กสม.จี้ภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาชุมชมแออัดเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน

กสม.แจงปี 2564-65 มีเรื่องร้องเรียน 5 เรื่อง ปมคนจนเมืองในชุมชนแออัด จ.ภูเก็ต 20 แห่ง เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน

10 พ.ย.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 5 คำร้อง เกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในชุมชนแออัด 20 แห่งของจังหวัดภูเก็ต ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 2,400 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยและทำกินอยู่บนที่ดินของรัฐ ทำให้มีคู่กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ และต้องประสบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หลายชุมชนถูกไล่รื้อที่พักอาศัย และไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน สะพานฯลฯ ได้ หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงไฟฟ้าและประปาในอัตราสูงกว่าคนทั่วไปเนื่องด้วยเป็นผู้อาศัยในที่ดินของรัฐชั่วคราว คำร้องทั้งห้านี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

นายวสันต์กล่าวต่อว่า กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติรับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนได้ รวมทั้งการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร นอกจากนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ยังได้รับรองสิทธิของทุกคนในเรื่องการมีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐภาคีที่จะต้องจัดหาหรือให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ให้มีสิทธิเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการที่จะไม่ถูกขับไล่รื้อถอน ขู่เข็ญหรือคุกคามใด ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสจะต้องได้รับและมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรสำหรับที่อยู่อาศัยที่เพียงพออย่างยั่งยืน

กสม.รายนี้กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบคำร้องหลายกรณีในประเด็นการจัดระบบสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนในชุมชน เห็นว่า ประชาชนในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ โดยมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในเรื่องที่ดิน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้เสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าประชาชนจะมีสิทธิขอใช้สาธารณูปโภคจากรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา ด้วยเหตุนี้ การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจึงยังคงไม่เกิดขึ้นจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอนุญาตหรือจัดการปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินให้เป็นที่ยุติ ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ในแต่ละประเภทที่ดิน อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ แม้จากการตรวจสอบจะพบว่า หลายชุมชนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) ได้มีมติอนุญาตให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในเรื่องของการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็ยังคงปรากฏข้อจำกัดที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ยังคงยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่หวงห้ามของทางราชการอันเกิดจากการเข้าครอบครองโดยไม่มีเอกสารรับรองตามกฎหมาย จึงไม่สามารถบริการจำหน่ายไฟฟ้าให้ได้ตามระเบียบ ประกอบกับเหตุผลเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือป่าไม้ของทางราชการ ทำให้ประชาชนยังคงไม่มีสิทธิขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต ส่วนกรณีของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต แม้จะปรากฏว่าสามารถดำเนินการจัดให้มีบริการน้ำประปาได้ แต่ตามข้อบังคับของการประปาส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำในลักษณะที่แตกต่างกันจากประชาชนผู้ขอใช้น้ำทั่วไป กล่าวคือ ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว ต้องจ่ายค่าประกันการใช้น้ำในประเภทการใช้น้ำชั่วคราวในอัตราที่สูงกว่าปกติหลายเท่า ประชาชนในชุมชนแออัดของจังหวัดภูเก็ตตามกรณีที่ร้องเรียนมายัง กสม. นี้จึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่เพียงพอที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคจากการที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินโดยการได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงสาธารณูปโภค จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบางคำร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่คนจนเมืองในจังหวัดภูเก็ต จะอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาหรือมีการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่แล้ว หรือเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องคดีอยู่ในศาลหรือศาลมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้จังหวัดภูเก็ตประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคของประชาชนในชุมชนที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้วตามโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พร้อมกันนี้ ให้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนในชุมชนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทหรือการจัดสรรที่ดินด้วย และให้คณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค พิจารณาแก้ไขปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าประกันการใช้น้ำจากประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลและมีทะเบียนบ้านชั่วคราว โดยให้เรียกเก็บในอัตราเดียวกับผู้ขอใช้น้ำทั่วไป เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นภาระแก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้

2.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวนโยบายในภาพรวมโดยแยกระหว่างสิทธิในการจัดการที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เพื่อเป็นการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสามารถจัดทำระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ให้แก่ประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของรัฐได้ ในระหว่างการจัดสรรที่ดินหรือแก้ไขปัญหาข้อพิพาท โดยให้เร่งรัดการดำเนินงานในภาพรวมของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติรับทราบแนวทางและมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหา

และให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งรัดการดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินหรือที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในภาพรวมทั้งประเทศโดยเร็วและให้ชี้แจงหรือรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบเป็นระยะ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดภูเก็ต (คทช. จังหวัดภูเก็ต) พิจารณาคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนที่มีกรณีพิพาทบางแห่ง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน และร่วมกันดำเนินการจัดหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนชุมชนในพื้นที่พิพาท

ทั้งนี้ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายขอคืนพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ใช้ประโยชน์ของชุมชนบางแห่งตามคำร้อง โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฏิบัติการ 'สิงห์ทมิฬ' ทลายสินค้าเถื่อนเมืองภูเก็ต มูลค่าเสียหาย 500 ล้านบาท

กรมการปกครอง เปิดปฏิบัติการ "สิงห์ทมิฬ" นำหมายศาลบุกค้น ร้านขายบุหรี่เถื่อน เหล้าเถื่อน กลางเมืองภูเก็ต มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ลักลอบขนเข้าทางเรือ

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

พบแล้ว ร่างลูกเรือประมงพลัดตกน้ำใกล้เกาะมุก ไต๋เรือนำศพกลับขึ้นฝั่งที่ภูเก็ต

น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน ผอ.กองสารนิเทศ และโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค3) เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 09.43 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภูเก็ตได้รับแจ้งจาก เรือ พิชัยสมุทร 9 ประเภท อวนลากคู่

เกาะหูยง อุทยานฯสิมิลัน แหล่งอนุรักษ์เต่าทะเล เผยสถิติเต่าวางไข่กว่า 1 หมื่นฟองต่อปี

กองทัพเรือ ได้จัดทำโครงการ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามัน โดยมอบให้ ทัพเรือภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เมื่อปี 2538 ซึ่งกำหนดจุดอนุบาลเต่า ทะเลจำนวน 2 จุดพื้นที่แรกเป็นการอนุรักษ์เพราะฟักไข่เต่าในพื้นที่เกาะ

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง