไฟฟ้าลงเป็นระยะเวลา 4 เดือนคือ จากเดือนพฤษภาคมถึงเดินสิงหาคม 2566 แต่จากนั้นก็จะขึ้นค่าไฟฟ้าต่อเนื่องไปอีก ไม่เช่นนั้น กฟผ.ก็จะไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ และนโยบายลักษณะที่ซื้อของแพงแต่ขายถูกไม่มีใครทำกันดังนั้นประเด็นนี้จึงมีข้อกังขาเรื่องการวิ่งเต้นหรือทุจริตด้วย”

นางสาวรสนา เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าเเพงว่า กำลังคิดแคมเปญภายใต้คอนเซ็ป "ทะลุแดด" ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากแสงแดด เพราะภาครัฐอ้างว่าจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน แต่ให้สิทธิ์เอกชนผูกขาด ไม่ยอมให้ประชาชนทำ ดังนั้น ต้องผลักดันการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือการติดตั้งSolar roof ซึ่งตัวเองใช้ที่บ้าน พบว่า ประหยัดค่าไฟได้ถึง 2 ใน 3 หรือราว 65% จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่มีทุนเพียงพอ ส่วนผู้มีรายได้น้อย ต้องกดดันภาครัฐให้ดำเนินการติดตั้งหรือสนับสนุนงบประมาณ โดยแต่ละครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้บ้านและส่วนเกินที่ใช้ก็ขายไฟฟ้าผ่ารระบบเป็นการคืนค่าลงทุนให้ภารรัฐได้

ด้านผศ.ประสาท กล่าวว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานพร้อมนำเสนอรายจ่ายค่าพลังงานตั้งแต่ 2550 ของไทย คือ 15 ปีผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นตลอด ค่าพลังงานโดยรวมอยู่ที่ "2.54 ล้านล้านบาท" ในจำนวนนี้ค่าไฟฟ้าราว 820,000 ล้าน บาท ทั้งที่ไม่ต้องไปพึ่งพาพลังงานหรือซื้อจากต่างประเทศเพราะประเทศไทยมีพลังงานแสงอาทิตย์เหมาะสม นอกจากนี้ปี 2565 ไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรอง 62% และอัตราการใช้ประโยชน์จริงหรือโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามีเพียง 35 - 41% เท่านั้นทั่งที่ตามหลักสากลใน 1 ปีต้องเดินเครื่อง 85-90% หรือใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่ไทยซื้อโรงไฟฟ้ามาไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ เหมือนซื้อ Texi มาจอดไว้เฉยๆ จึงขาดทุนและมีหนี้สินดังกล่าว

ผศ.ประสาท เสนอการให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าเองและยังเหลือขายให้ภาครัฐได้ผ่าน solar roof ซึ่งยืนยันว่ามีความพร้อมและไม่มีปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านเทคโนโลยี ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีต้นทุนหรือราคาถูกที่สุดในโลกแต่รัฐบาลไม่ยอมให้ประชาชนทำเท่านั้นเอง และถ้าภาครัฐลงทุนเพิ่มอีก 20% คือ 1% ของ GDP จะได้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 200%-300% กลายเป็น ซุปเปอร์พาวเวอร์ คือ มีพลังงานเหลือเฟือที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกรวมทั้งสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วย ที่สำคัญจะเป็นพลังงานในอนาคตขณะที่โรงไฟฟ้าที่ลงทุนไว้มหาศาลก็จะกลายเป็นแค่ขยะเพราะจะตกรุ่นหรือถูกดิสรัปชันไป

พ.ท. แพทย์หญิง กมลพรรณ กล่าวว่า ปัญหาไฟฟ้าราคาแพงสืบเนื่องยาวนานตั้งแต่ยุค "รัฐบาลชวน หลีกภัย" ที่มีการแปรรูปโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นความฉ้อฉลและเป็นการฉลาดแกมโกง และมองว่าหลายๆรัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจในการปกครองบ้านเมือง เพราะคิดจะทำอะไรหรือออกกติกาอะไรก็ได้คล้ายกับโจรปกครองบ้านเมือง ซึ่งเป็นมาหลายรัฐบาลแล้ว อีกทั้งบทบาทของคนในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้ทุนไปศึกษาเล่าเรียนแต่ก็กลับมาแอบปล้นทรัพย์สินของประเทศผ่านนโยบายแปรรูปต่างๆ ซึ่งมักจะอ้างเรื่องความคล่องตัวของการบริหารงานและการลดภาระของรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลสนับสนุนการก่อสร้างหรือดำเนินโครงการต่างๆ เมื่อหมดสัญญาทรัพย์สินก็ตกเป็นของเอกชน แล้วต่อสัญญาใหม่ ถือเป็นการ "กินเงียบ" และนำเรื่องฟ้องร้องศาลประชาชนก็ไม่เคยชนะในคดีลักษณะนี้

พ.ท.แพทย์หญิง กมลพรรณ มองว่า ที่เกิดปัญหาค่าไฟแพงขึ้นจากกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆปัญหาเกิดจากประชาชนอ่อนแอ ภาคประชาชนหรือ NGO รวมถึงนักกฎหมายก็อ่อนแอ หรือ กินกล้วย คือรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเมื่อเกิดปัญหาจึงเงียบ ไม่ยอมออกมาเรียกร้อง ส่วนทางออกนั้น ยืนยันว่า มีข้อเสนอที่ก้าวหน้าจำนวนมากทั้งจากตัวเองและภาคประชาชนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนพลังงาน เรื่องพลังงานสะอาด รวมถึงนโยบายไฟฟ้าเสรีที่บางพระการเมืองนำเสนอแม้ยังขาดเรื่องนโยบายกองทุนพลังงานก็ตาม แต่ไม่สามารถผลักดันได้เนื่องจากปัญหาข้างต้นคือภาคประชาชนอ่อนแอและภาคส่วนอื่นๆไม่ได้ออกมาผลักดันการแก้ปัญหาตามที่ควรจะเป็น

นายวีระ ระบุว่า ปัจจุบันข้อมูลสาเหตุที่ไฟฟ้ามีราคาแพงถูกเปิดเผยจนประชาชนเห็นชัดแล้ว หลังจากเริ่มตั้งคำถามจากการเจอปัญหาด้วยตัวเองขณะที่ฝ่ายการเมืองก็เริ่มโหนหรือหาเสียง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่ยังอยู่ในอำนาจรัฐสามารถทำให้ค่าไฟฟ้าถูกได้แต่ไม่ยอมดำเนินการ กลับหาเสียงว่าจะลดค่าไฟฟ้าหากได้เป็นรัฐบาลอีกสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นจึงหวังการแก้ปัญหานี้ในฝ่ายการเมืองได้ยาก

นายวีระ ยังเสนอการจัดการกับนายทุนที่ได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าราคาแพงซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งได้ขอคิดไว้แล้วแต่ยังไม่เปิดเผยในตอนนี้ เพราะเห็นว่าจะปล่อยให้นายทุนลอยนวลไม่ได้เนื่องจากเป็นตัวดีที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนเงินทุนให้แทบทุกภาคการเมือง พร้อมย้ำว่าต้องช่วยกันตีแผ่ปัญหาและเมื่อมีมาตรการหรือความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทุกคนควรร่วมมือกัน

ขณะที่ นายอดุลย์ สนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพงระยะยาวคือการติดโซล่าเซลล์ซึ่งได้ดำเนินการในออฟฟิศที่ทำงานของตนแล้วมากกว่า 4 เดือนโดยลดค่าไฟได้เกินกว่าครึ่ง พร้อมประณามรัฐบาลที่สมรู้ร่วมคิดกับเอกชนซื้อไฟฟ้า แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือขายให้รัฐ โดยเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มีวิสัยทัศน์ เป็นรัฐบาลที่ไม่แบบนี้ แล้วยังประกาศจะทำหน้าที่บริหารประเทศต่อนั้น ถือเป็นความฉิบหายของบ้านเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดุลย์' ร่อนจดหมายเปิดผนึกเฉ่ง 'เพื่อไทย' เตะถ่วงนิรโทษกรรมคดีการเมือง

“อดุลย์”ร่อนจดหมายเปิดผนึกเฉ่ง”พรรคเพื่อไทย”เตะถ่วงนิรโทษกรรมคดีการเมืองเอาประชาชนทุกเสื้อสีเป็นตัวประกันกระตุก”ทักษิณ” ต้องมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณช่วยทำให้บ้านเมืองเกิดสันติสุข อย่าเอาแต่ประโยชน์ของตัวเอง แล้วทิ้งประชาชนที่เคยช่วยเรียกร้องต่อสู้ให้กับตัวเอง จี้นายกฯเร่งออกพรก.นิรโทษกรรม เพื่อให้สังคมเกิดความปรองดองโดยเร็ว

ปธ.ญาติวีรชนฯ ยื่น 'วันนอร์' เร่งดันพรบ.นิรโทษกรรม จี้กมธ.ทำให้เร็วที่สุดอย่ายื้อเวลา

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เดินทางเข้าพบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม

'นักวิชาการ' กังขา 'แลนด์บริดจ์' ลงทุนมากกว่าเขา แต่ให้บริการสินค้าได้น้อยกว่า 3 เท่า

ผศ. ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้

เลขาครป.จี้รัฐแก้ปัญหาโครงสร้างยุติซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม

เลขาครป.จี้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงสร้างยุติการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน แต่ให้กฟผ.กลับมาผลิตเองเหมือนเดิม ด้วยต้นทุนที่ต่ำจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ และขอให้ตรวจสอบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอื้อประโยชน์ให้นายทุนของรัฐบาล