เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลพยายามอธิบายเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับคืนให้ทางการจีน คือ “แรงบีบจากจีน” ที่ส่ง “diplomatic note” ซึ่งเป็นเอกสารการทูตระหว่างประเทศในการให้ไทยส่งตัวอุยกูร์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทยกลับประเทศในฐานะประชากรของเขา เป็นการตอกย้ำหลังจากผู้นำไทยและผู้นำจีนได้หารือกันด้วยวาจามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการตัดสินใจดังกล่าว รัฐบาล ย้ำว่า เป็นการตัดสินใจที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย
"ผมเคยพูดกับทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เราเก็บเอาไว้ก็ผิด ส่วนส่งต่อประเทศที่สาม หากมีใครรับก็ดี แต่ก็ไม่เคยมี เพียงแต่พูดว่าสนใจ ไม่เคยขอมาเป็นทางการ ส่วนยูเอ็นเอชซีอาร์ไม่เคยประกาศเป็นผู้ลี้ภัย ก็ยังเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งผมบอกว่า หากมีประเทศที่สามรับ ผมก็พร้อมส่งไป แต่ผมคงไม่รอ เพราะผมก็โดนบีบ เพราะจีนอ้างว่า ชาวอุยกูร์ 40 คน เป็นพลเมืองของเขา และจีนก็ขอมาตามระบบ ส่งเป็น ดิพโปรเมทิกโน้ต ไทยก็ดำเนินการตามนั้น พร้อมคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เราก็ติดตาม ความเป็นอยู่เขาเป็นระยะ และผมกำลังจะไปพิสูจน์ว่าเขายังอยู่ดี และเขาก็เป็นคนเลือกที่จะไป" นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงระบุ
พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจของไทยไม่ใช่ว่า จะไปอยู่ข้างจีน หรือสหรัฐ เพราะยืนยันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่เลือกข้าง แต่เราสามารถทำงานร่วมกับทุกประเทศได้ โดยสหรัฐถือเป็นมหามิตรของไทยมายาวนาน ส่วนจีนก็เป็นประเทศที่อยู่ใกล้เคียง และมีความสัมพันธ์ยาวนานเช่นกัน ประเทศไทยไม่ได้คิดเป็นศัตรูกับใคร เรารักษาสายสัมพันธ์ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม
มีรายงานว่า ก่อนที่จะมีการดำเนินการส่งกลับก่อน 2 วัน ซึ่งเป็นวันที่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ตัดสินใจส่งอุยกูร์ ก็มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาทันทีว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเร่งเดินสายขอเข้าพบผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยงาน แต่ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องในกระบวนการการส่งกลับนั้น และเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ท่ามกลางการฟันธงว่า เบื้องหลังการตัดสินใจของ นายกฯ คงหนีไม่พ้น สทร.คนเดิม
อย่างไรก็ตาม ก็คงหนีไม่พ้นปฏิกิริยาจากฝั่งตะวันตกที่ยืนอยู่บนหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ไม่เห็นด้วยในการตัดสินใจของรัฐบาลไทย
เช่น สภายุโรปมีมติประณามประเทศไทย นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association - EFTA) นำข้อเสนอแนะของสมาชิกสภายุโรปมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศไทย รวมไปถึงการที่สหรัฐออกมาประกาศงดออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
ส่งผลให้ “เหมา หนิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ต้องออกมาช่วยไทยชี้แจงว่า การส่งกลับเป็นความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ในการต่อสู้กับการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมตอกย้ำว่า สหรัฐไม่มีสิทธิ์แทรกแซงความร่วมมือของ 2 ชาติโดยใช้ข้ออ้างด้านสิทธิมนุษยชน อย่าใช้เป็นประเด็นทางการเมือง ย้อนเกล็ดสหรัฐเนรเทศคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย 270,000 คน
สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นการปรับน้ำหนัก ทิศทาง นโยบาย ทางด้านการต่างประเทศใหม่ ซึ่งแตกต่างจากอดีต ที่ประเทศไทยไม่เข้าข้างใคร และดำรงสถานะความเป็นกลาง เมื่อต้องถูกบีบให้เลือกข้าง ก็ต้องเด้งเชือก ซื้อเวลา ลากเกมยาว เพื่อป้องกันไม่ถูกลากโยงไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แต่หนนี้ไม่ใช่...เพราะนี่คือการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด โดยไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่?
จึงไม่แปลก ถ้า สทร. ประเมินว่า เป็นการแสดงออกให้สอดคล้องกับกระแสของโลกในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์โลกมีการเคลื่อนตัว กลับมาสู่ “ปีกฝ่ายขวา” ผ่านตัวแสดงอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงไม่มีจังหวะไหนที่ดีไปกว่านี้ในการส่งอุยกูร์ให้จีนช่วงนี้
“ทักษิณ” จึงพูดเสียงแข็งว่า “ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจ แต่เขาก็ต้องทำหน้าที่ของเขา เราต้องเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ อย่าไปตกใจมาก บางทีพวกเราก็ไปมองทุกอย่างให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีอะไร”
พร้อมมองว่า เราต้องใช้ช่องทางทูตในการเจรจา โดยการพูดคุยกัน ให้สังเกตดูสภายุโรปออกมาประณามไทย แต่ทางฝ่ายบริหารก็มีการเจรจา FTA ต่อไป ไม่มีอะไร เขาแยกส่วน
“การเมืองระหว่างประเทศ บางทีในประเทศเราไม่เข้าใจ ไม่มีอะไรที่น่าตกใจ ถ้าผมไม่ตกใจ ก็อย่าตกใจตามผม” นายทักษิณกล่าวเหมือนจะมั่นใจว่าเคลียร์ได้
แต่นั่นก็เป็นความมั่นใจของ ผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล และทำให้ทุกองคาพยพเดินตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้ “ความเสี่ยง” ที่ประเทศต้องรับมาไว้ในมือ
หากระยะยาวผู้ตัดสินใจนำ ผลดี-ผลเสีย ขึ้นตาชั่งแล้วบอกว่า ผลทางเศรษฐกิจและ ด้านอื่นๆ ที่มีต่อไทย สร้างประโยชน์ให้คนในชาติ ก็ถือว่าความเสี่ยงนั้นคุ้มค่า แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามคาด ผลกระทบก็มีต่อประเทศอยู่ดี
และนี่คือจุดเปลี่ยนในจารีตด้านการต่างประเทศของไทยครั้งสำคัญ ซึ่งต้องรอลุ้นผลลัพธ์ระยะยาวกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร. เย้ยไม่บ้าลงเรือใกล้ล่ม รู้ทัน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ไม่กล้าทิ้ง ภท.
'ชัยวุฒิ' เปรียบรัฐบาลเหมือนเรือใกล้ล่ม ใครคิดจะไปลงก็บ้าแล้ว ย้ำ พปชร. ชัดเจนไม่เอากาสิโน 'ทักษิณ' ห่วงลูกโดนสอย ยังไม่กล้าทิ้ง ภท. รอจับมือพรรคส้มเลือกตั้งครั้งหน้า
นายกฯ มอบ 'ชูศักดิ์' ผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมพิธีพระศพ 'โป๊ปฟรานซิส'
นายกฯ มอบหมาย 'ชูศักดิ์' เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย เข้าร่วมพิธีพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส วันเสาร์ที่ 26 เม.ย. ณ นครรัฐวาติกัน
เตือนไม่ฟัง! สามีโพสต์ภาพ 'อิ๊งค์' นอน รพ. ให้น้ำเกลือ
นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์สตอรี่ไอจีเป็นภาพนายกฯ ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอาการป่วยไข้สูง โดยนายกฯนอนอยู่บนเตียง
เย้ยมั่นคงรำวง ดับไฟใต้ไม่คืบ! ‘อ้วน’เสียงอ่อย
"สว.ไชยยงค์" ฟาดรัฐบาล “ดับไฟใต้” ไม่คืบ “สว.ใต้” ชี้กล้าๆ กลัวๆ ปล่อย "กอ.รมน.ภาค 4-สมช.” รำวง เสนอใช้ กม.ก่อการร้ายสู้
จับแก๊ง 'พล.ต.อ.' ฉกข้อสอบ โยงเครือข่ายเว็บพนัน 'มินนี่'
ตำรวจไซเบอร์ นำโดย ไซเบอร์อรรถ-พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ยังคงเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้นทุกรูปแบบจนเป็นที่น่าพอใจ