รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่บรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยกันถ้วนหน้า ซึ่งก็เป็นไปตามคาดหมาย หลังจากมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี และให้มีผลทันที ซึ่งการปรับขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 6 ครั้ง

ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องก็มีทั้งผลดี และผลเสีย ด้านดีก็คือ ผู้ฝากเงิน หรือคนที่กำลังทำการออมเงินก็จะได้รับอานิสงส์จากผลตอบแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้น แต่สำหรับฝ่ายผู้กู้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน ก็จะต้องมีการแบกภาระที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาแบงก์จะมีการค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ถึงอย่างไรก็ส่งผลกระทบต่อผู้กู้แน่นอน

ทั้งนี้จากข้อมูลของ กนง. ระบุว่า การปรับดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สินเชื่อในระบบขยายตัวลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมเงินทุนในต้นทุนที่ถูกกว่า อย่างการออกหุ้นกู้ ไประดมเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้แทน

อย่างไรก็ดี ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ก็มีคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปในการรับมือกับปัญหาเรื่องต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีดังนี้

1.ต้องวางแผนทางการเงินสำหรับอนาคต อย่างที่ทราบกันดีว่า ดอกเบี้ยขึ้นส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง อาทิ บ้านและที่อยู่อาศัย รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งในภาวะแบบนี้ประชาชนทั่วไปก็จะต้องประเมินขีดความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองว่าสามารถผ่อนได้ระดับไหน และอาจจะต้องมีการปรับลดสเปกของสินค้าที่เราจะซื้อให้มีความเหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระของเรา

โดยหลักการเช็กสุขภาพทางการเงินง่ายๆ ก็คือ เราไม่ควรมีหนี้สินเกิน 50% ของสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด เช่น เรามีสินทรัพย์อยู่ 1 ล้านบาท เราต้องไม่ควรมีหนี้รวมกันทุกประเภทเกิน 500,000 บาทนั่นเอง ขณะเดียวกันอีกหนึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่แนะนำให้ตรวจสอบก็คือ "ภาระการผ่อนชำระในแต่ละเดือน" ซึ่งไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยภาระการผ่อนชำระก็จะนับรวมการผ่อนรายการที่เป็นหนี้ทั้งหมด เช่น ค่าผ่อนรถยนต์ ผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย ผ่อนหนี้บัตรเครดิต รวมไปจนถึงภาระการผ่อนสินค้า 0% ทั้งหมดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วย

2.ต้องฝึกการบันทึก หรือการทำบัญชี เรื่องนี้ก็มีความสำคัญ เพราะบันทึกหรือบัญชีมันคือข้อมูลนำทางสำหรับการจัดการเรื่องเงินได้ดีที่สุด เมื่อเราทราบว่าทุกเดือนเรามีค่าใช้จ่ายไปกับเรื่องใดบ้าง ซึ่งบางทีเราจะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็น สามารถตัดลดได้ ก็จะทำให้การบริหารเงินของตัวเอง มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยยุคนี้การบันทึกค่อนข้างง่าย เพราะในระบบแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินต่างๆ ก็มีสลิป และประวัติการใช้เงินที่เก็บให้อัตโนมัติอยู่แล้ว ผู้ใช้เพียงนำมารวบรวมและวิเคราะห์ วางแผนได้ง่าย

3.การรีไฟแนนซ์หนี้อาจจะคุ้ม สำหรับผู้ที่เจอดอกเบี้ยลอยตัว อันนี้ถือเป็นอีกประเด็นสำหรับลูกหนี้ บางครั้งหากเรากำลังเจอกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น การรีไฟแนนซ์ย้ายเจ้าหนี้อาจจะได้รับเงื่อนไข โปรโมชั่น ดอกเบี้ย ถูกกว่าที่ผ่อนอยู่ก็เป็นไปได้

ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เพราะที่สำคัญเลยเราต้องอยู่กับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอีกสักระยะ โดยก็มีการคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นการตัดสินใจและปรับพฤฒิกรรมในการรับมือได้เร็วย่อมจะส่งผลดีไม่มากก็น้อย ดีกว่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล