กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง
29 มี.ค.2567 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นการปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะกรณีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้พิจารณาเเล้วเห็นว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง มีผลกระทบต่อสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้ต้องขัง โดยอาจมีประเด็นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน มิใช่เฉพาะผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ต้องขังอื่นที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องการไว้ทรงผม จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังในประเทศไทยเป็นประเด็นถกเถียงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาแนวความคิดในต่างประเทศ เช่น เรือนจำกลางของสหรัฐอเมริกา เห็นว่ามีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันกับเหตุผลของกรมราชทัณฑ์ของไทยที่การตัดผมยังคงมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามีฝ่ายโต้แย้งนโยบายดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะจำกัดสิทธิของผู้ต้องขังมากเกินไป และไม่อาจทำให้การพัฒนาพฤตินิสัยบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ส่วนในสหราชอาณาจักรและประเทศสิงคโปร์ กำหนดให้การตัดผมอาศัยความยินยอมของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ
กสม. เห็นว่า ปัญหาการตัดผมผู้ต้องขัง ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาความสมดุลระหว่างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขอนามัยในสภาพแวดล้อมของเรือนจำกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงเห็นควรแบ่งการพิจารณาผู้ต้องขังออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ต้องขังซึ่งมีฐานะเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ได้กำหนดรูปแบบทรงผมในข้อ 9 ว่า “นักโทษเด็ดขาดชายให้ไว้ผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” และข้อ 10 “นักโทษเด็ดขาดหญิง ให้ไว้ผมยาวนับจากติ่งหูได้ไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่ความยาวดังกล่าวจะต้องไม่เลยบ่า (ประบ่า)” กสม. เห็นว่า การจำกัดเสรีภาพในการไว้ทรงผมดังกล่าว ถือเป็นมาตรการรักษาสุขอนามัยและความสงบเรียบร้อยภายในสภาพแวดล้อมที่จำกัดด้วยทรัพยากรตามบริบทของเรือนจำ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคและความปลอดภัยในเรือนจำ เป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งนักโทษเด็ดขาดเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษจำคุกจริงตามที่ศาลมีคำพิพากษาที่สุดแล้ว ดังนั้น การถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการจึงเป็นการเหมาะสมและไม่เกินกว่าเหตุบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กลุ่มที่ 2 ผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขังฯ ข้อ 9 กำหนดว่า “คนต้องขังชาย คนฝากชาย และนักโทษเด็ดขาดชายที่เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 30 วัน ให้ไว้ทรงผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะสั้น ไล่ระดับไม่เกินตัวรองที่ตัดผมเบอร์ 2” และข้อ 10 กำหนดว่า “คนต้องขังและคนฝากหญิง ให้ไว้ผมยาวเลยบ่าได้ แต่ให้รวบผมหรือผูกผมให้เรียบร้อย” เป็นการกำหนดระเบียบให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาไว้แตกต่างกับนักโทษเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) รวมทั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเห็นควรยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี และให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้
กลุ่มที่ 3 ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ กรมราชทัณฑ์ได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ปี 2565 เพิ่มเติมรายละเอียด โดยเปิดช่องให้ผู้ต้องขังสามารถตัดผมตามเพศวิถีได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามลำดับ ภายใต้ข้อจำกัดของกรมราชทัณฑ์ที่มีหลายส่วน เช่น งบประมาณ กำลังคน พื้นที่คับแคบในขณะที่มีจำนวนผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถของเรือนจำ อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าเมื่อกรมราชทัณฑ์มีความพร้อมมากขึ้น ควรพัฒนากฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ
กลุ่มที่ 4 ผู้ต้องขังที่มีวัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ข้อ 14 กำหนดให้การตัดผมผู้ต้องขังตามระเบียบนี้ใช้บังคับเฉพาะเมื่อไม่ขัดต่อลัทธิศาสนาของผู้ต้องขังนั้น ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 มีกรณีชาวบ้านบางกลอยถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตัดผมผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีหรือรับโทษใด ๆ ทำให้มีประเด็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากการไว้ผมยาวของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอยถือเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ บางคนจะไม่ตัดผมเลยและไว้ยาวโดยใช้ผ้าโพกเอาไว้ เพราะการตัดผมเสมือนตัดทำลายขวัญที่ยึดถือมาทั้งชีวิตอย่างรุนแรง กสม. เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัย และกระทบต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 มี.ค 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเรื่องการตัดผมให้เป็นไปตามหลักความเชื่อหรือศาสนาหรือประเพณีนิยมของผู้ต้องขัง ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 และให้ยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี โดยให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้ รวมทั้งให้พิจารณาแก้ไขระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ เช่น แม้ผู้ต้องขังยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ แต่หากได้รับฮอร์โมนเพศมาอย่างต่อเนื่องก่อนเข้าสู่เรือนจำ ควรได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตภายในเรือนจำให้สอดคล้องกับเพศวิถีของตน เป็นต้น รวมถึงให้กำชับ เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เคารพหลักการสำคัญข้างต้นเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด
'นิพิฏฐ์' ท้าเปิดถ้วยให้แทงคดี 'ทักษิณ' ฟ้องหมิ่น ลั่น! ป่วยทิพย์ หรือ ป่วยจริง ต้องจบ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าป่วยทิพย์ หรือ ป่วยจริง ต้องจบ!!
กรมราชทัณฑ์ สั่งสอบเหตุนักโทษแทงกันดับ
กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 เกิดเหตุผู้ต้องขังทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายกัน ในเรือนจำกลางปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 12 ราย สาหัส 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย นั้น
'ไพศาล' ทุบโต๊ะ! การนำนักโทษออกนอกเรือนจำโดยไม่ขออนุญาตศาล บานปลาย
นายไพศาล พืชมงคง นักกฎหมาย นักวิจารณ์การเมือง โพสต์ข้อความว่า เรื่องการนำนักโทษออกนอกเรือนจำโดยไม่ขออนุญาตศาล บานปลาย
คปท. เสนอ กรมราชทัณฑ์ กรณีคุมขังนอกเรือนจำ
คปท.เห็นด้วยในหลักการของการกักขังนอกเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคติดต่อร้ายแรงหรือแม้แต่ผู้ต้องขังหญิงที่ท้องก่อนมาเข้าเรือนจำเพราะลูกในท้องเขาไม่ได้ร่วมกระทำผิด แต่ คปท.เสนอว่า
กรมคุก ยังไม่มีการประสานตัวส่ง 'โกทรและพวก' ย้ายคุมขัง
รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับรายงานการประสานตัวส่ง โกทร-พวก ย้ายคุมขังจาก เรือนจำนครนายกมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพ