เลือกตั้งกลางเทอมฟิลิปปินส์ร้อนระอุ ความบาดหมางระหว่างมาร์กอสกับดูเตอร์เตเป็นประเด็นหลัก

ประชาชนฟิลิปปินส์ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกลางเทอมทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุทั้งในประเทศและภาคการเมืองระหว่างประธานาธิบดีมาร์กอสกับรองประธานาธิบดีดูเตอร์เต

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์โชว์นิ้วที่เปื้อนหมึก หลังลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมที่หน่วยลงคะแนนในเมืองบาตัก จังหวัดอิโลคอส นอร์เต เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568 กล่าวว่า ชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคนฝ่าแถวยาวและอุณหภูมิอากาศที่ร้อนระอุเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความบาดหมางระหว่างประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และรองประธานาธิบดีซารา ดูเตอร์เตที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

จอร์จ การ์เซีย ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งฟิลิปปินส์กล่าวว่า เครื่องลงคะแนนเสียงบางเครื่องมีความร้อนมากเกินไป เนื่องจากอุณหภูมิอากาศสูงถึง 34 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่

"มันทำให้กระบวนการลงคะแนนเสียงช้าลง" เขากล่าวกับนักข่าวที่เรือนจำแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา ซึ่งนักโทษกำลังลงคะแนนเสียง

"เนื่องจากอากาศร้อนจัด หมึกบนบัตรลงคะแนนเสียงจึงไม่แห้งทันที และบัตรลงคะแนนก็ไปติดอยู่ที่เครื่องสแกน" การ์เซียกล่าว พร้อมเสริมว่าเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่หันไปใช้พัดลมไฟฟ้าเป่าไปที่เครื่องสแกน

การเลือกตั้งครั้งนี้จะตัดสินตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า 18,000 ตำแหน่ง ตั้งแต่ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปจนถึงสภาเทศบาลที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งวุฒิสภาอาจมีผลกระทบสำคัญต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2028

วุฒิสมาชิก 12 คนที่จะได้มาจากการเลือกทั่วประเทศครั้งนี้จะทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนบางส่วนในการพิจารณาคดีถอดถอนดูเตอร์เตในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เธอถูกห้ามดำรงตำแหน่งสาธารณะอย่างถาวร

ความขัดแย้งระหว่างดูเตอร์เตกับมาร์กอส อดีตพันธมิตรที่ดำเนินมายาวนาน ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อรองประธานาธิบดีถูกสภาผู้แทนราษฎรถอดถอนจากตำแหน่งเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า "ก่ออาชญากรรมร้ายแรง" ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการวางแผนลอบสังหารประธานาธิบดีมาร์กอส

ไม่นานหลังจากนั้น อดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้เป็นพ่อ ถูกจับกุมและส่งตัวไปที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก เพื่อเผชิญข้อกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการปราบปรามยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิต

ซารา ดูเตอร์เต ซึ่งเดินทางมาลงคะแนนเสียงที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในดาเวาซึ่งเป็นเขตปกครองทางตอนใต้ของครอบครัวเธอ จะต้องได้คะแนนเสียง 9 เสียงจากวุฒิสภา 24 ที่นั่ง เพื่อรักษาความหวังในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต

ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง มีผู้สมัคร 7 คนจาก 12 อันดับแรกได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีมาร์กอส ขณะที่อีก 4 คนสนับสนุนรองประธานาธิบดีดูเตอร์เต

เมื่อการเลือกตั้งเริ่มต้นขึ้น มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บอีก 7 คนในภาคกลางของฟิลิปปินส์ เมื่อมีคนร้ายสาดกระสุนใส่กลุ่มคนนอกสำนักงานใหญ่ของพรรคท้องถิ่น

ฟิลิปปินส์มีประวัติความรุนแรงในการเลือกตั้งมายาวนาน โดยกลุ่มติดอาวุธของคู่แข่งทางการเมืองต่อสู้กันเป็นประจำเพื่อแย่งตำแหน่งที่ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น

เมื่อวันก่อน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายจากการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนของฝ่ายการเมืองคู่แข่งในเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ ตามรายงานของกองทัพฟิลิปปินส์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เฝ้าระวังมาเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว และได้ส่งเจ้าหน้าที่ราว 163,000 นายไปรักษาความปลอดภัยที่หน่วยเลือกตั้ง เพื่อคุ้มกันเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งและเฝ้าตรวจตราสถานการณ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' รับนี่ไง 'บิ๊ก ภท.' กกต. เรียกแจงคดีฮั้วสว. ชี้การเมืองแน่ ลั่นกับนายกฯรักกันดี

'อนุทิน' บอกผมที่ไง 'บิ๊ก ภท.' ได้รับหมายเรียก กกต. ส่งไปบ้านที่บุรีรัมย์ ยันไปชี้แจงแน่ ชี้ไม่เกี่ยวรอยร้าวรัฐบาล แต่เป็นการเมืองแน่นอน ลั่นยังรักกันดีกับนายกฯ ไม่มีคุยปรับครม.

ถึงคิว '2 บิ๊ก น.' ภูมิใจไทย พ่วง กก.บห. แจง กกต. คดี 'ฮั้ว สว.'

กกต. ร่อนหมายเรียกแกนนำ 'ภท.' แจงคดีฮั้ว สว. 'เนวิน-อนุทิน' โดนด้วย 'ชาดา' รับกรรมการบริหารพรรคหลายคนได้รับแล้ว พร้อมแก้ข้อกล่าวหา

'แรมโบ้' มาแล้ว! ประกาศทวงคืน 'รทสช.' ตะเพิด 'พีระพันธุ์' พ้นหัวหน้า

'แรมโบ้' ไม่ทน! ประกาศทวงคืน 'รวมไทยสร้างชาติ' พร้อมขับไล่ "พีระพันธุ์" พ้นหัวหน้าพรรค ลั่นคิดว่าทำให้เติบโต มีแต่ตกต่ำลงกว่าเดิม

ส่อแท้ง! นันทนารับล่ารายชื่อสภาสูงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แค่ 10 คน

'นันทนา' รับเป็นเรื่องยาก ยังล่ารายชื่อยังไม่ถึง 20 คน ได้แค่ประมาณ 10 คน ข้องใจล้มทั้งกระดานทำไม เหตุยังมีคนที่เข้ามาแบบปกติ ชี้หากถึงจุดนั้นก็ยินดี แต่ต้อง 'แก้ รธน.' เรื่องที่มาก่อน