ธรรมะอินเทรนด์ 'ว.วชิรเมธี' เผยลักษณะสังคม 'จับผิด' มากกว่า 'จับถูก'

29 ต.ค.2565 - เพจเฟซบุ๊ก พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี เผยแพร่บทความเรื่อง ลักษณะสังคม “จับผิด” มากกว่า “จับถูก” มีเนื้อหาดังนี้

๑.ว่ากันว่า การตอบคำถามในเวทีประกวด
ของคุณอิงฟ้าที่ผ่านมาไม่กี่วัน กลายเป็นประเด็น
ให้ตำรวจไวยากรณ์ (grammar police) ได้ทำงาน
กันยกใหญ่ บางคนก็ตั้งใจติเพื่อก่อ แต่บางคนก็กะ
เอากันถึงตาย ชนิดอ่านแล้วทำให้อิงฟ้าแทบไม่กล้า
ใช้ภาษาอังกฤษกันไปเลยตลอดชีวิต

๒.อาจารย์อดัม ครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าของภาษาแท้ๆ
เขียนเรื่องนี้เอาไว้ดีมาก เราน่าจะลองมาฟังกันดู
“อดัมได้ชมคลิปของคุณอิงฟ้าที่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ
และรู้สึกประทับใจกับความเก่งกล้าของนาง
ในการพูดภาษาอังกฤษบนเวทีโลกที่มีคนดูเป็นล้านครับ
แต่แน่นอนต้องมีคนบางคนจิกกัดในเรื่องที่นางอาจจะเลือกคำ
ที่มีสองแง่สองง่าม ทั้ง ๆ ที่คนฟังก็รู้ว่านางจะสื่ออะไรครับ
คือ make love ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงมีเพศสัมพันธ์
แต่ก็ยังแปลว่าสร้างความรักก็ได้ครับ
ถ้าจะเลี่ยงความกำกวมก็ใช้ create love, build love หรือ give love ก็ได้ครับ

ทีนี้ประเด็นสำคัญคือทำไมต้องมีพวก nitpicky (ชอบจับผิด)
คอยจิกกัดตลอด ถ้าเราติเพื่อก่อก็ดี
แต่ grammar police (ตำรวจไวยากรณ์)
ที่มักจะยกตนข่มท่าน
และจับผิดเพื่อความสะใจก็ไม่ได้ช่วยห่าอะไรเลย !!
มันแค่ทำให้คนไทยยิ่งกลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษ
เพราะกลัวโดนติ โดนแซว โดนล้อเลียน
เราหันมาให้กำลังใจซึ่งกันละกันดีกว่ามั้ย

ตามจริงแล้วถ้าเราอยากเก่งภาษาที่สอง
เราก็ต้องต้องกล้าที่จะพูดผิด ไม่งั้นจะไม่พัฒนา
ขอบอกนะครับว่า ถ้าไม่กล้าพูดผิดก็จะไม่มีวันพูดถูก
เพราะคนที่อยากประสบความสำเร็จในการเรียนภาษา
จะต้องเอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน
โดยการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก
อย่าไปคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากตัวเองหรือจากคนอื่น
แต่จงใช้สโลแกนของอดัมในการเรียนภาษาอังกฤษกันเหอะ
นั่นก็คือ Learn from and laugh at your mistakes.
เรียนรู้และหัวเราะไปกับความผิดพลาดของตัวเอง
รับรองได้เลยว่าถ้าหากคุณมีทัศนคติแบบนี้
ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษของคุณจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว
อย่าไปสนใจเสียงนกเสียง​กา Forget about the haters! You can do it! สู้ๆ” 😀😀😀

๓.อ่านข้อเขียนของอาจารย์อดัมแล้ว มีกำลังใจที่จะไปต่อ
เพราะอันที่จริงนั้น Speaking incorrectly is not a crime.
การพูดภาษาอังกฤษผิดแกรมมาร์ไปบ้าง ไม่ใช่อาชญากรรม
และเราไม่ควรลืมว่า “ผิดเป็นครู” ที่เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า
ต้องการส่งเสริมให้เราเรียนภาษากันอย่างผิดๆ พูดกันอย่างผิดๆ
แต่ต้องการจะนำเสนอว่า สำหรับมือใหม่นั้นเราต้องให้กำลังใจกัน
มากกว่าการ “ติ” จน “ฝ่อ” และ “หวาดผวา” จนเห็นไปว่า
“การพูดภาษาอังกฤษผิด” มันกลายเป็นอาชญากรรมพอๆ
กับการฆ่าคน ซึ่งอันที่จริง มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตขนาดนั้น

๔.แปดปีที่แล้ว หลังเดินทางไปบรรยายที่ยุโรปยาวนานนับเดือน
ผู้เขียนก็นั่งเครื่องบินสัญชาติตะวันออกกลางกลับเมืองไทย
ฝรั่งที่นั่งข้างๆ ดูภูมิฐานดี เราก็เลยคุยกันด้วยเรื่องจิปาถะร่วมครึ่งชั่วโมง
คุยกันจนหมดเรื่องคุยแล้วผู้เขียนก็วกมาถามแกว่า “คุณทำอาชีพอะไร”
เขาตอบว่า “ครูสอนภาษาอังกฤษครับ” หัวใจผู้เขียนหล่นตุ๊บ ไฟลุกวาบในท้อง
ในใจมีความคิดผุดขึ้นมา “ตายแล้ว เขาคือครูสอนภาษาอังกฤษ
แต่เราพูดผิดพูดถูกไปแล้วร่วมชั่วโมง…” แต่คงแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว
ผู้เขียนก็เลย “ขำกับตัวเอง” พลางบอกตัวเองว่า “ช่างมันเถอะ”
จากนั้นต่างคนต่างก็อยู่กับหนังสือเล่มโปรดในมือของตัวเองต่อไป

เวลาผิดพลาด เราสามารถหัวเราะเยาะตัวเอง ปล่อยวาง แล้วก็ไปต่อ
หรือเราจะยกระดับความผิดพลาดส่วนตัวให้กลายเป็นตราบาปแห่งชีวิตก็ได้
ถ้าเราเลือกอย่างแรก เราก็เติบโต แต่ถ้าเลือกอย่างหลัง เราก็ติดตัน
และจมอยู่กับมันไปตลอดชีวิตจนกลายเป็นปมด้อย

๕.หากครั้งนั้น ผู้เขียนถูกครูสอนภาษาอังกฤษชาวยุโรปคนนั้นจับผิดไวยากรณ์
ป่านนี้ก็คงไม่ได้ท่องไปทั่วโลกด้วยภาษาอังกฤษแบบไม่สมบูรณ์ แต่ตั้งใจจะ
ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ทุกวันเป็นแน่ พูดไปเถอะ พูดไปเรื่อยๆ just speak out.
วันหนึ่งมันก็จะดีงามตามประสบการณ์และเวลาที่เพิ่มขึ้น

๖.ในทุกสังคมการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรทำอย่างมีเจตนาดี
และมีเมตตากำกับเสมอไป มิเช่นนั้นแล้ว เราจะสร้างสภาพแวดล้อม
ที่ไม่ส่งเสริมให้คนไทยกล้าคิด กล้าทำ ใครแหลมใครสุกสว่างขึ้นมา
มีแต่เจอดราม่า เจอคำด่า เจอขุด เจอแซะ เจอสกัดดาวรุ่ง ล้อปมด้อย
สังคมที่มากไปด้วยการจับผิด ไม่มีทางสร้างสรรค์นวัตกรรม
มีแต่จะสร้างเวรกรรมให้แก่กันและกันเท่านั้น

๗.ฝากถึงคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องแคร์คำคนมากมายนัก
หากคุณมีความฝัน จงศรัทธาในความฝัน มุ่งมั่นทำมันให้เป็นจริง
ใครติเพื่อก่อ ก็น้อมหูรับฟัง นำมาปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม
แต่หากใครติเพราะมุ่งจับผิดก็ปล่อยมันไป
เรามีชีวิตเดียว อย่ายอมให้ลมปากคนอื่นมามัดตราสังชีวิต
จนไม่เป็นอันกล้าที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป

๘.เจ เค โรว์ลิ่ง ผู้เขียนแฮรี่ พอร์ตเตอร์ เคยกล่าวไว้ทำนองนี้ว่า
“เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะใช้ชีวิตโดยไม่เคยล้มเหลว
นอกเสียจากว่า คุณจะระมัดระวังมากเสียจนไม่ได้ใช้ชีวิต
ซึ่งนั่นก็ถือว่า เป็นความล้มเหลวเช่นกัน”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การ์ตูนแอนิเมชันสติมา 'เณรน้อยอัจฉริยะ' สนุกครบรส

การ์ตูนแอนิเมชันเป็นสื่อบันเทิงที่ครองใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย เรื่องราวจากแรงบันดาลใจและหลักธรรมคําสอนของ “พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี” ถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวผ่านภาพเคลื่อนไหวและตัวละครสามเณร รวมถึงตัวละครมากมายที่มีคาแรกเตอร์น่ารัก ๆ  

ทัวร์ลง! 'ท่าน ว.วชิรเมธี' เขียนกลอนสอนเก็บเงิน กลุ่มตลาดหลวง-สามนิ้วชี้เป้ารุมถล่ม

พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

มส. แต่งตั้ง ท่านเจ้าคุณ 'ว.วชิรเมธี' เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

มีรายงานว่า ผลการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 29/2565 ที่น่าสนใจคือ การเสนอแต่งตั้ง พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย

ธรรมะอินเทรนด์ 'ว.วชิรเมธี' เผยลักษณะคนมีความเป็นตัวของตัวเอง เวลามีคนด่า แซะหรือใส่ร้าย

เพจเฟซบุ๊ก พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี เผยแพร่บทความหลักธรรมคำสอนเรื่อง "ลักษณะคนมีความเป็นตัวของตัวเอง" มีเนื้อหาดังนี้ เวลามีคนด่าเรา แซะเรา

'ว.วชิรเมธี' แนะพุทธศาสนิกชนใช้ทางสายกลางในชีวิตประจำวัน

'พระเมธีวชิโรดม' แนะพุทธศาสนิกชนนำหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดำรงชีวิตอย่างมีสติมีปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ

'ว.วชิรเมธี' ทบทวนหน้าที่-บทบาทแม่ 5 ประการ หมั่นถามตัวเองทำแล้วหรือยัง

พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี โพสต์เฟซบุ๊กบรรยายธรรมเรื่อง “ทบทวนความเป็นแม่” มีเนื้อหาดังนี้ สถานภาพของความเป็น “แม่”เป็นสถานภาพอันประเสริฐ สูงส่งมาก โบราณจึงถือว่า คำว่า “แม่” เป็นหนึ่งใน “คำศักดิ์สิทธิ์” ในชีวิตของลูก