เรื่องลุงตู่ลงการเมือง ในปี พ.ศ. 2562 กับ พ.ศ. 2566 (ตอนที่ ๑)

 

ไม่ว่าลุงป้อมจะเขียนจดหมายเล่าความหลังเรื่องความปรารถนาของลุงตู่ที่จะลงการเมืองในปี พ.ศ. 2562 อย่างไร แต่ที่แน่ๆคือ กว่าลุงตู่จะตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐก็ล่อเข้าไปวันสุดท้ายของการรับสมัครของ กกต. นั่นคือ วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562  ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 8 กุมภาฯปีนั้น หลายคนก็ลุ้นกันตัวโก่งว่า ตกลงแล้ว ลุงตู่จะลงสนามเลือกตั้งแน่หรือไม่

แต่สนามเลือกตั้งปีนี้ ลุงตู่แกไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตั้งแต่ไก่โห่ ที่ว่าไก่โห่ เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่ได้ยุบหรือครบวาระ แต่ลุงตู่แกก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ อันเป็นครั้งแรกในชีวิตของแกที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และคิดว่า แกคงไม่เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายไม่ยอมเป็นแคนดิเดทให้รวมไทยสร้างชาติ  เพราะถ้าทำอย่างนั้น บอกได้เลยว่า ตายยกรัง และนักการเมืองทั้งหลายที่ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติคงเลิกคบลุงตู่ไปอีกสิบชาติ

ในตอนที่แล้ว ได้เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2562 หลังจากทูลทูลกระหม่อมทรงรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคไทยรักษาชาติและไปสมัครที่ กกต. เวลา 09.10 น. หลังจากนั้นเพียง 5 นาที ในเวลา 09.15 น. พลเอกประยุทธ์ก็ประกาศรับเป็นแคนดิเดทตามมาติดๆ

ทำให้ตอนนั้นมีข้อสันนิษฐานได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลุงตู่ตัดสินใจรับการเสนอรายชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐคือ การที่ทูลกระหม่อมรับการเสนอชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปได้ว่า หากไม่มีปัจจัยทูลกระหม่อม ลุงตู่อาจจะไม่ลง และจะปล่อยให้นักการเมืองว่ากันไปตามประสานักการเมือง

แต่ที่ต้องลง เพราะหากไม่ลง มีความเป็นไปได้สูงว่า ทูลกระหม่อมจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะอะไรถึงเป็นไปได้สูง ?        

ถ้ายังจำกันได้ ตอนนั้น มีพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือเดียวกัน อันได้แก่ เพื่อไทย เพื่อชาติ และไทยรักษาชาติ โดยมีศัพท์อธิบายการแบ่งภาคกันตั้งพรรคต่างๆทั้งๆที่เป็นพวกเดียวกันก็คือ “แตกแบงค์” เพื่อรับมือกับระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คะแนนไม่ทิ้งน้ำ และสูตรหารบัญชีรายชื่อที่ซอยย่อยยิบ ที่ทำให้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะได้ ส.ส. เขตเต็มแม็คแล้ว  การแตกแบงค์จะช่วยให้ได้ ส.ส. มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่ บางพรรคก็ไม่ส่งคนลงสมัครเพื่อเปิดทางให้พรรคพันธมิตรที่เป็นแบงค์ย่อย                                                 

ผมยังจำได้ดีว่า ตอนกลางวันของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562  หลังจากที่ข่าวทูลกระหม่อมรับเป็นแคนดิเดทให้พรรคไทยรักษาชาติแพร่กระจายไปทั่ว  มีลูกศิษย์ลูกหาของผมที่เป็นพี่น้องเสื้อแดงภาคอีสานบ้าง ภาคเหนือบ้างต่างพากันโทรมาหาผมและถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าที่ทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดทไทยรักษาชาติ

ที่จริงไม่รู้ว่าจะต้องมาถามผมอีกทำไม  เพราะผมกับพวกเขาต่างก็รู้เรื่องจากแหล่งข่าวเดียวกันนั่นแหละ ผมก็ได้แต่ตอบไปว่า น่าจะจริง เพราะเห็นเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ 

พวกเขาที่เป็นพี่น้องเสื้อแดงทั้งภาคอีสานและภาคเหนือต่างบอกว่า ดีใจมากที่ทูลกระหม่อมลง และบ้านเมืองจะได้ปรองดองสงบเสียที และต่างพากันชื่นชมสรรเสริญไปถึงเบื้องบนว่า หลังเลือกตั้ง บ้านเมืองจะสงบเพราะบารมีพระองค์ท่าน  พวกเขาตีความไปเองว่า การที่ทูลกระหม่อมลงเล่นการเมืองโดยรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เบื้องบนหรือในหลวงรัชกาลที่สิบน่าจะทรงทราบ และเมื่อทรงทราบแล้ว และไม่ทรงขัดข้อง ก็แปลว่า พระองค์ทรงสนับสนุนไทยรักษาชาติด้วย และเมื่อสนับสนุนไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคแตกแบงค์พันจากเพื่อไทย ก็แปลว่า สนับสนุนฝ่ายคุณทักษิณและพี่น้องประชาชนเสื้อแดง

ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการตีความเข้าข้างตัวเองเช่นนั้น ก็น่าจะไม่ต่างจากที่คนจำนวนหนึ่งในฝ่ายเสื้อเหลืองพันธมิตรฯและกปปส. เคยตีความเข้าข้างตัวเองไปต่างๆนานาเกี่ยวกับเบื้องสูง ยกเว้นบางกรณีที่ชัดเจน เช่น กรณีงานศพน้องโบ         

ลูกศิษย์เสื้อแดงของผมที่อีสานและเหนือต่างยืนยันกับผมว่า เมื่อเป็นอย่างที่พวกเขาเข้าใจ พวกเขาก็ตัดสินใจง่ายมากว่าจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคใดระหว่างเพื่อไทย เพื่อชาติและไทยรักษาชาติ นั่นคือ พวกเขาจะลงให้ไทยรักษาชาติเพื่อหวังให้ทูลกระหม่อมได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ

แต่สำหรับลุงตู่ การรับเป็นแคนดิเดทของทูลกระหม่อมน่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับลุงตู่และการเมืองไทย เพราะนั่นหมายถึงชัยชนะถล่มทลายของฝ่ายคุณทักษิณ อีกทั้งจะสร้างปัญหาความยุ่งยากในกระบวนการทางรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลโดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้ทูลกระหม่อม   

อีกทั้งในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีของทั้งสองสภา หากฝ่ายเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และต้องรอเสียงจากวุฒิสภาเติมเต็มให้ได้เสียง 376 เสียง วุฒิสมาชิกจะกล้าไม่ลงคะแนนให้ทูลกระหม่อมหรือ  ?  เพราะการลงพรรคไทยรักษาชาติของทูลกระหม่อมได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยและการตีความไปต่างๆนานาเกี่ยวกับเบื้องสูง

พูดง่ายๆก็คือ แม้นพรรคในฝ่ายเพื่อไทยจะได้ ส.ส. ไม่เกินครึ่งสภา แต่ก็อาจจะได้เสียงสนับสนุนของวุฒิสภาจนถึง 376  เรียกว่ามีโอกาสสูงมากที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือทูลกระหม่อมแต่ถ้าได้เสียงเกิน 250 วุฒิสภาก็ยิ่งยากที่จะไม่ลงคะแนนให้                     

นอกจากนี้ ไม่ว่าลุงตู่หรือคนทั่วไปไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร ย่อมอดคิดไม่ได้ว่า การที่ทูลกระหม่อมลงไทยรักษาชาตินั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณอย่างแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่คุณทักษิณจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย   

เป็นไปได้หรือไม่ว่า  การลงพรรคไทยรักษาชาติของทูลกระหม่อมเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลุงตู่ต้องลงแข่งเป็นนายกรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ เพราะลุงตู่ไม่ยอมรับการเล่นเกมแบบนี้ของคุณทักษิณ  ซึ่งถือว่าลุงตู่ใจถึงและกล้ามากๆที่จะตัดสินใจรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเพียงไม่กี่นาทีต่อมาหลังจากที่ทูลกระหม่อมลงสมัคร

ที่ว่าใจถึงและกล้ามาก ก็เพราะว่า หากการลงสมัครของทูลกระหม่อมหมายถึงมีสัญญาณไฟเขียวจากเบื้องบน ก็แปลว่า ลุงตู่พร้อมแข่งภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว และจะนำมาซึ่งการแตกแยกในกองทัพตามมาด้วย  เพราะอะไรคงไม่ต้องสาธยาย

ถ้าจะถามว่าลุงตู่รู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า ทูลกระหม่อมจะลงสมัคร สันนิษฐานว่า ไม่น่ารู้ เพราะแม้แต่นักการเมืองชั้นนำของพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่ารู้ เพราะถ้ารู้ คนอย่างคุณหญิงสุดารัตน์และท่านอื่นๆก็ไม่น่าจะยอมอยู่ในรายชื่อแคนดิเดทสามชื่อของพรรคเพื่อไทย โดยรู้ทั้งรู้ว่าตนถูกใช้เป็นแค่หมากตัวล่อเท่านั้น                           

ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เชื่อว่า การลงสมัครของทูลกระหม่อมจะเป็นการริเริ่มโดยลำพังของพระองค์เอง โดยไม่มีใครทูลเชิญ คนที่ทูลเชิญจะเป็นใครนั้น ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าเดากันได้

คนที่วางแผนดังกล่าวนี้ ย่อมคิดแล้วว่า แผนนี้มีแต่ได้กับได้ ถ้าจะเสียก็น้อยมาก

ได้กับได้คืออะไร ? และเสียน้อยมากที่ว่านี้เสียอะไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป หรือในระหว่างที่รอตอนต่อไป ท่านอาจจะลองจินตนาการดูเองก่อนก็ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490