
ไทยเป็นประเทศที่มีขยะรั่วไหลลงทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญมาก รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ ครม. ไฟเขียวแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568 ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมร่วมกันบริหารจัดการขยะทะเล ช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล
จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปี 2564 จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลกว่า 3,950,904 ชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 443,987 กิโลกรัม แต่ข้อเท็จจริงยังมีขยะที่รั่วไหลลงทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อโฟมและพลาสติกลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ซึ่งไม่ได้ละลายหายไปไหนแ ละสามารถถ่ายทอดผ่านห่วงโซ่อาหารจากสัตว์ทะเลมายังมนุษย์ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้

ทุกภาคส่วนลงนาม’ปฏิญญาอ่าวลันดา’ แก้ปัญหาภัยไมโครพลาสติก
มลพิษไมโครพลาสติกเป็นภัยคุกคาม อ่าวลันตาเป็นพื้นที่ทางทะเลที่ตระหนักปัญหาขยะพลาสติก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติฯ จังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม 48 หน่วยงาน จัดพิธีลงนาม“ปฏิญญาอ่าวลันตา” หมุดหมายสำคัญจะผลักดัน 9 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. .ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 2.อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5.เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6.การประมงที่ยั่งยืน 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8.พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต 9. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตา ควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ศาลาประชุมอำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่ เมื่อเร็วๆ นี้

ขยะตกค้างบนพื้นที่ฝังกลบขยะเกาะลันดา
ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า อำเภอเกาะลันตานอกจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ จากกิจกรรมต่างๆ ก่อขยะพลาสติกมหาศาล ปัญหาคือไม่มีพื้นที่ฝังกลบขยะ ขยะจะถูกส่งไปพื้นที่ฝังกลบที่เกาะลันตาเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ฝังกลบถูกใช้เต็มแล้ว สภาพป็นภูเขาสองลูก ระบบจัดการขยะทำไม่ได้ มีแต่เทกอง ขยะตกค้างสะสม เกิดปัญหาใหญ่ ฤดูมรสุมใหญ่ฝนจะชะขยะพลาสติกกวาดลงทะเล กลายเป็นไมโครพลาสติกในทะเล ปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกาะลันตาเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่พะยูนตรังหากินต่อเนื่อง ไม่พูดถึงสัตว์ทะเลหายาก ที่จะได้รับผลกระทบ ทุกวันนี้มีวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศยืนยันพบไมโครพลาสติกในกะเพาะของสัตว์น้ำ หอย ทรายชายหาด แม้แต่เกลือทะเลปนเปื้อนไมโครพลาสติก ไปจนถึงแพลงตอนและสัตว์น้ำขนาดเล๋ก การผลักดันปฏิญญาอ่าวลันตาขึ้นมา เพื่อลดภัยคุกคามไมโครพลาสติก
“ รูปธรรมการขับเคลื่อนหน่วยงานราชการและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะลันตาจะเลิกใช้โฟม ทุกกิจกรรมปลอดโฟมและพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนภาคการท่องเที่ยว ขณะนี้โรงแรมส่วนใหญ่ปลอดโฟมแล้ว จะขยายผลงดใช้พลาสติกแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงธุรกิจร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อด้วย ลันดาที่จุดเด่นภาคธุนกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม อยากมุ่งสู่ Blue&Green Island แต่ที่ยากที่สุด ภาคชุมชน จะขอความร่วมมือจาก 4 ตำบล 3 เทศบาล ร่วมลดใช้พลาสติก หลังประกาศปฏิญญา นายอำเภอตั้งคณะทำงานขึ้นมาสู่ภาคปฏิบัติ แต่ละท้องถิ่นตั้งกรรมการเฉพาะรณรงค์วางแนวทางปฏิบัติเพื่อวางระบบคัดแยกขขยะ ด้านสาธารณสุขเกาะลันดา อสม. จะเป็นครอบครัวต้นแบบคัดแยกขยะ และดูแลอีก 15 ครอบครัว เพื่อรณรงค์แยกขยะ ถ้าลดใช้พลาสติกไม่ได้ ต้องแยกขยะ ขยะที่ขายได้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล สุดท้ายจะเหลือขยะพลาสติกที่เข้าสู่ระบบกำจัดจริงๆ ไม่โยนภาระที่หลุมขยะ ปฎิญญาลันดาเป็นการกำหนดหมุดหมายร่วมกันที่จะขับเคลื่อน อ.เกาะลันตา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติ ทุกเป้าหมายทำได้ ถ้าทุกภาคส่วนลงมือทำ “ ภาคภูมิ ย้ำ

ขับเคลื่อนอำเภอเกาะลันตาสู่การเขตปลอดขยะพลาสติก
ด้าน รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า ขยะที่ลงทะเลร้อยละ 80 เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนบก ร้อยละ 20 เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมในทะเล โดยพบโฟมและขยะพลาสติกบนฝั่งที่กำจัดไม่ถูกต้องจำนวนมาก เมื่อโฟมและพลาสติกลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารผ่านการบริโภคอาหารทะเล มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัวส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิต การสร้างเสริมสุขภาพประชาชนต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า โฟมและพลาสติกที่รั่วไหลหรือถูกทิ้งอย่างจงใจลงสู่ทะเล เป็นภัยสิ่งแวดล้อมและอันตรายสะสมต่อสุขภาพคน อาจไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก่อผลกระทบในขอบเขตทั่วโลกจากการเชื่อมถึงกันของมหาสมุทร ดังนั้นปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขในระดับแนวคิด นโยบาย การนำมาตรการทางภาษีและเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา การกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติของหน่วยงานรัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และครัวเรือน

ส่งเสริมชุมชนคัดแยกขยะ ลดขยะพลาสติก
การขับเคลื่อนในส่วนหน่วยงานราชการ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย มุ่งเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565 – 2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดขยะ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้นำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
8 มิถุนายน 'วันทะเลโลก' ชวนเปลี่ยน พลิกฟื้น คืนโลกสีคราม
วันทะเลโลก หรือวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเล กระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล
Home Coming งานศิลป์ฮีลใจคนที่หมดไฟ
“หมดไฟ” เป็นภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ ผลจากความเครียดจากงานที่มากเกินไปอย่างต่อเนื่อง คนทำงานส่วนหนึ่งกำลังเผชิญช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ ท้อแท้ หมดไฟ มีความสุขจากการทำงานลดลง และทำงานได้ไม่ดี บางคนรู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน ถ้าปล่อยให้ตกอยู่ในภาวะ
“ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข” ตามไปดู"สามเณร"ออกแบบเมือง
เพราะ “โลกนี้คือห้องเรียน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สสส. นำโดย ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8
เด็กและครอบครัว..บนสองทางแพร่ง โจทย์รอ"รัฐบาลใหม่"สานฝันเป็นจริง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
สสส. ปลื้ม นวัตกรรม ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค’ มีผู้รับประโยชน์กว่า 7 ล้านคน เร่งสานพลัง รพ.น่าน เดินหน้าขยายผล ‘ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะฯ น่าน’
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ โรงพยาบาลน่าน อ.เมือง จ.น่าน คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะผู้บริหาร สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน “ยินดีจั๊ดนัก รวมพลังสานสุข”
กางแผนผลักดัน OECMs ตามเป้า 30X30 ป้องกันพืช-สัตว์ สูญพันธุ์
เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 “From Agreement to Action : Build Back Biodiversity “ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดวงเสวนาหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย”