ม็อบเกษตรกรเริ่มลามทั่วยุโรป ขณะที่ฝรั่งเศสยังล้มเหลวในการเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วง

การประท้วงของกลุ่มเกษตรกรได้ลุกลามไปทั่วยุโรปเมื่อวันอังคาร ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามหาทางออกร่วมกับม็อบในประเทศที่ปิดกั้นถนนมอเตอร์เวย์และเคลื่อนขบวนรถแทร็กเตอร์มุ่งหน้าสู่ปารีส

กลุ่มเกษตรกรเคลื่อนขบวนรถแทร็กเตอร์เพื่อปิดกั้นทางหลวงสาย A35 ใกล้เมืองสตราสบูร์ก ทางตะวันออกของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 มกราคม (Photo by Frederick FLORIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 กล่าวว่า จากเหตุประท้วงทั่วประเทศของกลุ่มเกษตรกรฝรั่งเศสที่ไม่พอใจกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ, กฎระเบียบที่เข้มงวด และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่บ่อนทำลายความสามารถในการแข่งขันกับชาติอื่นๆ จนนำไปสู่การเผากองฟาง, ปิดกั้นถนนมอเตอร์เวย์ และเคลื่อนขบวนรถแทร็กเตอร์มุ่งหน้าสู่ปารีส

ล่าสุด เกษตรกรราว 1,000 คนพร้อมยานพาหนะหลายร้อยคันได้ปิดกั้นถนนสายหลักเข้าสู่ปารีสเป็นวันที่สอง โดยบางส่วนนอนหลับในรถแทร็กเตอร์ข้ามวันข้ามคืน

รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามใช้แนวทางที่นุ่มนวลต่อการประท้วง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะปิดกั้นสนามบินปารีสหรือตลาดขายส่งอาหารเริงกีส์ทางตอนใต้ของเมือง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

การกระทำดังกล่าวที่เริ่มต้นจากเขตชนบทและคืบคลานเข้าสู่เมืองหลวง ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรงสำหรับนายกรัฐมนตรีกาเบรียล แอตทาล ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียงสามสัปดาห์ หลังจากที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ในการปราศรัยต่อรัฐสภา แอตทาลกล่าวว่ารัฐบาลของเขาพร้อมที่จะแก้ไขวิกฤต และยกย่องภาคเกษตรกรรมว่าเป็น "พลังและความภาคภูมิใจของประเทศ" เสมอมา พร้อมเสริมว่า "การเกษตรเป็นหนึ่งในรากฐานของอัตลักษณ์และประเพณีของฝรั่งเศส"

แอตทาลยอมรับว่าการเจรจากับกลุ่มเกษตรกรนั้นยังห่างไกลบทสรุป และให้คำมั่นต่อฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะมีการประกาศ "มาตรการสนับสนุนใหม่" ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังการเจรจาอีกครั้งกับสหภาพเกษตรกร 'FNSEA'  ซึ่งเป็นสหภาพเกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ปารีสในเย็นวันอังคาร และสมาพันธ์เกษตรกรในวันพุธ

หลังจากการประท้วงในฝรั่งเศสที่เข้มข้นขึ้นนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ เกษตรกรที่ไม่พอใจในประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังกล่าวเช่นกัน

กลุ่มเกษตรกรชาวอิตาลีหลายสิบคนรวมตัวประท้วงด้วยรถแทร็กเตอร์ใกล้เมืองมิลานเมื่อวันอังคาร นับเป็นการประท้วงเล็กๆ น้อยๆ ทั่วประเทศครั้งล่าสุด

ขณะที่สหภาพเกษตรกรสเปนกล่าวว่า พวกเขาจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวประท้วงในหลายๆจุดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการประท้วงของกลุ่มเกษตรกรในลักษณะเดียวกันที่เริ่มพบเห็นได้มากขึ้นในประเทศอื่นๆด้วยเช่น เบลเยียม, เยอรมนี, โปแลนด์, โรมาเนีย และเนเธอร์แลนด์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยความไม่พอใจของพวกเขาที่มีต่อรัฐบาล ได้แก่ ต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น, การบรรลุเป้าหมายในการลดคาร์บอน, ราคาเชื้อเพลิงผันผวน, อัตราเงินเฟ้อสูง, ระบบราชการที่ล้าหลังและมากขั้นตอน และการนำเข้าธัญพืชจากยูเครน

แต่ทว่าความไม่พอใจอย่างมากต่างมุ่งเป้าไปที่ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมอยู่ในนโยบายการเกษตรร่วม (CAP) ฉบับปรับปรุงของสหภาพยุโรป และ "ข้อตกลงสีเขียว" ของกลุ่มที่กำลังจะกำหนดใช้อีกไม่นาน

ทั่งนี้ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการอุดหนุนการเกษตรของสหภาพยุโรป โดยได้รับเงินมากกว่า 9 พันล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 345,000 ล้านบาท)

ครั้งหนึ่งฝรั่งเศสเคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบันอยู่อันดับ 3 ตามหลังเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบนเอกชนไทย หลังสื่อนอกรายงานทำธุรกิจกับรัสเซีย

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบน เอกชนไทยหลังสื่อต่างประเทศรายงานอ้างทำธุรกิจกับรัสเซีย ชี้ เป็นเรื่องระหว่างเอกชนไม่เกี่ยวรัฐบาล