รัสเซียประกาศล่าตัวนายกฯ เอสโตเนีย ฐานก่ออาชญากรรมทำลายอนุสรณ์สงคราม

ผู้นำหญิงของเอสโตเนียและเจ้าหน้าที่ยุโรปอีกหลายคนกลายเป็นบุคคลที่รัสเซียประกาศจับกุม ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายอนุสรณ์สถานสงครามสมัยโซเวียต

คายา คัลลาส นายกรัฐมนตรีหญิงของเอสโตเนีย (Photo by John THYS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า รัสเซียประกาศให้นายกรัฐมนตรีคายา คัลลาส ของเอสโตเนียและเจ้าหน้าที่ยุโรปอีกหลายคนเป็น "บุคคลที่ต้องการตัว" ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายอนุสรณ์สถานสงครามสมัยโซเวียต

อนุสาวรีย์ที่อ้างถึงซึ่งบางแห่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงกองทัพแดง เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วในเอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย และหลายคนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต

กลุ่มประเทศบอลติกทั้งสามเริ่มรื้อถอนและทำลายอนุสาวรีย์บางส่วนเพื่อแสดงการตอบสนองต่อการโจมตียูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซียในปี 2565 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากต่อรัฐบาลมอสโก

รัสเซียกล่าวเมื่อวันอังคารว่าได้เพิ่มบุคคลหลายคนเข้าไปในรายชื่อที่รัฐต้องการตัว จากกรณีเกี่ยวพันกับการทำลายอนุสรณ์สถานของทหารโซเวียต

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า "อาชญากรรมต่อความทรงจำของผู้ปลดปล่อยโลกจากลัทธินาซีและลัทธิฟาสซิสต์จะต้องถูกลงโทษ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น"

รัฐบาลมอสโกระบุว่า ผู้ที่ถูกประกาศหมายจับได้กระทำการอันไม่เป็นมิตรต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์และเกียรติยศของสหพันธรัฐรัสเซีย และบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่เป็นการละเมิดความทรงจำดังกล่าว

นอกจากนายกฯเอสโตเนียแล้ว บุคคลที่รัสเซียต้องการตัวยังมี ไทมาร์ เปเตอร์คอป รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย, ซิโมนัส ไครีส รัฐมนตรีวัฒนธรรมลิทัวเนีย และ คารอล นาฟรอสกี ผู้อำนวยการสถาบันรำลึกสงครามโลกครั้งที่สองของโปแลนด์

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศบอลติกแย่ลงไปอีก โดยประเทศในกลุ่มดังกล่าวต่างเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและพันธมิตรทางทหารในกลุ่มนาโต

รัสเซียลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเอสโตเนียในเดือนมกราคม 2566 และขับไล่เอกอัครราชทูตของเอสโตเนียออกจากรัสเซีย ด้วยข้อกล่าวหาว่ากระด้างกระเดื่องและชิงชังรัสเซีย รวมทั้งข้อหาพยายามบ่อนทำลายการเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม

ขณะที่ทั้งสามประเทศบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ได้ขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศของตนเช่นกัน จากความขัดแย้งประเด็นรุกรานยูเครน

แม้ว่าอนุสาวรีย์หลายร้อยแห่งที่สร้างขึ้นในยุคโซเวียตจะเป็นประเด็นอ่อนไหวในทั้งสามประเทศมายาวนาน แต่การโจมตียูเครนของรัสเซียได้นำไปสู่การผลักดันอย่างเต็มที่ในการรื้อถอนสิ่งเหล่านั้นออกหมดสิ้น

ความขัดแย้งนี้ยังทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธกับรัสเซีย โดยกลุ่มประเทศบอลติกได้ทุ่มงบประมาณด้านการทหารและเสริมสร้างการป้องกันชายแดนมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นปฎิปักษ์กับรัฐบาลมอสโกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน