เลือกตั้งซ่อม 'นักวิชาการ' วิเคราะห์ 4 เบอร์ โอกาสคว้าเก้าอี้ ส.ส.กทม. เขต 9

เลือกตั้งซ่อม

30 ม.ค.2565 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ เลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพ เขต 9 ผ่าน เฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้แล้วจะได้รู้กันว่า ชาวหลักสี่ กทม. จะเลือกใครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนคุณ สิระ เจนจาคะ

หากจะให้ประเมินความเป็นไปได้จากสภาพการณ์ล่าสุด ผู้สมัครที่จะมีโอกาสได้รับเลือกมากว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ในทัศนะของผมมี 4 คนคือ

หมายเลข 1 คุณ พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี หมายเลข 2 คุณ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า หมายเลข 3 คุณ สุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 7 สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ

สำหรับหมายเลข 6 คือคุณ กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรรคก้าวไกล โอกาสที่จะชนะมีน้อยกว่า 4 คนแรก เหตุผลเพราะประชาชนจำนวนมากที่เคยศรัทธาพรรคอนาคตใหม่เมื่อตั้งพรรคใหม่ๆ แต่เป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตรย์ เมื่อได้เห็นเจตนาที่แท้จริงของคนในพรรคนี้แล้ว แน่นอนว่าจะเปลี่ยนใจไปลงคะแนนให้พรรคอื่นที่ไม่แตะต้องสถาบัน และในขณะที่ฐานเสียงเดิมหดหายไป คะแนนเสียงจากคนใหม่ๆก็แทบจะไม่มีเพิ่มขึ้น ดังนั้นค่อนข้างแน่ว่าคะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลจะได้รับครั้งนี้จะลดลงจากครั้งที่แล้ว ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกับการเลือกตั้งช่อมที่ ชุมพร และสงขลา

ลองมาดูผู้สมัครที่มีโอกาสสูงทั้ง 4 คน

หมายเลข 1 คุณ พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัตชต์ เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน แต่คนที่เชื่อมั่นในตัวคุณหมอ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ซึ่งขณะนี้ทำงานหนักมาก น่าจะให้ความสนใจมาลงคะแนนให้ พรรคไทยภักดีแม้อาจได้เสียงจากฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ แต่คะแนนเสียงส่วนนี้ จะไม่มาที่พรรคไทยภักดีพรรคเดียว แต่จะมีส่วนหนึ่งแตกไปที่พรรคกล้า ซึ่งหัวหน้าพรรค คุณกรณ์ จาติกวณิช ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกัน

การประกาศจุดยืนว่า สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะทำให้กลุ่มคนที่ยังเหนียวแน่นกับพลเอก ประยุทธ์ แต่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐให้ความสนใจพรรคนี้

แม้คุณหมอวรงค์จะทำงานหนักและพรรคไทยภักดีจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะได้ส่วนแบ่งคะแนนเสียงที่เคยเป็นของพรรคประชาธิปัตย์สักกี่เสียง โอกาสชนะจะเป็นเท่าใดจึงอยู่ที่ว่า จะมีคนมาลงคะแนนเสียงทั้งหมดครั้งนี้มากน้อยเพียงใด หากมีคนมาลงคะแนนเสียงนอกเหนือจากฐานเสียงเดิมของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นจำนวนมาก หมายเลข 1 จะชนะได้ก็ต่อเมื่อคนในกลุ่มด้งกล่าวนี้เทคะแนนให้

หมายเลข 2 คุณ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดีเป็นนักการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดี จากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหัวหน้าพรรคก็เป็นนักการเมืองที่หลายคนฝากความหวังไว้ แต่เนื่องจากมีพรรคไทยภักดีเป็นคู่แข่ง ดังนั้นฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนระหว่างพรรคกล้ากับพรรคไทยภักดี

การประกาศจุดยืนว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการโฟกัสที่กลุ่มคนที่ไม่เอาคุณทักษิณ แต่ก็ผิดหวังกับพลเอก ประยุทธ์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจได้ผลก็ได้ แต่ก็เป็นเงื่อนไขเดียวกันกับพรรคไทยภักดี คือหากจะชนะได้จะต้องมีคนมาลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้นเทคะแนนมาที่พรรคกล้า

หมายเลข 3 คุณสุรชาติ เทียนทอง การที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจลงมาสนับสนุนเต็มที่ ทำให้ฐานเสียงเดิมของพรรคซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเพียงแพ้คุณ สิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐไปเพียงประมาณ 3 พันคะแนนจะยังคงอยู่ ไม่มีการแตกไปไหน และคนที่นิยมพรรคเพื่อไทยเพราะนิยมคุณทักษิณก็ยังคงเหนียวแน่น ไม่ปันใจไปพรรคอื่นแน่ แม้หัวหน้าพรรคคนใหม่จะทำให้เสียรังวัดไปบ้างก็ตาม ดังนั้นหากคนมาลงคะแนนเสียงทั้งหมดครั้งนี้มีไม่มาก คิดว่าไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐจะชนะ แต่หมายเลข 3 นี่แหละจะชนะการเลือกตั้ง

หมายเลข 7 คุณสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ลงสมัครเป็นตัวแทนคุณสิระ เจนจาคะ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ชนะการเลือกตั้งไปอย่างเฉียดฉิว เพราะคนที่ไม่เอาคุณทักษิณ เทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ เพราะเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่านั้นที่มีโอกาสเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ เพื่อไม่ให้คุณทักษิณกลับมามีอำนาจอีก

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้ สภาพการณ์แตกต่างออกไป ผู้คนที่เสื่อมศรัทธา และผิดหวังในพรรคพลังประชารัฐเป็นมีจำนวนมาก แม้ครั้งนี้จะพยายามจะเน้นย้ำว่า สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คนที่ผิดหวังกับพลเอกประยุทธ์ และต้องการทางเลือกใหม่ก็มีไม่น้อย อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐแพ้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเสถียรภาพรัฐบาลจะย่ำแย่ลงกว่านี้ หากพรรคที่ชนะคือพรรคไทยภักดีหรือพรรคกล้า เพราะจะอย่างไรทั้ง 2 พรรคนี้จะไม่เอาคุณทักษิณและไม่ไปร่วมกับฝ่ายค้านอยู่แล้ว ดังนั้นครั้งนี้คะแนนเสียงที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐได้รับน่าจะน้อยลงกกว่าครั้งที่แล้ว ส่วนจะชนะหรือไม่บอกได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าฐานเสียงเดิมจะเหลืออยู่เท่าใด และพลังบริสุทธิ์จะเทคะแนนให้ใคร

แม้ไม่อาจบอกแบบฟันธงได้ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เพราะมีตัวแปรที่สำคัญคือ จำนวนคนที่จะมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และคนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังบริสุทธิ์นี้จะเทคะแนนไปให้ผู้สมัครคนใด แต่ ณ ปัจจุบันต้องยอมรับว่า คุณ สุรชาติ เทียนทอง น่าจะมีโอกาสมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ แม้จะยังไม่แน่นักก็ตาม

ทั้งหมดข้างต้น เป็นการวิเคราะห์จากมุมมองของผมคนเดียว ซึ่งอาจแตกต่างจากคนอื่น เราต้องรอดูตอนค่ำวันนี้ว่า ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จริงๆจะออกมาเป็นอย่างไร

น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะนั่นจะเป็นต้วบ่งชี้และเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

'ธนกร' ติง 'ชัยธวัช' พูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค

“ธนกร” ติง “ชัยธวัช” เป็นถึงทนายควรดูข้อกม.ให้ชัด อย่าพูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค มอง ตั้งใจลดทอนความเชื่อมั่นปชช.ต่อศาล ถาม มีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ชี้ ใครทำผิดต้องยอมรับ ขออย่าก้าวล่วง