ม็อบการเมืองจุดติด-ไม่ติด อยู่ที่พฤติกรรม การกระทำ ผู้นำประเทศ-พรรคร่วมรัฐบาล

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อศุกร์ที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีการตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา หลังตั้งแท่นมาหลายสัปดาห์ว่าจะตั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไม่คลอดออกมา แม้ก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลบอกว่าน่าจะได้รายชื่อและตั้งกรรมการฯ ได้ภายในไม่เกินกลางเดือน พ.ย.ด้วยซ้ำ 

เมื่อยังไม่มีการตั้ง JTC ก็ทำให้การที่จะไปเจรจา-ทำข้อตกลงกับกัมพูชาในเรื่อง พื้นที่อ้างสิทธิ ไทย-กัมพูชา เพื่อสุดท้ายจะได้หาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการเดินหน้าเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU 2544 ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในเชิงรูปธรรม

แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย รวมถึงตัวทักษิณ ชินวัตร ให้ความเห็นว่า ต้องดำเนินการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศในระยะยาว รวมถึงเพื่อลดต้นทุนการผลิต-ต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานของภาคธุรกิจและประชาชน และหารายได้ใหม่เข้าประเทศ หลังมีการประเมินว่าผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าร่วม 10 ล้านล้านบาท

จนเรื่องดังกล่าวถูกเขียนไว้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

นอกเหนือจากที่รัฐบาลต้องให้กรรมการ JTC ทำหน้าที่หลักในฐานะกรรมการฯ ในการเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 แล้ว รัฐบาลก็คงต้องการให้ JTC ที่จะมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทำหน้าที่เสมือน ด่านกันชน ให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ในการเป็นตัวกลางรับหน้าเสื่อพูดคุย-เจรจา-รับข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวหรือมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลในเรื่องการเจรจากับกัมพูชาเรื่อง พื้นที่อ้างสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการออกมาแล้วหลายกลุ่ม ทั้งเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง

อาทิ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี พร้อมแนวร่วมกลุ่มคนคลั่งชาติ นำรายชื่อประชาชน 104,697 รายชื่อ ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ปี 2544

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 2.สนับสนุนการเจรจาแต่ต้องอยู่ในบนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เหมือนกัน 3.ผู้ใหญ่ที่เคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ และเจรจาเรื่องทางทะเล ฝากมาว่าอย่านำไปสู่การแบ่งผลประโยชน์ด้วยการขุดพลังงานทางทะเล เพราะจะทำให้ไทยเสียดินแดนทางทะเล หรือการเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยเป็นประธาน JTC มาก่อน ก็เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเข้มข้น ภายใต้ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. ก็ส่งสองหัวหอกหลักที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อเนื่องออกมาแถลงอีกรอบ นั่นก็คือ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตนักวิชาการอิสระที่ติดตามเรื่องพลังงานและ MOU 44 มาต่อเนื่องหลายปี ที่เปิดแถลงข่าวเรื่องนี้ร่วมกันอีกรอบ

โดย ธีระชัย ตอกหมุดย้ำว่า แถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย.2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จฮุน เซน นั้น มีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ยังมีเอกสารวิชาการที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศในช่วงดังกล่าว ยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย จึงเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น และน่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถลงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคล-พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหว-เรียกร้อง-แสดงความเห็นเรื่อง MOU 44 และปมปัญหาพื้นที่อ้าวสิทธิไทย-กัมพูชา ที่ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยดูจะหวั่นไหวทางการเมืองขึ้นมาทันที ก็คือ

กลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ-เสื้อเหลือง

ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสั่นคลอนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตอนช่วงปี 2548-2549 ที่เกิดเป็นม็อบเสื้อเหลือง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากหอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สวนลุมพินี ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล จนสุดท้ายมาเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก่อนหน้าการนัดชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ เพียงวันเดียว รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งของกลุ่มสนธิในช่วงรัฐบาลนอมินี สมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กลายเป็นม็อบแรกทางการเมืองที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล จนทำให้สมชาย น้องเขยทักษิณ กลายเป็นนายกฯ คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นนายกฯ แล้วไม่เคยได้เข้าทำเนียบรัฐบาลตอนเป็นนายกฯ

จนสุดท้าย รัฐบาลสมชายก็สิ้นสภาพจากผลคำตัดสินของศาล รธน.ในคดียุบพรรคพลังประชาชน และทำให้การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยุติลงทันที

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธิจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย ย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเพื่อไทยในยุคที่ลูกสาวทักษิณ-แพทองธาร เป็นนายกฯ

แม้ในความเป็นจริงจะพบว่า บริบทการเมืองไทยยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ของแบบนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนย่อมไม่อยากให้มีม็อบการเมืองเกิดขึ้นกับรัฐบาลตัวเอง

ดังนั้น การไม่มีม็อบการเมืองที่มีข้อเรียกร้องในเชิงอยู่คนละฝั่งกับการทำงานหรือแนวทางของรัฐบาลเกิดขึ้นเลย จึงเป็นเรื่องที่คนในรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย ต้องการมากที่สุด เพื่อต้องการประคองเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่ได้ยาวนานที่สุดนั่นเอง

เมื่อตอนนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศว่า วันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. จะเดินทางไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ยกเลิก MOU 2544 ด้วยเหตุผลว่า หากยังคงไว้แล้วไปเจรจากับกัมพูชา สุดท้ายเป็นห่วงว่าไทยจะสูญเสียอธิปไตยในอนาคต

“ผมไม่ได้บอกว่านำมวลชน แต่บอกสถานการณ์สุกงอมแล้ว ซึ่งคอยดูสถานการณ์ MOU 44 ที่ผมจะไปยื่นไม่ใช่ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คือหนังสือกล่าวหาไม่ใช่ร้องเรียน กล่าวหาพวกคุณว่ากำลังขายชาติขายแผ่นดินด้วย ถ้าผิดปกติเมื่อไหร่ นั่นคือการออกถนนของผม" สนธิกล่าว

มันจึงทำให้คนในฝ่ายเพื่อไทยดาหน้าออกมาดักคอการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธิอย่างพร้อมเพรียง เพราะแม้การเคลื่อนไหวของสนธิรอบนี้ไม่ได้มีการนัดชุมนุม ไม่มีการบอกให้คนที่เห็นด้วยกับแนวทางของตัวเองเตรียมปักหลักพักค้าง แต่มันก็คงย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยอดหวั่นใจไม่ได้ว่า ไม่ชุมนุมตอนนี้ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม

เหตุเพราะต้องไม่ลืมว่า ม็อบสนธิเคยออกมาเคลื่อนไหวปักหลักพักค้างข้างทำเนียบรัฐบาลตรงแถวหน้าถนนราชดำเนินใน หน้ากระทรวงศึกษาธิการ-ข้างๆ ตึกยูเอ็น ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องเวลานั้นก็คือ ให้ยกเลิก MOU 44 และต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก และให้กระทรวงการต่างประเทศไปศึกษากระบวนการ แต่สุดท้ายด้วยสถานการณ์การเมืองช่วงนั้นที่มีม็อบเสื้อแดงชุมนุมต่อเนื่องในปี 2552-2553

ผนวกกับแรงกดดันทางการเมืองหลายอย่างในช่วงนั้น จนสุดท้าย อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งปี 2554

ดังนั้น ข้อเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิก MOU 44 จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มสนธิเคยเคลื่อนไหวมาก่อนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่

เพียงแต่ว่าตอนนั้น ด้วยสถานการณ์หลายอย่าง เช่น ประเด็นที่เรียกร้องคือ MOU เป็นเรื่องที่เข้าใจยากในการสื่อสารปลุกเร้ามวลชนให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวแบบยาวนาน แม้แต่กับปัจจุบันก็ตามที ว่ากันตามจริง ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่อง MOU 44 กันเท่าใดนัก

ผนวกกับกลุ่มเสื้อเหลืองเวลานั้น ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่อต้านไม่เอาเสื้อแดง นปช. ที่กำลังไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่งผลให้ม็อบสนธิเวลานั้นขาดแนวร่วมอย่างมาก จนทุกวันนี้หลายคนเลยลืมไปแล้วว่าม็อบสนธิเคยออกมาชุมนุมเรื่อง MOU 44 มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาคิดเคลื่อนไหวในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

กระนั้น หากรัฐบาลแพทองธาร ยังไม่ขยับอะไรในเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งพลังงานกับฮุน เซ็น-กัมพูชา และใช้วิธีให้กรรมการ JTC ที่จะตั้งขึ้นคอยรับหน้าเสื่อกับกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง MOU 44 แทนรัฐบาลไปพลางก่อน โดยเน้นวิธีเปิดห้องพูดคุย-รับข้อเสนอต่างๆ มันก็คงทำให้การจะนำประเด็นเรื่อง MOU 44-ประเทศ สุ่มเสี่ยงอาจเสียอธิปไตยทางทะเลใต้ เกาะกูด เพื่อสร้างกระแสนัดรวมพล-ก่อม็อบก็คงยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่เกิดเหตุให้เป็นชนวนที่ประชาชนไม่พอใจหรือคลางแคลงใจรัฐบาลได้

ซึ่งจุดนี้ อยู่ที่ตัวทักษิณ-แพทองธาร-พรรคเพื่อไทยเองว่า หากรัฐบาลจะมีการเจรจาต่อรองกับกัมพูชาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิ ก็ต้องทำโดยโปร่งใส ยึดเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และต้องไม่ทำให้เกิดข้อครหาทางการเมืองว่า ฝ่ายการเมือง-กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ทางธุรกิจพลังงาน แต่ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเสียหายตามมาในอนาคต

ไม่เช่นนั้น สุดท้ายประวัติศาสตร์การเมืองอาจซ้ำรอยผู้นำประเทศตระกูล "ชินวัตร” เสี่ยงอยู่ไม่ครบเทอม และจบไม่สวย!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แค่เทคนิคหาเสียง! 'ทักษิณ' ปราศรัยศรีสะเกษ พล่ามอีกไล่หนูตีงูเห่า

นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยต่อที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย (ลานกีฬาผู้ใหญ่เฮง) อ.อุทุมพรพิสัย เพื่อช่วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยหาเสียงต่อ โดยยังคงมีประชาชนรอฟังการปราศรัยจำนวนมาก 

'ทักษิณ' คุยซื้อแมนซิตี้แก้เหงา อยากอยู่เงียบๆ ไม่ยุ่งการเมือง หลังโดนปฏิวัติ

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบนักฟุตบอลสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ เล่าย้อนอดีตว่า ตนเองเคยเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เล่นกีฬาทุกอย่าง พอตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาเราก็ส่งเสริมสปีตซ้อกเกอร์ แบบประเทศบราซิล

นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ขยับแล้ว หลังส่งเวชระเบียนทักษิณนอนชั้น 14 แค่บางส่วน

พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจแพทยสภา ที่มี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบฯ ขอเวชระเบียนการรักษาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

'ทักษิณ' มองสูสี 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' ชิงนายก อบจ.ศรีสะเกษ พรรคส้มแค่ไม้ประดับ

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นปราศรัยเวทีแรกที่อ.กันทรลักษ์ เพื่อช่วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายกอบจ. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย(พท.)หาเสียง ว่า การลงพื้นที่วันนี้อาจจะแหบแห้งไปหน่อย