ป.ป.ช.ตรัง ลุยตรวจโครงการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือตะเสะ พบล่าช้า ทรุดโทรมหนัก

ป.ป.ช.ตรัง ลงตรวจสอบโครงการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือตะเสะ พบว่าชำรุดทรุดโทรมหนัก ระบบไฟฟ้า น้ำประปายังไม่ได้ทำเรื่องอนุมัติขอใช้ แม้ว่าโครงการยังอยู่ในสัญญาแต่มีการตรวจรับงานเบิกจ่ายเงินไปแล้ว ทาง อบจ.ตรังยืนยันว่าสามารถดำเนินการปรับปรุงพร้อมเปิดใช้ภายใน 1 เดือน แต่ทางช่าง อบจ.แบ่งรับแบ่งสู้ขอรองบประมาณจาก อบจ.ตรัง เมื่อพร้อมก็ดำเนินงานต่อ

10 ก.ย. 2566 – นายบัญฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ชำนาญการพิเศษ นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผอ.กลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต ภาค 9 นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง และเครือข่ายชมรมตรังต้านโกง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ของ อบจ.ตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการสร้างท่าเทียบเรือตะเสะ หมู่ที่ 4 ต.ตะเสะ กิ่ง อ. หาดสำราญ จ. ตรัง ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง รวม 18,270,000 บาท แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ซึ่งการก่อสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าว ใช้งบประมาณโครงการพัฒนาสาขาการท่องเที่ยวฯ งบประมาณ พ.ศ.2545 ค่าก่อสร้าง 15,110,000 บาท ของหน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.) ซึ่งมีนายกิจ หลีกภัย ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังอยู่ในขณะนั้น ซึ่งการก่อสร้างในครั้งนั้นได้มีการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าท่าเรือดังกล่าวไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ น้ำไฟไม่มีใช้ และยังปล่อยให้อาคารสถานที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมา นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้ตั้งงบปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือตามแบบแปลนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ปีงบประมาณ 2565 ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 3,160,000 บาท จ่ายจากเงินรายได้ วันเริ่มประกัน 11 มีนาคม 2566 วันสิ้นสุดรับประกัน 10 มีนาคม 2568 ก่อสร้างโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัทรจักขณ์ อันดามัน ผู้ควบคุมงาน นายรัฐวุฒิ คงแก้ว และนายชุบณัฏฐ์ แก่นอิน

ซึ่งจากการลงพื้นที่ครั้งนี้จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า ศาลาบริเวณท่าเรือใช้โครงสร้างเดิมปรับปรุงในส่วนของหลังคา ในส่วนของไฟฟ้ามีการเดินสายเรียบร้อยแต่ปรากฏว่ากล่องควบคุมไฟใช้กล่องสังกะสีทำให้ขึ้นสนิมเกาะแล้ว ขณะที่ชายคามีการแตกร้าวหักหลุดร่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากที่ชาวบ้านบรรทุกของที่สูง หรือหลังคารถไปกระแทกจนทำให้หักหลุดร่วงลงมา

บริเวณด้านหน้าก่อนเข้าท่าเทียบเรือ มีการสร้างห้องน้ำจำนวน 1 หลัง โดยลักษณะเป็น 2 โซน ห้องน้ำโซนละ 2 ห้องหันหลังเขาหากัน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกปิดด้วยกุญแจทั้ง 4 ห้อง เมื่อเปิดดูพบว่าภายในห้องน้ำสกปรก มีคราบเกราะกรัง ราวตากผ้าชำรุดหลุดหายไป ก๊อกน้ำหลวมหมุนได้รอบ อ่างสำหรับล้างมืออยู่ตรงข้ามหน้าห้องน้ำ โซนละ 3 อ่าง มีทรายจำนวนมากลงไปอยู่ในอ่าง ก๊อกน้ำหลวมหมุนได้รอบ บนพื้นมีทรายจำนวนมากมากองเต็มพื้น ส่วนด้านหลังจะเป็นโถสำหรับปัสสาวะของผู้ชาย จำนวน 3 โถ ซึ่งยังไม่มีการเปิดใช้ เพราะยังไม่มีระบบประปาและไฟฟ้า ส่วนฝาผนังห้องน้ำมีการแตกร้าวหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่น ๆ เมื่อใช้นิ้วเคาะจะมีเสียงแสดงถึงความไม่แน่นของพื้นผิว พื้นบริเวณชายคาแตกร้าว
นายธนิต ชูเพ็ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทางฝ่ายบริหารก็กำชับมาโดยตลอดว่าให้ผู้รับเหมาทำงานให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งในการมาตรวจสอบครั้งนี้คืองานยังไม่แล้วเสร็จยังขาดอยู่หลายประการ เช่น กระแสไฟฟ้าที่จะปล่อยให้ชาวบ้านยังปล่อยไม่ได้เพราะต้องสร้างหม้อแปลงมาเอง และน้ำประปายังปล่อยไม่ได้เพราะยังไม่แล้วเสร็จ ก็คาดว่าประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้จะได้มาทำการเปิดเพื่อให้ชาวบ้าน แต่ที่สำคัญต้องมีเจ้าหน้าที่ของ อบจ.ตรัง อย่างน้อย 1 คนต้องมาดูทรัพย์สินว่ามีการเข้ามาทำลายทรัพย์สินหรือไม่ เช่น มีการนำเอาทรายมาใส่อ่างล้างหน้า ส่ว

ประเด็นที่เจอ คือผู้รับเหมาทำงานไปเช่นฝาผนังดูไม่เรียบร้อยต้องให้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งช่างที่มาจาก อบจ. ก็รับปากจะประสานผู้รับเหมาจะไปทำการปรับปรุงให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด และซึ่งทาง ป.ป.ช.ที่ได้รับการร้องเรียนไปจากประชาชนมาดูแล้วก็เน้นย้ำให้มาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทาง อบจ.ตรังก็รับไปแก้ไขซึ่งอยู่ในช่วงสัญญา 2 ปี คาดว่าท่าเรือแห่งนี้ใช้เวลาอีก 1 เดือนสามารถเปิดใช้ได้อย่างถาวร มีคุณค่า สามารถรองรับประชาชน นักท่องเที่ยวเป็นท่าเรือพานิชให้ได้ ซึ่งตามนโยบายจะมีงบประมาณมาเพิ่มอีกเล็กน้อย ซึ่งส่วนไหนที่ดูไม่เรียบร้อยทาง อบจ.ตรังมีเครื่องจักรกลอยู่ก็มาทำให้เรียบร้อย

ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า จากโครงการปรับปรุงท่าเรือตะเสะ สำหรับพี่น้องที่จะลงไปยังเกาะสุกรซึ่งเป็นที่ใช้สัญจรสำคัญที่ปล่อยปละละเลยทิ้งรกร้างมานาน ทาง อบจ.เข้ามาซ่อมแซมปรับปรุงถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จากการที่ลงพื้นที่มาดูจากที่ชาวบ้านร้องเรียนมายังชมรมฯ และ ป.ป.ช.ตรัง ประเด็นปัญหาพบว่า อบจ.ปรับปรุงซ่อมแซมไปเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของอาคารห้องน้ำสาธารณะ อาคารศาลาที่พักสำหรับผู้ที่จะรอขึ้นเรือลงเรือ แต่ปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนมาคือไม่ได้ใช้ประโยชน์แม้ว่าจะมีการส่งมอบเนื้องานตั้งแต่ มีนาคม 2566 ระยะเวลา 6 เดือนแล้ว ห้องน้ำยังไม่เปิดให้ใช้ได้ เนื่องจากไม่มีน้ำ และอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งทาง อบจ.ได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างทั้งในตัวศาลาที่พัก และพื้นผิวตัวสะพานแต่ยังไม่สามารถเปิดให้พี่น้องประชาชนใช้ได้ จึงทำให้การเดินทางของพี่น้องประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ ชาวบ้านบนเกาะสุกรมีจำนวน 4,000 กว่าคน ที่ต้องเดินทางขึ้นลง จึงฝากไปยัง อบจ.รีบเร่งในการแก้ปัญหา

ซึ่งเท่าที่ดูอยู่เรื่องการปรับปรุงแก้ไขระยะเวลาไม่ถึงเดือนแล้ว แต่ทาง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังในพื้นที่ ให้คำตอบว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน อันนี้สมาชิกฯเองคงเข้าไปอภิปรายประชุมในสภาฯ แต่จะได้เงินมาใช้เร็วแค่ไหนอย่างไรนั้นตนก็ไม่แน่ใจ เพราะมองว่าโครงการนี้การปรับปรุงแก้ไขต้องทำควบคู่กันไปกับการขอหม้อแปลงไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้า มิเตอร์น้ำประปา แต่พอมีการก่อสร้างแล้วเสร็จมีการส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่งได้ติดตั้งหม้อแปลงเดือนมิถุนายน แต่มิเตอร์ไฟฟ้า มิเตอร์ประปายังไม่ได้ดำเนินการ ในส่วนที่ชำรุดหรือมีปัญหาในการก่อสร้างก็ต้องเรียกช่างผู้รับเหมามาแก้ไขซึ่งก็ต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีกซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันหรือไม่ สำหรับการนำวัสดุอุปกรณ์บางส่วนมาใช้ไม่ทนต่อความเค็มของไอน้ำทะเล เช่น กล่องไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ที่เป็นแผงไฟฟ้า ส่วนนี้ก็ชำรุดทรุดโทรม รวมถึงส่วนที่เป็นเหล็กของห้องน้ำก็ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม ฝาก อบจ.รีบทำให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคมเพื่อต้อนรับการฤดูท่องเที่ยวก็จะเป็นการดี

ทางด้าน นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า จากการที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเรื่องการซ่อมแซมท่าเรือตะเสะที่ก่อสร้างเสร็จแล้วไม่กี่เดือนจะปล่อยทิ้งร่างอีกแล้วหรือซึ่งก่อนหน้านี้ท่าเรือเก่าสร้างไป 10 กว่าล้านปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งงานนี้สร้างเสร็จไม่กี่เดือนปล่อยทิ้งร้างอีกแล้ว ซึ่งทาง ป.ป.ช.ลงตรวจสอบก็พบข้อเท็จจริงตามที่ชาวบ้านให้ข้อมูลมาว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถเปิดใช้งานหรือให้ประชาชนใช้เป็นสาธารณะได้ รวมถึงระบบไฟ ระบบน้ำก็ยังไม่มี แต่จากการสอบถามเบื้องต้นมีการเบิกจ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อสังเกตก็มีหลายประการ ต้องตรวจสอบตั้งแต่ประเด็นแรก การออกแบบเป็นไปตามวิศวกรรมหรือไม่ เป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวติดริมทะเล อุปกรณ์วัสดุบางอย่างยังไม่เปิดใช้แต่ชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นสนิมไม่สามารถใช้งานได้แล้ว อย่ามาอ้างว่าอยู่ในระยะประกันคงไม่ได้ ต้องตรวจสอบคู่สัญญาว่ามีอาชีพจริงหรือไม่ มีนอมินีหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปรับทรัพย์สินมาหรือไม่ จึงทำให้งานออกมามีคุณภาพด้อยไม่ได้มาตรฐาน ตรวจสอบเรื่องการควบคุมงาน การตรวจรับงานว่าเป็นไปตามรูปแบบตรวจรับงานหรือไม่ เพื่อที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ถ้าไม่มีทาง ป.ป.ช.จะประสานไปยัง สตง.ว่าโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ คุ้มค่า หรือไม่ ซึ่งทั้งนี้เบื้องต้นทาง อบจ.ประสานไปยังคู่สัญญาหรือผู้รับจ้างให้ดำเนินการถูกต้องเรียบร้อยและประสานเรื่องการขอใช้น้ำใช้ไฟ หลังจากนั้นทาง อบจ.ตรังต้องดำเนินการต่อว่าจะดำเนินการเองหรือถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น อบต.มาดูแลแทนจะดีหรือไม่อย่างไร ก็เป็นอำนาจของ อบจ.ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป.ป.ช.ตรัง ลุยตรวจพญานาคโผล่หอนาฬิกากลางเมือง โดนวิจารณ์ขรมใช้งบ 1 แสนไม่คุ้มค่า

ปปช.ตรัง ลงตรวจสอบพญานาคเจ้าปัญหาหลังได้รับการร้องเรียนและกระแสเชียลวิพากษ์วิจารณ์สนั่น ใช้งบกว่า 1 แสน สร้างไม่เหมาะสมกับหน้าตา บนหอนาฬิกาที่ถือว่าเป็นจุดแลนมาร์คสำคัญเมืองตรัง

ทิ้งงาน! สร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ งบ 34 ล้าน

นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วย นายธวัช องศารา ผอ.ส่วนควบคุมการก่อสร้างอาคารและผังเมือง เทศบาลนครตรัง