ปมร้อน “บิ๊กตู่” เตรียมรับมือ สนามการเมืองหลังสงกรานต์

นับถอยหลังเดือนเมษาฯ ก่อนก้าวสู่เดือนพฤษภาคมที่ร้อนระอุมากกว่าหลายเท่า เมื่อสนามการเมืองขยับกันถ้วนหน้า ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตั้งรับ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป มีไทม์ไลน์สนามการเมืองและงานสำคัญๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญไปจนถึงปลายปี 

ประเดิมด้วยศึกซักฟอกที่กำลังจะเกิดขึ้น จากการเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม ถึงวันที่ 18 กันยายน 2565 ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 

ซึ่งรอบนี้ฝ่ายค้านประกาศเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 มาเป็นอย่างดี โดยจะยื่นอภิปรายทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุม ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณ กฎหมายลูก วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ความล้มเหลวต่างๆ ที่พร้อมจะยกขึ้นมาซักฟอกรัฐบาลได้ทุกเมื่อ พร้อมวางตัวผู้อภิปรายที่อาจใช้คนไม่มาก แต่ขู่ว่ารอบนี้เลือกคนที่มีทักษะขั้นสูงมาขึ้นซักฟอกรัฐบาลด้วย 

การรับศึกซักฟอกรอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งเกิดแรงกระเพื่อมภายในรัฐบาลไม่น้อย และครั้งนี้ถือเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลก่อนครบวาระ จึงเชื่อว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่บีบรัดให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหนักใจมากกว่าทุกครั้ง 

นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังตรงกับวันครบรอบ “รัฐประหาร” 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย หลังเกิดวิกฤตการเมืองเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และอิทธิพลของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการเมืองไทย 

จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และวันที่ 21 สิงหาคม2557 สภาฯ มีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งในห้วงดังกล่าวต้องจับตาการเคลื่อนไหวของนักประชาธิปไตย และกลุ่มต่างๆ ที่อาจโหนกระแสรวบตึงรัฐบาล ผสมโรงไปกับเวทีสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นได้

นอกจากนี้ วันที่ 22 พฤษภาคม ยังเป็นวันเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่ขณะนี้เริ่มตีกลองลงสนามโกยคะแนนเสียงกันแล้ว ซึ่งรอบนี้คาดว่าประชาชนจะมีความตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันคึกคัก หลังว่างเว้นการมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมานานถึง 9 ปี อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายจับตาการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนี้ว่าแฝงโฆษณาเชียร์ผู้สมัครคนใดหรือไม่ และแน่นอนว่าศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ จะฉายภาพชัดของการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงภาพการเมืองใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย 

ขณะที่ในปี 2565 ยังมีอีกงานใหญ่ที่ทุกคนจับตา คือประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC 2022) และมีการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี โดย พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าจะสามารถนำทัพคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่จนครบวาระถึงการจัดประชุมดังกล่าวได้ 

สำหรับไทม์ไลน์ในห้วงการประชุมเอเปกนี้ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว และการประชุมถัดไปที่สำคัญๆ เช่น วันที่ 9-19 พฤษภาคม การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 2 (SOM 2) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ วันที่ 21-22 พฤษภาคม การประชุมรัฐมนตรีด้านการค้า (MRT) ที่กรุงเทพฯ วันที่ 7-21 สิงหาคม การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 3 (SOM 3) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่เชียงใหม่ 

วันที่ 14-20 สิงหาคม การประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 11 (TMM) และการประชุมคณะทำงานการท่องเที่ยวเอเปก ครั้งที่ 60 (TWG) ที่กรุงเทพฯ วันที่ 19-21 ตุลาคม การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปก (FMM) ผ่านระบบออนไลน์ จากนั้นวันที่ 14-19 พฤศจิกายน สัปดาห์ผู้นำเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Week : AELW) ที่กรุงเทพฯ และวันที่ 18-19 พฤศจิกายน การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้ต้อนรับบรรดาผู้นำนานาประเทศอย่างสมเกียรติ

นอกจากนี้ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมเอเปก ยังเป็นช่วงเดียวกับที่ไทยได้รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค (BIMSTEC) ในปี 2565 ต่อจากศรีลังกา โดยผู้นำของประเทศสมาชิกบิมสเทค ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย 

ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ไทยอยู่ในฐานะผู้นำที่ควบคุมทิศทางของกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 กรอบ จึงเป็นอีกงานใหญ่ที่ท้าทายความสามารถของผู้นำรัฐบาล ก่อนจะครบวาระตามกฎหมาย ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้

 คงต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะฝ่าฟันฝากหนามและมรสุมไปได้อย่างราบรื่นจนครบเทอมหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง