'น้ำใจในสงคราม' มิตรภาพไร้พรมแดนของชาวแม่สอด

“มีข้าวมาแจก ออกมารับเร็วๆ” เสียงตะโกนโหวกเหวกเป็นภาษาพม่าดังขึ้น เมื่อรถกระบะจอดสนิทในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากแม่น้ำเมย พรมแดนไทย-พม่า ใน อ.แม่สอด จ.ตาก

หลายมือช่วยกันหยิบถุงใหญ่ที่กองพะเนินในกระบะ ออกมาวางที่ท้ายรถ ร้องเรียกกันเพียงไม่ถึงนาที คนหลายคนสวมใส่โสร่ง ผ้าถุง เดินออกมาจากเพิงพักหลายจุด ต่างเข้าแถวรับของที่ชาวบ้านจากตลาดแม่สอด นำมาแจกให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ที่หนีลูกกระสุนและระเบิดจากการรุกรานรัฐกะเหรี่ยงโดยเผด็จการทหารพม่า ข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทย

“มีข้าวกล่อง กลุ่มเราช่วยกันทำตั้งแต่เมื่อเช้า น้ำดื่ม ผลไม้ เอามาแบ่งๆ กัน เห็นใจที่เขาต้องลำบากในเวลานี้” “มะ” หญิงกลางคนชาวไทยมุสลิมจากตลาดแม่สอด หนึ่งในผู้ใจบุญคณะนี้เล่าให้เราฟัง

ในมือของเธอที่ยื่นของไปให้ นอกจากข้าว น้ำ ยังมีหมากพลู “ของสำคัญ” ต่อหลายชีวิตในพื้นที่แถบนี้ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายในภาวะที่ต้องหนีภัยจากสงคราม

“ได้กินหมาก จะได้หายเครียดบ้าง” เธอบอก พลางยื่นสิ่งของต่างๆ ให้ผู้หนีภัยทุกคนอย่างคล่องแคล่ว ตามประสาแม่ค้า ทั้งๆที่หมากพลูเป็นความต้องการของผู้พลัดบ้านพลัดถิ่น แต่มักไม่มีใครนึกถึง

ชาวแม่สอดหลากหลายกลุ่มอาชีพรวมตัวกันทำอาหารและรวบรวมขงจำเป็นต่การยังชีพ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบ เช่นเดียวกับที่มะทำอยู่ แต่พวกเขาเลือกที่จะทำกันแบบเงียบๆ เพราะหากรับรู้ในวงกว้าง ก็ไม่แน่ว่า “ภัย” จะมาถึงตัวหรือไม่ เพราะพื้นที่ตลอดริมน้ำเมยมีความสลับซับซ้อนในเรื่อง “อำนาจ”

ผู้หนีภัยจากความไม่สงบครั้งล่าสุดที่พรมแดนไทย-พม่า หนีภัยความตายทะลักข้ามแม่น้ำเมย มายังเขตประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 จนบัดนี้มีตัวเลขทางการไม่ต่ำกว่า 4-5,000 คน ส่วนใหญ่ในนั้นเป็นผู้หญิง ทารก เด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีทั้งชาวกะเหรี่ยง และชาวพม่า แต่ตัวเลขจริงสูงกว่านี้มาก โดยจำนวนไม่น้อยต้องหลบซ่อนอยู่ริมแม่น้ำเมย รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง ระบุว่ามีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน

ผู้หนีภัยที่หนีข้ามแม่น้ำเมยส่วนใหญ่ขณะนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในการดูแลของทางการไทย โดยกองทัพภาคที่ 3 ณ คอกวัวมหาวันเมยโค้ง อ.แม่สอด

“ผมขอซ่อนอยู่ตรงนี้ ไม่ไปที่ทหารให้ ผมมีบ้าน มีหมู มีไก่ ผมต้องกลับไปดูแลให้อาหาร” ซอกวอ ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า เล่าให้ฟังหลังจากได้รับอาหารจากผู้ใจบุญมาหลายกล่องในบ่ายวันหนึ่ง

เขาบอกว่าเสียงระเบิดที่ปะทุขึ้นกลางดึกในคืนแรก ทำเอาชาวบ้านในหมู่บ้านของเขาแตกกระเจิง หลายคนสูญเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บ คนที่พอจะมีสติก็พากันหนีเอาชีวิตรอด ลุยข้ามแม่น้ำเมย หนีมายังฝั่งไทย จนเป็นภาพข่าวที่ดังไปทั่วโลก

ซอกวอเล่าว่าแทบทุกคนห่วงบ้านเรือนและทรัยพ์สินของตนเองที่ฝั่งพม่า ไม่อยากทิ้งไปนานๆ ต่างอยากกลับไปคืนถิ่นฐานให้เร็วที่สุด

“ดูคลิปมั้ย ผมถ่ายไว้ที่หน้าบ้าน” ชายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงถาม แล้วเปิดคลิปวิดีโอที่เขาถ่ายความเสียหายให้ดู

บ้านไม้สักหลังใหญ่ของเขาเสียหายที่ประตู หลังคา และอีกหลายส่วน ขณะที่ถนนลูกรังหน้าบ้านในคลิปนั้น มีเสื้อผ้ากองอยู่ มีทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง และชุดทหารพม่า วางรวมกันตรงนั้น

เขาบอกว่าเวลานี้ในหมู่บ้านไม่มีใครแล้ว มีเพียงทหารกะเหรี่ยง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ​(KNU) คอยเฝ้าระวังอีกไม่กี่คน เขาบอกว่าหากประชาชนไม่กลับไป ทหารพม่าจะเผาทำลายและยึดหมู่บ้านไปทั้งหมด

ที่ๆ เขาอยู่ในเวลานี้เป็นเพียงเพิงไม้ที่เพิ่งสร้างอยู่ข้างกองฟาง มีผ้าห่มสีสดไม่กี่ผืนมุงเป็นหลังคา

“กลางคืนหนาว หนาวมากๆ แต่โชคดี เรานอนหนาวคืนเดียว คนไทยก็เอาผ้าห่มมาแจก เอาอาหาร เอาน้ำ มาให้ ผมขอบคุณจริงๆ ผมและลูกเมียขออาศัยอยู่ไม่นาน หากกลับได้เราจะกลับทันที บ้านเรา เราห่วงมาก อยากกลับบ้าน อยากลับเดี๋ยวนี้เลย” เขาบอก และว่าไม่เข้าใจที่ทำไมการโจมตีของทหารพม่า ใช้ทั้งเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และปืนค. ถล่มหมู่บ้านของประชาชนมือเปล่า

เมื่อได้คุยกับ “มะ” อีกครั้งช่วงค่ำ เธอบอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นชาวแม่สอด อีกกลุ่ม ที่อาสารับทำอาหารและสิ่งของจำเป็นไปส่งให้แก่ผู้หนีภัยสงคราม “เราช่วยกันหลายกลุ่ม อยากให้พี่น้องมีกิน เราเป็นห่วง จะคนฝั่งไทย ฝั่งพม่า ก็เป็นคนเหมือนกัน เราพี่น้องกัน อยากช่วยกัน” แม่ค้าตลาดแม่สอด บอกมาตามสาย

หลายคืนที่ผ่านมานี้ ที่หมู่บ้านชานเมืองแม่สอด ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงราว 10 คน มารวมตัวกันตั้งแต่ราวเที่ยงคืน เพื่อหุงข้าว และบรรจุลงถุงเพื่อนำไปส่งให้ผู้หนีภัยสงคราม ที่อยู่รวมกันในพื้นที่ชั่วคราว

“ได้ข้าวบริจาคมา มีทีมอาสาสมัครช่วยหุงข้าวในกะทะใบใหญ่ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ มีคนที่หุงเป็น เอาข้าวใส่หม้อบนกะทะเป็นชั้นๆ จะหุงได้มากหน่อย แล้วช่วยกันตักข้าวร้อนๆ เอาใส่ถัง ให้ข้าวอุ่นๆ ไว้ ไม่เสียง่าย หุงหลายรอบ หลายชั่วโมง กว่าจะครบจำนวนที่เรารับมา 1,500 ชุด ตกดึกตีสอง อีกทีมก็มาช่วยกันตักใส่ถุงป็นชุดๆ ไว้ เช้ามืดก่อน 6 โมง เราก็เอาข้าวไปส่ง หากไปส่งช้า สายเกิน ข้าวบูด พี่น้องก็ไม่ได้กิน” ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงบอกว่าทำแบบนี้มาหลายคืนแล้ว นับตั้งแต่ทหารพม่าโจมตีประชาชนจนต้องข้ามพรมแดนมา  เขาบอกว่าคนที่นำข้าวและอาหารไปส่ง ต้องมีสัญชาติไทย “หากไปส่ง ถูกตรวจแล้วไม่มีบัตร ก็อาจถูกจับได้” เขาบอก

ชาวบ้านสองฝั่งลำน้ำเมยเป็นเสมือนเครือญาติกันมายาวนาน เมื่อบริเวณไหนมีภัยก็จะอพยพหนีร้อนไปพึ่งเย็นกันไป-มา ชาวกะเหรี่ยงมีบทบาทสำคัญในการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสยาม ต่อสู้กับกองทัพพม่ามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนในวันนี้ประวัติเก่ากำลังถูกฝังกลบ และประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังถูกบันทึกไว้ว่า “กองทัพไทยมีสัมพันธภาพดีสุดยอดกับกองทัพพม่า”

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมช.' แจงไทยมี 3 จุดยืนในสถานการณ์เมียนมา

'สมช.' เข้าแจง 'กมธ.มั่นคงฯ' เพื่อรายงานการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ย้ำ 3 จุดยืน รักษาอธิปไตยไทย-ไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดน-ดูแลผู้หนีภัยตามหลักมนุษยธรรมสากล

'ปานปรีย์' นำคณะเฉพาะกิจฯมาถึงแม่สอด ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประธานกรรมการเฉพาะกิจเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.)

'หมอมิ้ง' เผยนายกฯ ยกเลิกไปแม่สอด มอบ 'ปานปรีย์' ลงพื้นที่แทน

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา บริเวณชายแดนไทยว่า ในฐานะรัฐบาล เรากำหนดจุดยืนชัดเจนว่า 1.การสู้รบกันระหว่างทหารพม่าและกองกำลังติดอาวุธ จะไม่ให้มีการล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทย

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

‘ปานปรีย์’ ขีดเส้นชัดกองทัพทหารเมียนมาห้ามรุกล้ำอธิปไตยไทย

‘ปานปรีย์’ กำชับกองทัพทหารเมียนมา ห้ามรุกล้ำอธิปไตยและดินแดนไทย รวมทั้งห้ามมีลูกหลงการสู้รบมาฝั่งไทยด้วย เผย เตรียมประชุมวอร์รูมก่อนประชุม ครม. อังคารนี้ ก่อนนายกบินแม่สอด ติดตามสถานการณ์