วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

และประเด็นนี้นำไปสู่เรื่องการโต้เถียงว่า ตกลงแล้วเศรษฐกิจไทยวิกฤตจริงไหม และเลวร้ายกว่าช่วงยุคต้มยำกุ้งจริงหรือไม่

ล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาโต้การให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณถึงเรื่องนี้ว่า อะไรคือคำนิยามของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีอะไรชี้วัดว่า ไหน จีดีพีต้องถอยเท่าไร งานวิจัยต้องหายเท่าไร หรือค่าเงินต้องหายเท่าไร แบบไหนถึงจะเรียกว่าวิกฤต

โดยนายพิธายอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี โตช้าจริง และการฟื้นฟูหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังช้าและแย่มากเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิกฤตแล้วเศรษฐกิจหายไป 20% หรือตลาดหุ้นหายไปเกินครึ่งเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือค่าเงินบาทปรับเป็น 50 บาทจาก 25 บาท ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกันแล้ว

"พอสถานการณ์ไม่เหมือนกันแล้วไปบอกว่าเหมือนกัน เราจ่ายยาผิดทันที คุณจะจ่ายยาผิด เพราะคุณวินิจฉัยอาการผิด ตอนนี้เศรษฐกิจมันซึม แล้วมันซึมยาว ซึมยาวมาเป็นปี และซึมมาเป็น 10 ปี แต่ปัญหาโครงสร้างในการส่งออกยังเหมือนเดิม เรื่องเกี่ยวกับภาคการผลิตยังเหมือนเดิม" นายพิธากล่าว และว่า ปีนี้งบประมาณล่าช้า แต่ยังรู้สึกว่าเมื่องบประมาณผ่านแล้วภาครัฐตั้งใจอัดโครงการที่เป็นประโยชน์ออกไปจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่สัมมนาหรือซื้อผ้าม่าน มีการอัดฉีดลงทุนในโครงสร้างเข้าไปก็จะทำให้จีดีพีโตขึ้น

โดยพิธายังกล่าวทิ้งท้ายว่า เวลาวัดเศรษฐกิจ ถ้าวัดผิดก็จะเป็นเข็มทิศที่ผิด ถ้าไปวัดแค่จีดีพีว่าโตเท่าไหร่ มันไม่ได้วัดความเหลื่อมล้ำ จึงอยากขอให้ลองหาตัววัดเศรษฐกิจใหม่ๆ ในการดูแล เช่น การเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร หรือการวัดความร่ำรวยของประชาชน (GDP per capita) ไม่ได้ดูแค่ระดับประเทศ แต่ดูระดับจังหวัดจะทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น

กลายเป็นเรื่องต่างมุมมองที่จะต้องประเมินกันว่า ตกลงแล้วอะไรคือวิกฤตเศรษฐกิจกันแน่ แน่นอนในมุมของรัฐบาลในช่วงที่ยังไม่มีงบประมาณให้ใช้ การบริหารงานก็จะ 'จำกัดจำเขี่ย' แถมการจะผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีด่านอรหันต์หลายด่าน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งเรื่องเงินที่ใช้ในโครงการ ข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงวิธีการที่ดูแล้วโอกาสเกิดแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากนายกฯ และ ครม.จะเอาตัวไปเสี่ยงผลักดันโครงการนี้ออกมา ส่วนจะใช้มาตรการการคลังก็ใช้จนหมดเกือบทุกทางแล้ว

กลายเป็นว่า ช่วงนี้สิ่งที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เร็วสุดก็คือ การใช้นโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องของการลดดอกเบี้ย แต่เรื่องนี้รัฐบาลทำด้วยตัวเองไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของทางกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ

ดังนั้น ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแอ็กชันของนายกฯ และบรรดาที่ปรึกษาหลายคน พยายามออกมากระทุ้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ออกมาลดดอกเบี้ย โดยใช้ถ้อยคำ ทั้งขอร้อง ปลอบขู่ ต่างๆ นานา และยกประเด็นเศรษฐกิจโตต่ำโตน้อยมาเป็นประเด็น

เพราะในแง่มุมหนึ่งก็ดูเหมือนรัฐบาลเองก็หมดหนทางที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโตต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ได้ด้วยตัวเองแล้วในเวลานี้ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลนายเศรษฐาเช่นเดียวกัน ว่ามีฝีมือแค่ไหน เพราะความเป็นจริงจริงๆ แล้วปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในเวลานี้คือปัญหาเรื่องโครงสร้างเป็นหลัก สินค้าของเราส่งออกสู้คนอื่นไม่ได้ หรือ เทคโนโลยี นวัตกรรมของเรา รวมถึงต้นทุนของเราก็ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะกับจีนที่เราขาดดุลการค้าหลายแสนล้านบาท

ประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องหันมาโฟกัสจริงๆ จังๆ มากกว่าการรอให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ดังนั้นจะบอกว่าไทยตอนนี้วิกฤตแล้ว เพื่อผลักดันแค่การแจกเงิน มันก็ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยประเทศไทยในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือ การลงทุนของรัฐที่ถูกต้อง และช่วยให้ภาคเศรษฐกิจมีการปรับโครงสร้างให้แข็งแกร่ง และแข่งขันได้มากกว่า.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล