'โครงการพาน้องกลับมาเรียน' ของศธ.เร่งตามเด็กออกนอกระบบกว่า 6.7 หมื่นคน กลับมาเรียนให้ทันก่อนเปิดเทอม

19 เม.ย.65- ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายผลักดันโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นนโยบายแก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบ เพื่อคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบต้องเป็นศูนย์นั้น ขณะนี้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เร่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว เพราะจะตามเด็กที่หลุดระบบการศึกษาให้มาเข้าเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นี้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สรุปสถิติการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่หลุดจากระบบ 67,132 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-18 ปีอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยติดตามตัวพบแล้ว 45,123 คน กำลังติดตาม 9,850 คน และกลับเข้าระบบการศึกษาแล้ว 389 คน ซึ่งในจำนวนที่นำเข้าระบบการศึกษานั้น เรายอมรับว่ายังเป็นจำนวนตัวเลขที่น้อยอยู่ เนื่องจากกระบวนการพาน้องกลับมาเรียนเมื่อค้นพบเด็กแล้วจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุ และโรงเรียนปิดภาคเรียนจึงยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเรียน

ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า สำหรับสถิติจำนวนนักเรียนที่สามารถตามกลับมาได้มีสาเหตุที่ต้องหลุดระบบการศึกษาไป เช่น จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ประสงค์เข้าเรียนต่อ จำนวน 5,375 คน ความจำเป็นทางครอบครัว 4,041 คน ผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่พอเพียง 1,687 คน เป็นต้น ส่วนนักเรียนที่ไม่สามารถติดตามได้มีสถิติสาเหตุ เช่น ย้ายถิ่นที่อยู่ 4,324 คน ความจำเป็นทางครอบครัว 852 คน ระบุสาเหตุไม่ได้ 3,860 คน เป็นต้น
“ทั้งนี้ในวันที่ 20 เมษายนนี้ ผมจะประชุมกับผู้รับชอบโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานองค์กรหลัก ศธ. เพื่อติดตามการแก้ปัญหาและการส่งต่อผู้เรียนว่ามีการดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน หรือมีปัญหาอุปสรรคใดในการปฏิบัติงานบ้าง รวมถึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ไปค้นหาวิธีการพาน้องกลับมาเรียนทีทำได้ดีเยี่ยม โดยจะนำมาเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ได้ดำเนินการต่อไป”รองเลขาฯ กพฐ.กล่าว

เพิ่มเพื่อน