แห่สัมผัส สปาโคลนบ่อน้ำพุเมืองตรัง ฮือฮา แร่ธาตุดีต่อสุขภาพ 8 ชนิด

ฮือฮา มทร.ศรีวิชัย ตรัง ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เปิดตัวสปาโคลนบ่อน้ำพุร้อน ผลวิจัยชี้ชัดได้สัมผัสแร่ธาตุดีต่อสุขภาพ 8 ชนิด  หนุนสร้างรายได้ให้ชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งแรกใน จ.ตรัง

24 เม.ย.2565 –  ที่บ่อน้ำพุร้อนเค็ม ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ชาวบ้านและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เปิดตัวสปาโคลนชุมชน “Preopening Community Spa”  ซึ่งได้นำโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็มที่อยู่ในป่าโกงกางมานานนับ 100 ปี   และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์แห่งเดียวใน จ.ตรัง มาทำการวิจัยถึง 3 ครั้ง จนพบว่าโคลนที่ได้จากบ่อน้ำพุร้อนเค็มในตำบลบ่อหิน ปราศจากสารเคมีแต่มีแร่ธาตุและสารต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพถึง 8 ชนิด เป็นการหนุนความเชื่อของชาวบ้านในอดีตที่มีการนำโคลนมาพอกหน้าพอกตัว เพราะเชื่อว่าโคลนจะทำให้ผิวเนียน นุ่ม และขาวสดใส

ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย และโรคเหน็บชาได้ โดยเฉพาะการพอกโคลนตามชายหาดหรือในบ่อน้ำพุร้อน ความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัย  จึงได้ทดสอบกับโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็มและประสบความสำเร็จ ทำให้คณะวิจัยฯ สามารถยกระดับโคลนชุมชนขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  โดยได้นำโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็ม มาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยรวม 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคลนขัดผิว ครีมนวดสปาโคลน เจลอาบน้ำโคลนและสบู่ก้อนโคลน โดยคณะผู้วิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับ นวัตกรชาวบ้านจำนวน 10 ราย  เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนให้กับชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ฝั่งอันดามัน

 ทั้งนี้คณะวิจัยได้ส่งครีมอาบน้ำโคลนไปขอ อย. เป็นผลิตภัณฑ์แรก แต่ผลิตภัณฑ์โคลนที่ได้ทั้ง 4 ชนิดยังไม่มีขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่หากใครสนใจสามารถมานวดตัว และสปาเท้าได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์ ต.บ่อหิน ในราคาคนละ 300-400 บาท เพื่อสร้างงานสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังมาแรง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนินทร์  สังขดวง หัวหน้าโครงการวิจัย มทร.ราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรังกล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความเชื่อของนักท่องและชาวบ้านว่า การไปเที่ยวที่บ่อน้ำพุเค็มร้อนแล้ว ก็จะมีการเอาโคลนมาพอกแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น แต่เป็นความเชื่อ ซึ่งด้วยงานวิจัย ต้องการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งความเชื่อกับความจริงบางทีมันสวนทางกัน เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านคิดดีกับสุขภาพจริงหรือไม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนินทร์   ระบุว่า สำหรับครั้งแรกที่ได้เริ่มต้นทำการวิจัย ได้รับโจทย์จากท่านรองอภิรักษ์ สงรักษ์ เลยมาดูว่าถ้าเชื่ออย่างนั้น เราขอเอาโคลนไปทดสอบก่อนว่า โคลนนี้มีโลหะที่เป็นอันตรายหรือไม่ เลยส่งตรวจหาโลหะ 4 ชนิด เช่นตะกั่ว แคสเมียม หรืออะไรก็ตาม ปรากฏว่ามาตรฐานของโคลนที่นี่ผ่านหมดเลย ไม่มีธาตุโลหะหนักทั้ง 4 ชนิดที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะก่อนหน้านี้เท่าที่คุยกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คุยกับ ม.อ และหน่วยงานที่ส่งตรวจ บอกไม่ต้องส่งมาเพราะโอกาสผ่านมันน้อยมาก แต่พอส่งไปปรากฎว่าผ่าน ซึ่งผลวิจัยชี้ชัดว่าโคลนที่นี่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งตนเองในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย จึงให้อาจารย์ทีมแพทย์แผนไทย ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยคิดมาได้ 3-4 ชนิด เป็นสบู่โคลน เจลอาบน้ำโคลน สปาโคลนและครีมขัดผิวโคลน ซึ่งถ้าเป็นการนวดเท้าหรือสปาโคลนคิดค่าบริการคนละ 300 บาท แต่ถ้านวดตัวคิดคนละ 400 บาท ซึ่งสปาที่นี่จะไม่เหมือนนวดที่อื่น เพราะเรามุ่งเน้นสปาโดยใช้ผลิตภัณฑ์โคลน เพราะดีกับสุขภาพผิวของเรา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านผวา! แจ้งตำรวจช่วย โจ๋ปาประทัดลูกบอล ยิงปืนทางเข้าชุมชน

พ.ต.อ.รักศักดิ์ เมฆจินดา ผกก.สภ.สำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากนายประเทศ เข็มนิล อายุ 65 ปี ชาว ตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (7) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี จ.ตรัง “ห่วงใย ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง สร้างสังคมพึ่งพิง ด้วยเงินวันละบาท”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ”