ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสีน้ำเงิน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีกำหนดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 6 มี.ค.2568 ที่จะหาบทสรุปว่าจะรับคดีการฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่ายได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมือง ที่ส่งสัญญาณถึงความแตกหักที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
จุดเริ่มต้นเริ่มต้นที่ดีเอสไอรับเรื่องจาก กลุ่ม สว.เพื่อประชาชน (สว.) ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าร้องต่อดีเอสไอให้รับคดีฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทั้ง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงมารับเรื่องด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กคพ.แล้ว แต่ติดปัญหาคือเรื่องนี้ยังไม่ผ่านชั้นอนุกรรมการ ซึ่งในที่ประชุมมองว่าไม่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการมองว่าจึงต้องผ่านชั้นอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ดีเอสไอ และจะต้องมีการเชิญ กกต.มาชี้แจงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ในวันที่ 6 มี.ค.2568
สำหรับชั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ก) - (จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ส่วนหาก บอร์ด กคพ. จะมีมติเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของบอร์ด
อีกประเด็นที่จับตามองก่อนหน้านี้คือ การเชิญ กกต. เข้าร่วมในที่ประชุมเพื่อชี้แจงประเด็นการฮั้ว สว. มีการระบุอย่างชัดเจนจาก กกต.แล้วว่า กกต.จะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับ กคพ. ในวันที่ 6 มี.ค.2568 แต่จะส่งหนังสือตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรา 49 และประเด็นที่เกี่ยวข้องแทน กกต.มองว่าได้แนวทางคำตอบที่ชัดเจนแล้ว และการส่งผู้แทนไปร่วมประชุมอาจทำให้คำตอบไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ทาง บอร์ด กคพ. ยืนยันว่า ต่อให้ กกต. ไม่เข้าร่วมหารือ จะไม่ส่งผลต่อการประชุมในวันที่ 6 มี.ค.2568 เพราะท้ายที่สุดแล้วกรรมการก็จะมีการพิจารณาด้วยข้อมูลที่มีต่อไปได้ ส่วนทาง กกต.ก็คงไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนมาร่วมประชุมกับบอร์ด เนื่องด้วยโครงสร้างบอร์ด กคพ.ไม่ได้มีสัดส่วนของ กกต.อยู่ในฐานะกรรมการ แต่เพียงแค่ครั้งนี้มีความประสงค์เชิญ กกต. มาร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเด็นมีความกระจ่างขึ้นเท่านั้น
สำหรับหนังสือของดีเอสไอที่เข้าหารือถึงแนวทางการตอบคำถามที่ได้ถามสำนักงาน กกต.ใน 2 คำถาม และในหนังสือระบุว่า ขอให้ส่งเลขาธิการ กกต. หรือผู้แทน กกต.มาตอบคำถามเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมาย และการดำเนินการตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ในการประชุมกับคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ พบว่ารายละเอียดภายในหนังสือตอบกลับของ กกต. สรุปใจความสำคัญได้ว่า ให้หน่วยงานสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานได้ ไม่มีความจำเป็นต้องรอทาง กกต. เพราะกฎหมายของ กกต.ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษทันทีโดยที่ไม่มีการเลื่อนนัด ท่ามกลางกระแสคุกรุ่นทางการเมืองระหว่าง สว.สีน้ำเงิน และ ดีเอสไอ ที่หลายยุคหลายสมัยถูกมองว่าเป็นองค์กรเพื่อการเมือง โดย สว.สีน้ำเงินมีแผนการหลายอย่างในการตอบโต้การทำงานของดีเอสไอ
ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์ โดย สว.สีน้ำเงินใช้เวทีการประชุมวุฒิสภาเพื่ออภิปรายการทำงานของดีเอสไออย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่าดีเอสไอพยายามก้าวก่ายการเมืองและล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
รวมถึงการที่ สว.สีน้ำเงินเสนอญัตติเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาเรื่องกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายของดีเอสไอ
การโต้กลับข้อกล่าวหา สว.สีน้ำเงินโต้กลับว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีดีเอสไอร่วมกันแถลงข่าว จงใจกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าการได้มาดังกล่าว มี การฮั้ว เป็นอั้งยี่ และกระทำผิดฟอกเงิน มีความผิดความมั่นคงของชาติ สว.ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ว่าได้รับตำแหน่งมาโดยไม่ชอบ ทำโดยการสมยอมรวมหัวกัน เพื่อให้ได้เป็น สว.โดยไม่สุจริตและโปร่งใส เป็นการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งฝ่ายกฎหมายวุฒิสภากำลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นับเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง ดีเอสไอและ สว.สีน้ำเงิน ที่สะท้อนถึงความตึงเครียดทางการเมืองไทยในปัจจุบัน
แล้วยิ่งเพิ่มสัญญาณส่อเดือด เมื่อ กกต. ที่มีท่าทีแข็งเรื่องฮั้ว สว. จะสอบเอง ไม่ให้ คดีพิเศษสอบ เข้ามายุ่มย่าม และน่าจะทำให้การประชุมวันที่ 6 มี.ค.จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางของการลากเข้าวงขัดแย้งระหว่าง "สว.สีน้ำเงิน" และ "ดีเอสไอ" ที่แทบจะเรียกได้ว่า เป็น มือไม้ ให้กับรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้านี้ ได้มีมุมมองประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ และ กกต. “บอร์ดคดีพิเศษ” โดย นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กฎหมายเปิดช่องให้ดีเอสไอรับคดีอาญาได้ทุกคดี ผ่านมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ แต่ปัญหาอยู่ที่ กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.โดยตรง
“รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายข้างมากหรือฝ่ายข้างน้อย เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง”
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่า กกต.ได้รับอำนาจให้จัดการเลือกตั้งโดยอิสระ หากไม่มีความเป็นกลาง การแข่งขันทางการเมืองจะไม่เป็นธรรม และอาจ กระทบต่อคุณภาพของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ
ทั้งนี้ นายจรัญ ชี้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน ในมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ว่าความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องอยู่ภายใต้การดำเนินการของ กกต.
“ถ้ามีการจ่ายเงิน จ่ายทอง วางระบบฮั้วกัน ถือเป็นความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งต้องอยู่ในอำนาจของ กกต.”
อย่างไรก็ตาม ประชาชนมองว่าการเลือก สว.ครั้งนี้มีปัญหา และเมื่อ กกต.ใช้เวลานานโดยไม่มีความคืบหน้า จึงเกิดแรงกดดันให้มีผู้ร้องเรียนไปที่ดีเอสไอ
นายจรัญตั้งข้อสังเกตว่า ดีเอสไอไม่สามารถรับทำคดีนี้ได้เอง เพราะเป็นความผิดที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในอำนาจของ กกต. ซึ่งหากมีเรื่องฟอกเงิน ก็ต้องให้ กกต.ตรวจสอบก่อน แล้วจึงส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
"ดีเอสไอตั้งข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร ว่าเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายทั่วไป ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเหตุผลในการรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษได้ แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่ทรงอำนาจมาก มีอำนาจมากกว่าตำรวจ และที่สำคัญ ดีเอสไออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารผ่านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นสายตรงของคณะรัฐมนตรี”
นายจรัญเตือนด้วยว่า หากปล่อยให้ดีเอสไอเป็นตัวหลักในการทำคดี และแยกความผิดเลือกตั้งออกจากข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร อาจทำให้ดีเอสไอกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
“ถ้ารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่เรื่อง สว. แต่รวมถึงการเลือกตั้ง สส.และประชามติ ฝ่ายการเมืองที่กุมอำนาจรัฐอยู่ก็จะใช้ดีเอสไอรับทำคดีเลือกตั้งได้ทุกประเภท”
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ทางออกความตึงเครียดเรื่องนี้ด้วยว่า “อยากให้ 2 หน่วยงานหารือกัน กกต.ทำหน้าที่ของตนเอง ส่วนดีเอสไอมีข้อมูลอะไรก็ส่งให้ ไม่ใช่ให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตี”
โดยย้ำว่า "กรรมการบอร์ดคดีพิเศษควรพิจารณาอย่างรอบคอบในวันที่ 6 มีนาคม เพราะหากลงมติรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเท่ากับหัก กกต. แย่งชิงบทบาท ซึ่งวิกฤตการณ์บางอย่างอาจจะรออยู่เบื้องหน้าก็ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดีเอสไอ' หิ้ว 3 นอมินี บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ ฝากขัง ก่อนศาลให้ประกันคนละ 3 แสน
พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ควบคุมตัวนายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ และนายโสภณ มีชัย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว
'ดีเอสไอ' เค้นสอบนาน 10 ชั่วโมง 3 คนไทย 'นอมินี' ถือหุ้น บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ
“ดีเอสไอ" หิ้ว ”3 นอมินีคนไทย บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ” ฝากขังศาลอาญา หลังสอบเดือด 10 ชม. ทั้งหมดล้วนปัดความร่วมมือให้ปากคำ บางช่วงบางตอนงงคำถาม ต้องให้ทนายช่วยอธิบาย ขณะที่ “โสภณ มีชัย“ ผู้ถือหุ้น บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ กว่า
ระทึก! 'ทวี' เผยคดีฟอกเงิน 'ฮั้วเลือกสว.' คืบหน้ามาก คาด DSI สรุปสำนวนจะส่งฟ้อง จับกุม หรือไม่สิ้นเดือนนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ในส่วนของคดีฟอกเงิน ที่อ
เขย่าเก้าอี้-ปล่อยสูตร ครม. คนใน (พท.) อยากปรับ สลับคนต่อแถว
กระแสข่าว ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถูกลือรายวัน แม้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันหลายครั้งว่ายังไม่ปรับ
ไชน่าฯอ้างรัฐบาลจีน ส่งมาลงทุนจ่าย120ล.เยียวยา ศาลให้ประกัน‘ชวนหลิง จาง’
“ดีเอสไอ” คุมตัว “ชวนหลิง จาง” ฝากขังผัดแรก ไม่คัดค้านประกันเหตุจำคุกแค่ 3 ปี
เปิดพฤติการณ์ 3 คนไทย 'นอมินี' บ.ไชน่าเรลเวย์ฯ พบเป็นอดีตคนขับรถ-ยกของ
ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.เนรัญชรา กอมะณี พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำตัวนายชวนหลิง จาง อายุ 42 ปี ชาวจีน ผู้ต้องหาในข้อหา