อนาคตพรรคการเมืองไทยในการเลือกตั้งปีหน้า (ตอนที่ 3) : นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

 

ตามหลักการปกครองระบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนในกรณีการปกครองระบบประธานาธิบดี แต่นายกรัฐมนตรีจะมาจากสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นบุคคลที่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ นั่นคือ เกินกึ่งหนึ่ง  ส่วนจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศจะกำหนดไว้ 

ในกรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในตอนที่ไปลงทะเบียนเสนอชื่อผู้สมัครแบบเขตและบัญชีรายชื่อ  การเสนอรายชื่อคนที่พรรคต้องการจะให้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคสามารถเสนอได้ 3 ชื่อ แต่จะเสนอไม่ครบ 3 หรือชื่อเดียวก็ได้

รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีสิทธิ์จะเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งก็คือ ต้องมี ส.ส. 25 คน อีกทั้งต้องได้เสียงจากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือ ต้องได้เสียงรับรองจาก ส.ส. พรรคใดก็ได้อีก 50 คน  และผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงจากการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง นั่นคือ ตั้งแต่ 251 คนขึ้นไป

แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าในห้าปีแรก คนเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา นั่นคือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา นั่นคือ ให้ ส.ว. มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ยังจะต้องได้เสียงจากรัฐสภา (ทั้งสองสภา) เกินกึ่งหนึ่ง นั่นคือ ตั้งแต่ 376 เสียงขึ้นไป เหมือนในปี พ.ศ. 2562

ถ้าพูดอย่างง่ายๆก็คือ คนจะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และได้รับการรับรองจาก ส.ส. อย่างน้อย 50 คน และได้เสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภา 376 เสียงขึ้นไป

สมมุติว่า มีพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส. 376  คน บุคคลในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคคนใดคนหนึ่งย่อมจะต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องสนใจว่า ส.ว. จะลงคะแนนให้หรือไม่   

แต่ ณ ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพรรคการเมืองใดในขณะนี้ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 376 คน ดังนั้น ตัดสูตรนี้ไปได้เลย

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ถ้ายังจำกันได้ ในการลงมติเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2562  ที่ ส.ว. เทคะแนนให้พลเอกประยุทธ์  โดยอ้างหลักการว่า จะลงคะแนนเสียงให้บุคคลตามรายชื่อของพรรคการเมืองใดที่สามารถรวมเสียง ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆได้เกิน 250 เพราะถือว่า ได้เสียงส่วนใหญ่จากตัวแทนของประชาชนแล้ว 

ดังนั้น ถ้าหลังเลือกตั้งคราวต่อไปนี้ ส.ว. ยังยึดมั่นในหลักการนี้อยู่  เราก็จะเห็น ส.ว. ลงคะแนนให้บุคคลตามรายชื่อพรรคการเมืองใดก็ตามที่ได้สามารถได้เสียง ส.ส. เกิน 250 คน     

การจะได้เสียง ส.ส. 250 คนขึ้นไปในสภาผู้แทนราษฎร เกิดขึ้นได้สองแบบ                   

แบบแรกคือ หลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส. ของตนเข้าสภาเกิน 250 คน ซึ่งจะเข้าตามเงื่อนไขหลักการที่ ส.ว. อ้างไว้  ถ้า ส.ว. ยึดมั่นในหลักการ บุคคลคนใดคนหนึ่งตามรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคนี้ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ซึ่งแบบแรกนี้ ดูๆแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยากที่จะมีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. ของตนเข้าสภาฯเกิน 250  ดังนั้น จึงตัดสูตรนี้ออกไปอีก        

ดังนั้น จึงเหลือแบบที่สอง แบบที่สองนี้คือ หลังเลือกตั้ง ไม่มีพรรคการเมืองใดมี ส.ส.ของพรรคตนในสภาฯถึง 251 คน ซึ่งก็จะต้องมีการเจรจาชักชวนพรรคการเมืองอื่นๆให้มารวมเสียงกันให้ได้ 251 ขึ้นไป เพื่อจะให้บุคคลในรายชื่อนายกรัฐมนตรีได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป             

ตามแบบที่สองนี้ พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. สูงสุด (แต่ไม่ถึง 251) น่าจะมีภาษี เพราะมี ส.ส. ของตนมากอยู่แล้ว ที่เหลือแค่ไปชวนพรรคอื่นมาให้เสียงสนับสนุน หรือที่เรียกกันว่า ร่วมจัดตั้งรัฐบาล

แม้ว่าพรรคการเมืองได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด (แต่ไม่เกินครึ่ง) จะมีภาษีมากก็จริง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะประสบความสำเร็จในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว  ที่พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพรรคที่ได้ ส.ส. มาอันดับหนึ่ง กลับสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ดังในกรณีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 12 วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518  พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. มากที่สุดจำนวน 72 เก้าอี้ แต่ไม่สามารถได้รับเสียงไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร  ทำให้ต้องสละสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล ต่อมา พรรคกิจสังคมโดยมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมี ส.ส. เพียง 18 คน สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆได้กึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร จึงสามารถเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ   

ดังนั้น หลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2566   หากพรรคการเมืองใดสามารถเป็นแกนกลางรวบรวมเสียงจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองต่างๆได้ก่อน บุคคลคนใดคนหนึ่งในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคก็จะได้รับการลงคะแนนให้จาก ส.ว. แล้วบุคคลคนนั้นก็คือ นายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ซึ่งพรรคการเมืองที่มีสิทธิ์จะเสนอชื่อบุคคลตามรายชื่อที่แจ้งไว้กับ กกต. คือ พรรคที่ได้ ส.ส. 25 คนขึ้นไป และได้รับการรับรองจาก ส.ส. ในสภาฯ 50 คน  ซึ่งน่าจะมีหลายพรรคอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทุกพรรคจะมีศักยภาพในการเป็นแกนกลางชวนพรรคอื่นๆมาจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคที่เป็นแกนกลางคือ พรรคที่มีบุคคลตามรายชื่อของพรรคที่มี “ศักยภาพ” ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี       

ลองไล่รายชื่อแบบเล่นๆ จะพบว่า บุคคลที่น่าจะอยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคต่างๆ น่าจะได้แก่ คุณเศรษฐา ทวีสิน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณแพทองธาร ชินวัตร คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฯ 

จากรายชื่อข้างต้น จะสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ของการจับขั้วทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร และการเดาใจบรรดา ส.ว. ว่าจะยึดมั่นในหลักการที่ว่า จะลงคะแนนให้พรรคใดก็ตามที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งก่อนหรือไม่     

แต่จากข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ จะเห็นว่า ส.ว. น่าจะลงคะแนนแตกต่างไปจากปี พ.ศ. 2562  และถ้าสมมุติว่า มีการงดออกเสียงเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ  สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ไม่มีขั้วการเมืองใดได้เสียงถึง 376 แม้ว่าจะมีเสียงในมือเกิน 250 ก็ตาม และผลที่ตามมาก็คือ จะไม่มีใครตามรายชื่อข้างต้นได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจะยังไม่มีนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ตายตัวว่า หลังเลือกตั้ง รัฐสภาจะต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปให้ได้ภายในเมื่อไร และหากไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกไว้ว่า จะต้องทำอย่างไรต่อ !

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า