หากมีการไปออกกฎหมายโดยสังคมยังไม่ตกผลึก มันจะเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน การนิรโทษกรรม เราอย่าไปมองว่า การไม่ออกกฎหมาย คือการซื้อเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ การออกกฎหมายอาจกลายเป็นระเบิดเวลาได้เหมือนกัน นิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสังคมยังเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง แต่ครั้งนี้ เรื่องใดที่สังคมเห็นตรงกันแล้วก็ออกเป็นกฎหมายได้ แต่อันไหนที่ยังไม่ตกผลึก ก็ค่อยๆพูดคุยกัน หาทางแก้กันไป น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นเรื่อง คดี 112 ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด รอบด้าน
สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีการพิจารณา รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ทั้งที่คณะ กมธ.ได้ส่งรายงานดังกล่าวให้สภาฯ มาตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.
ซึ่งเดิมที สภาฯ มีคิวต้องพิจารณารายงานฯดังกล่าวตั้งแต่พฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.แล้ว แต่ก็เลื่อนออกไป และเดิมทีจะเอาเข้าสภาฯ พฤหัสบดีที่ 3 ต.ค. สุดท้าย ก็เลื่อนไปอีก และล่าสุดพฤหัสบดีที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการพิจารณาอีกเช่นกัน หลังมีข่าวว่า วิปรัฐบาล ขอให้สภาฯ ชะลอการพิจารณารายงานของกมธ.ฯ ไว้ก่อน เห็นได้จากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลเอง “ชูศักดิ์ -รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ”แสดงท่าทีว่ายังไม่ต้องการให้สภาฯ พิจารณารายงานของกมธ.ฯในช่วงนี้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรอรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองต่างๆ ให้รอบด้านก่อน หลังก่อนหน้านี้ พรรคร่วมรัฐบาลเช่น รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์ ขอให้กรรมาธิการฯ นำรายงานดังกล่าวกลับไปทบทวน และขอให้ถอนรายงานออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการนิรโทษกรรมตามรายงานของกมธ.ฯโดยเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมคดี 112 ที่มีการเสนอความเห็นส่วนตัวของกรรมาธิการหลายคน ไว้ในรายงานแม้จะไม่ใช่มติของกมธ.ฯก็ตาม
เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ดูแล้ว เส้นทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ อาจไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะขนาดแค่รายงานของกมธ.ฯ ฝ่ายรัฐบาลก็เกรงจะทำให้เกิดปัญหาการเมืองตามมา จนยื้อการพิจารณาออกไปหลายสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นของกรรมาธิการชุดดังกล่าวบางคน ที่จะมาให้ความเห็นเรื่องนี้ โดย"รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช - กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรม และในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร"กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาของอนุกมธ.ฯ ว่า ในส่วนของทางอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการศึกษาและมีข้อสรุปออกมา 7 ส่วนด้วยกัน อาทิเช่น
1.นิยาม"แรงจูงใจทางการเมือง"ที่นิยามออกมาว่า" “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
2.กรอบระยะเวลาที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ให้เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2548
3.การจำแนกประเภทการกระทำในคดีที่มีเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง แยกได้เป็นสามส่วนคือ คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
คดีหลักคือคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรงเช่น ถูกเอาผิดตามพรบ.การชุมนุมฯ หรือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนคดีรอง คือคดีที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้น เช่น ถูกดำเนินคดีตามพรบ.ความสะอาด ฯ พรบ.จราจร ฯ หรือกฎหมายเครื่องขยายเสียง
ส่วนคดีที่มีความอ่อนไหว คือคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 และคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อมนุษย์
"รศ.ยุทธพร"ย้ำว่า การจำแนกออกมาเป็นสามคดีดังกล่าว อนุกมธ.ฯ ไม่ได้ใช้ทัศนคติในการจำแนก แต่อนุกมธ. ใช้สถิติ ข้อมูล และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการจำแนก โดยเรามีหลักเกณฑ์-หลักคิด ห้าประการ อาทิเช่น หนึ่ง ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถิติ ที่มาจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ที่เป็นคณะอนุกรรมาธิการอีกคณะหนึ่งในกมธ.ฯชุดใหญ่ ที่รวบรวมเอาไว้
สอง ฐานความผิด 25 ฐานความผิด ที่ได้รวบรวมจากรายงานของคณะกรรมการที่ศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรม การสร้างความปรองดองต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าอนุกรรมาธิการก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 25 ฐานความผิดดังกล่าว โดยหากต่อไปพบการกระทำความผิดอื่นๆ ที่ตกหล่นไป ก็ให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมฯ ที่จะเกิดขึ้นตามข้อเสนอสามารถพิจารณาเพิ่มฐานความผิดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมเพิ่มเข้าไปได้
สาม เราใช้เกณฑ์ในเรื่องของเหตุการณ์ทางการเมือง โดยเราได้ศึกษาและวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ช่วงเวลาคือ ช่วงปี 2548-2557 , ปี 2552-2555, ปี 2556-2562 และปี 2563-2567
สี่ เราใช้เกณฑ์เชิงพฤติกรรมและตัวนิยามในเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง และเกณฑ์คดีสำคัญ โดยเราเอาคดีสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา ที่มีการชุมนุม-เคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ มาเป็นเกณฑ์ในการทำเหมือนกับ กายวิภาคศาสตร์ของคดี เพื่อดูว่าผู้ร้องเป็นใคร ผู้ถูกร้องเป็นใคร ลักษณะของคำวินิจฉัยต่างๆ เป็นอย่างไร เป็นต้น
ทั้งหมดคือเกณฑ์ที่อนุกรรมาธิการฯ ใช้จำแนกคดีต่างๆ จนออกมาเป็นสามประเภทคดีคือคดีสำคัญ คดีรองและคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
"รศ.ยุทธพร -ประธานคณะอนุกมธฯ ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม" กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อนุกมธ.ฯ มีการเสนอแนวทางที่ควรจะนิรโทษกรรมฯ ที่อนุกมธ.ฯ เสนอรูปแบบการนิรโทษกรรมต่อคณะกรรมาธิการฯชุดใหญ่ โดยเสนอไปสามรูปแบบ คือ การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม-การนิรโทษกรรมโดยไม่ใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรมและการนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน โดยอนุกรรมาธิการได้เสนอว่าแต่ละแนวทางมีผลดี-ผลเสียอย่างไร
รวมถึงข้อเสนอเรื่อง มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและเสริมสร้างความปรองดอง ที่ก็จะมีแนวทางที่มาจากกรณีในต่างประเทศ ที่เสนอว่าเราจะมีแนวทางอย่างไรในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เช่นการมีกระบวนการที่้จะต้องห้ามบุคคลบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปดำเนินการหรือไปทำความผิดในฐานความผิดเดิมหรือการให้มีคณะกรรมการที่จะไปติดตาม การกระทำต่างๆ ของบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมว่าเขาจะไปทำความผิดแบบเดิมหรือไม่
-ในบันทึกความเห็นที่ปรากฏในรายงานของคณะกมธ.ฯ พบว่า ตัวอาจารย์ยุทธพร ให้ความเห็นว่า ควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข เหตุใดจึงมีความคิดเห็นแนวทางดังกล่าว?
กระบวนการในการที่เราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากเราย้อนไปดูในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าประเด็น และข้อถกแถลงในสังคมการเมือง มันมีการขยับอยู่ตลอดเวลา จากเดิมเป็นเรื่องของตัวบุคคล ต่อมาก็เป็นเรื่องของแนวทาง แนวคิด ต่อมาก็เป็นเรื่องอุดมการณ์ ที่จะพบว่ามันก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้น วันนี้หากเราไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเลย ในอนาคตมันจะยิ่งมีความแตกแยก การแบ่งขั้วทางการเมือง ที่มันร้าวลึกลงไปอีก เพราะฉะนั้นเราจะปฏิเสธการไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยคงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเรื่องนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่สังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่มันซับซ้อนมากยิ่งขึ้นก็ได้
เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ หากเราจะพูดกันถึงเรื่องคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 หรือคดีที่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ คดีที่เป็นความผิดต่อร่างกาย ก็ควรต้องมีเงื่อนไขในการให้มีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้สังคมได้ตกผลึก ไม่ใช่บอกว่าให้นิรโทษกรรมทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมันก็ไม่ได้ เพราะมันก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซับซ้อนตามมาอีก
ดังนั้น ก็ต้องมีการพูดคุย โดยอาจจะให้มีการนิรโทษกรรมในเรื่องอื่นๆ ก่อนในคดีหลัก คดีรอง หรือคดีที่สังคมตกผลึกไปแล้วเดินหน้าไป แต่คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อาจต้องมีเงื่อนไข เช่นอาจให้มีเวทีพูดคุยกัน โดยอาจมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อาจต้องมีการหารือแนวทางให้มันตกผลึกก่อน ที่เป็นสิ่งที่เรียกว่าการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
-หากสุดท้าย สภาฯพิจารณารายงานการศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ เสร็จสิ้น คิดว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมือง ควรนำผลการศึกษาไปต่อยอดอย่างไรในเรื่องนิรโทษกรรม?
อยากให้การต่อยอดต่อจากนี้เป็นงานของฝ่ายสภาฯ มากกว่าที่จะทำโดยฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายบริหาร เพราะมีความหลากหลายมากกว่า และจะได้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนในภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม
เพราะการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปมองเป้าหมาย แต่การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของกระบวนการ ซึ่งการเปิดพื้นที่คุยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญแต่ถ้าเรามองแค่ว่านิรโทษกรรมคือเป้าหมาย จะเป็นเพียงแค่การนำเสนอกฎหมายและสุดท้าาย ก็จบลงตรงนั้น ที่้ท้ายสุดอาจทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาได้ เพราะการเสนอกฎหมายต้องมีคนเห็นด้วย คนเห็นต่าง โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เพราะฉะนั้นควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันก่อน จนเมื่อกระบวนการทำให้เกิดการเห็นตรงกันในสังคม ตกผลึกร่วมกัน ถึงค่อยนำไปสู่การเสนอกฎหมาย งานตรงนี้(การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม) จึงควรเป็นของสภาฯ ร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ ในการขับเคลื่อนมากกว่า
-ไทม์มิ่งการเมืองตอนนี้ เหมาะหรือยังที่ถึงเวลาสภาฯ จะพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เพราะที่ผ่านมา มีการเสนอร่างเข้าสภาฯมาแล้วหลายร่างแต่ยังไม่มีการพิจารณาเสียที?
การพิจารณาร่างกฎหมายอย่างที่บอก มันเป็นแค่ปลายทางเท่านั้น หลักใหญ่ตอนนี้ ควรต้องทำให้มีกระบวนการของการนิรโทษกรรมเสียก่อน ผ่านการพูดคุยกันก่อน แล้วกฎหมายค่อยเป็นสิ่งที่ตามมา
อย่างปัจจุบันที่มีการเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม 4-5 ร่าง เสนอเข้าสภาฯไป แต่ยังไม่ชัดว่าจะเป็นไปตามร่างใด เพราะสุดท้าย สภาฯ อาจเห็นว่า ให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมใหม่ขึ้นมาใหม่เลยก็เป็นไปได้ โดยตรงนี้มันต้องมีกระบวนการพูดคุยกันก่อน เพราะถ้าไปเสนอกฎหมายเข้าสภาฯเลย สุดท้าย มันจะไม่จบ เรื่องนิรโทษกรรม แล้วจะทำให้เกิดปัญหาความซับซ้อนในเรื่องความขัดแย้งที่ตามมาอีกก็ได้
โดยกระบวนการพูดคุยดังกล่าว ก็คือ สภาฯ อาจเป็นเจ้าภาพเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากแต่ละทุกภาคส่วนของสังคมว่า แนวทางการนิรโทษกรรมที่กมธ.ฯ ได้ศึกษาสรุปออกมาเป็นสามประเภทคดีคือคดีหลัก คดีรอง คดีที่มีความอ่อนไหว แต่ละภาคส่วนเห็นอย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ควรออกเป็นกฎหมายหรือไม่ และหากออกเป็นกฎหมายอยากให้เนื้อหาในกฎหมายครอบคลุมอย่างไรบ้าง แล้วมันก็จะค่อยๆ จูนไปเรื่อยๆ
เรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญของการนิรโทษกรรม อย่างกมธ.ฯ เคยเชิญอดีตกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองต่างๆ มาให้ความเห็น ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่มา ส่วนใหญ่เขาบอกว่า ไม่ติดอะไรแล้วเพราะเรื่องราวมันผ่านมานานแล้ว บางคนได้รับโทษไปแล้ว บางคนไม่ติดใจกับความขัดแย้งเดิมๆ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าหากเรามีกระบวนการ มีการใช้เวลาตรงนี้ร่วมกัน ผมเชื่อว่าสังคมเราจะมีทางออกร่วมกัน แล้วกฎหมาย ค่อยมาว่ากันตามเข้ามาทีหลัง แต่ถ้าใช้วิธีให้กฎหมายนำมาก่อน ผมไม่คิดว่าจะเป็นทางออกได้
-หากในสภาฯ ที่เหลือเวลาอีกสามปี ถ้าไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ถ้ายังมีการซื้อเวลา ไม่กล้าตัดสินใจ?
เราต้องมองกลับกันด้วยเหมือนกันว่า หากมีการไปออกกฎหมายโดยสังคมยังไม่ตกผลึก มันจะเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน กับการนิรโทษกรรม เราอย่าไปมองว่า การไม่ออกกฎหมาย คือการซื้อเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ การออกกฎหมายอาจกลายเป็นระเบิดเวลาได้เหมือนกัน ถึงได้บอกว่าการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และสังคมยังเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง แต่ครั้งนี้ เรื่องใดที่สังคมเห็นตรงกันแล้ว แบบนี้ ก็ออกเป็นกฎหมายได้ เช่นการกระทำความผิดที่เกิดจากความขัดแย้งในอดีต ที่ทุกฝ่ายตกผลึกแล้ว แบบนี้ออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมได้ แต่อันไหนที่ยังไม่ตกผลึก ผมว่าเราก็ค่อยๆพูดคุยกัน แล้วค่อยๆหาทางแก้กันไป ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นเรื่อง คดี 112 ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียด รอบด้าน
เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าสังคมจะตกผลึกด้วยกันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อาจมีมุมที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันว่า ไปด้วยกันได้ สังคม ก็มีโอกาสที่จะไปต่อ เดินหน้าได้ เพราะเราอยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานมากมาถึงร่วมยี่สิบปี ตั้งแต่ปี 2548 เราจึงต้องหาทางทำให้สังคมไปต่อ ซึ่งเจตจำนงหลักของการนิรโทษกรรม คือการสร้างสังคมที่มีความปรองดอง
ดังนั้นถ้านิรโทษกรรมแล้วสังคมไม่ปรองดอง มันก็ไม่เป็นประโยชน์ วันนี้จึงต้องดูว่า การนิรโทษกรรมจะทำอย่างไรให้สังคมปรองดอง เดินหน้าได้ มีการวางกลไกไปสู่อนาคต ว่าหากเกิดความขัดแย้งอีก เราจะมีวิธีการหาทางออกอย่างไร คือสิ่งที่มีความสำคัญมาก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
'วิสุทธิ์' ป้องยิ่งลักษณ์ หยุดตีปลาหน้าไซนิรโทษกรรม
'วิสุทธิ์' ขอ อย่าโยง 'เพื่อไทย' ดัน 'กม.นิรโทษกรรม' เพื่อ 'ยิ่งลักษณ์' บอก มีกฎหมายเพื่อ ประชาชนกว่า 20 ฉบับในสมัยประชุมนี้
'เพื่อไทย' เดินหน้าเต็มสูบ 'นิรโทษกรรม' งัดข้อประชามติชั้นเดียว
'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' จ่อเข็น 'กม.นิรโทษฯ' ถกพร้อมร่างอื่น พ่วงเดินหน้า 'กม.ประชามติ' แนะ 'ประธานสภาฯ-วิป' เร่งหารือแนวทาง 'แก้ รธน.' เหตุ อาจเสียเวลาเปล่า
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย