ประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้งในบาร์เซโลนา

แคว้นกาตาลุญญาทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้งเมื่อวันพฤหัสบดี ในเมืองบาร์เซโลนาและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งขณะนี้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดน้ำที่เข้มงวดมากขึ้นหลังจากไม่มีฝนตกหนักนานสามปี

ผืนดินแห้งผากบริเวณอ่างเก็บน้ำในเมืองคิโรนาของแคว้นกาตาลุญญา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน หลังเผชิญภาวะแล้งและไร้ฝนตกหนักมายาวนานกว่า 3 ปี (Photo by LLUIS GENE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า บาร์เซโลนา เมืองหลักของแคว้นกาตาลุญญาประเทศสเปน ได้รับการประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้ง เช่นเดียวกับพื้นที่โดยรอบ หลังไม่มีฝนตกหนักมานานกว่า 3 ปี

เปเร อาราโกเนส ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาได้ประกาศขั้นตอนดังกล่าว หลังจากที่อ่างเก็บน้ำในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนมีปริมาณลดลงต่ำกว่า 16% ของความจุทั้งหมด

ระดับดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการใช้มาตรการประหยัดน้ำรอบใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 6 ล้านคน

"กาตาลุญญากำลังเผชิญกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษที่ผ่านมา เราไม่เคยเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานเช่นนี้นับตั้งแต่มีการบันทึกปริมาณน้ำฝน" อาราโกเนสกล่าวในการแถลงข่าว

การประกาศภาวะฉุกเฉินนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำรายวันที่อนุญาตสำหรับที่อยู่อาศัยและเทศบาลจาก 210 ลิตร เหลือ 200 ลิตรต่อคน

แต่หากภัยแล้งรุนแรงขึ้น การกำหนดปริมาณการใช้จะลดลงไปอีกที่ 180 ลิตร หรือ 160 ลิตรต่อคน

ข้อจำกัดการใช้น้ำจะมีผลกับบาร์เซโลนาและเทศบาล 201 แห่งโดยรอบตั้งแต่วันศุกร์ รวมถึงการห้ามเติมน้ำในสระว่ายน้ำส่วนตัวและล้างรถ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการใช้น้ำรีไซเคิล

ขณะที่สวนสาธารณะก็ถูกจำกัดให้ใช้ชลประทานน้ำบาดาลเท่านั้น รวมทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับการลดปริมาณน้ำมากขึ้น โดยชลประทานภาคเกษตรจะถูกลดการใช้น้ำลง 80% ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะลดลง 25%

คลื่นความร้อนหลายครั้งที่บันทึกได้ในสเปนและภาคพื้นยุโรปในฤดูร้อนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาวะภัยแล้งเลวร้ายลง เช่นเดียวกับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลงต่อเนื่องจากการระเหยของน้ำและการบริโภคน้ำเพิ่มขึ้น

คาดว่าสภาพอากาศที่อบอุ่นผิดปกติจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ โดยอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้นเกือบ 30 องศาเซลเซียส กำลังเกิดขึ้นในบางภูมิภาคในเดือนมกราคม ทั้งๆที่น่าจะเป็นอุณหภูมิของฤดูกาลปกติในเดือนมิถุนายน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมของมนุษย์กำลังเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน, ความแห้งแล้ง และไฟป่า มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดแล้งหนัก พื้นที่ปลูกทุเรียน-มังคุด อ.เขาสมิง ขาดน้ำช่วงใกล้เก็บผลผลิต

สถานการณ์การขาดแคลนน้ำทั้งในคลองสาธารณะและอ่างน้ำส่วนตัวของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในอำเภอเขาสมิง จ.ตราด กำลังได้รับความเสียหายแล้ว เกษตรกรตื่นตัวหาน้ำสำรอง