หมอพรทิพย์คาใจ ชันสูตรศพแตงโม แนะผ่ารอบสอง!

"หมอพรทิพย์" คาใจคดีแตงโม ขัดหลักนิติวิทยาศาสตร์ไม่เก็บหลักฐานเรือ-เพื่อน 5 คนแต่แรก แนะผ่ารอบสองตรวจกระดูกรอยตัด ลั่นพร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ ขณะที่ "ทนายรณณรงค์" ร้องผู้ตรวจการสอบ  จนท.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หวั่นคนบนเรือหลอนยาฆาตกรรม

ที่รัฐสภา วันที่ 14 มีนาคม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม  ได้ขออายัดศพเพื่อขอชันสูตรเป็นรอบที่สองว่า ตามคำแนะนำที่คุยกับคุณแม่ของแตงโมและทนายความ ว่าการขอทราบผลตรวจศพและตรวจทุกอย่างที่เกี่ยวกับศพจากสถาบันนิติเวชคือดีที่สุด

พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า และทราบว่าคุณแม่แตงโมจะไปยื่นวันนี้เวลา 15.00 น. โดยตนเองจะไปในนามของคณะ กมธ.และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อเข้าไปร่วมดูและจะอธิบายให้ฟังว่าตอบคำถามหมดหรือไม่ เช่นแผลที่ขา หลังจากได้ผลชิ้นเนื้อแล้ว หมอจะทราบได้ว่าโดนใบพัดหรืออะไรกันแน่ หรือถ้ายังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัย เมื่อนั้นก็ควรจะมีการชันสูตรศพใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของเขา และเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้โดยส่วนตัวและมารยาทจะไม่ลงไปเป็นผู้ผ่าชันสูตรศพเอง เพราะตามข้อกฎหมายไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่สามารถให้คำปรึกษาได้ทั้งในนามคณะ กมธ.และการเป็นคนไทยที่เห็นความไม่ยุติธรรม

เมื่อถามว่าสามารถเป็นที่ปรึกษาผ่าพิสูจน์ศพรอบสองได้หรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่อาจจะติดต่อตนเองมาเพื่อตั้งเป็นที่ปรึกษาก็ได้ แต่ส่วนตัวเมื่อเห็นว่าประชาชนคนใดเดือดร้อน ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย

 “จริงๆ คดีนี้ไม่ยาก อยู่ที่ว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลาหรือไม่ และการที่จะบอกว่าแผลเกิดขึ้นก่อนหรือหลังตกน้ำไม่ได้อยู่ที่ศพ แต่อยู่ที่ที่เกิดเหตุ  คือ นิติวิทยาศาสตร์ เรือ และบุคคลทั้ง 5 คน และการให้ชันสูตรรอบสองก็ถือว่าชัดเจน ว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูป เพราะแผลจะตอบได้เลยว่าเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือในน้ำ โดยกรณีหนึ่งสาธิตให้เห็นแล้วคือ การจำลองด้วยเรือ  ว่าเรือที่มีความเร็วและแตงโมหล่นท้ายเรือแบบที่คิดว่าไปนั่งฉี่ ตัวจะกระเด็นออกไปไม่โดนอะไรเลย ฉะนั้นก็เป็นนิติวิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่งที่นำมาประกอบในการสรุป”        

พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวอีกว่า  การตรวจกระดูกในบริเวณที่วัตถุไปโดน สามารถนำท่อนกระดูกนั้นไปตรวจด้วยกล้อง ซึ่งกล้องดังกล่าวมีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลหะหรือใบพัด รวมทั้งขวดและแก้วไวน์ด้วย อย่างไรก็ตามเวลาผ่านมาหลายวันทำให้สภาพศพเกิดปัญหา แต่ประเด็นหลักที่ญาติต้องการ หรือสิ่งที่เขาต้องตอบ ต้องดูว่าอยากทราบอะไร แต่เชื่อว่าการผ่าชันสูตรครั้งที่หนึ่งตอบไปได้มากแล้ว แต่ถ้านำมาชันสูตรรอบที่สอง แล้วสมมุติถามว่าแตงโมมีแอลกอฮอล์หรือไม่ รับรองว่าตรวจไม่ได้ ดังนั้นการตรวจรอบสองจะช่วยได้ในช่วงบริเวณกระดูกรอยตัด

 “วันที่ 16 มี.ค.ที่จะถึง ดิฉันจะเข้าไปดูเรื่องนี้กับครอบครัวแตงโมว่าตอบได้หมดหรือไม่ หากพบว่าตอบอะไรไม่ได้ ก็จะไปถามในการชันสูตรครั้งที่สอง และคดีนี้ถือว่าแปลกแต่ต้น เพราะไม่ใช่วิถีที่จะทำให้เกิดความกระจ่าง คือการไม่เก็บหลักฐานของคนทั้ง 5 คนและเรือทันที และเรือก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งขัดกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องฟันหักก็คงเป็นเรื่องที่นิติเวชจะต้องตอบ”  พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว

วันเดียวกัน ในเวลา 15.30 น. ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม พร้อมด้วยทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ และทนาย กฤษณะ ศรีบุญพิมพ์สวย ทีมทนายความ ได้เดินทางมาฟังผลการชันสูตรศพของแตงโม โดยนางภนิดาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ ทนายกฤษณะกล่าวยืนยันว่า ไม่ว่าการพูดคุยกับตำรวจจะเป็นอย่างไร ครอบครัวก็จะยังคงอายัดศพของแตงโมไปชันสูตรรอบ 2 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ขณะประเด็นที่มีรายงานข่าวว่า ตำรวจทำการตรวจเลือดหาสารเสพติดพยานบนเรือเพียง 3 คนไม่พบสารเสพติด แต่มีอีก 2 คนบนเรือไม่ยินยอมให้ตรวจเลือดนั้น นายกฤษณะระบุว่า ทนายสามารถขออำนาจศาลให้ดำเนินการได้

วันเดียวกัน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีของแตงโม กรณีที่ผลตรวจสารเสพติดออกมาแค่ 3 คน ขาดไป 2 คน

นายรณณรงค์กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าคนที่อยู่บนเรือมีความสนิทชิดเชื้อกับผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ ถึงสามารถเลี่ยงที่จะไม่ตรวจสารเสพติดได้ และหากมีเหตุที่อ้างไม่ตรวจตามข้อกฎหมาย ก็อยากจะทราบว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายใด และเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ดุลยพินิจที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่ หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดได้ จึงต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบประเด็นดังกล่าว หากพบว่ามีการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ขอให้ดำเนินการส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือถ้ากฎหมายมีช่องว่างก็ขอให้มีข้อเสนอแนะไปยังสภาให้มีการแก้ไขกฎหมาย

 “ผลการตรวจสารเสพติดของ 2 คนที่เหลือ ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่าการที่คุณแตงโมตกเรือนั้น มีคนบนเรือเมายาแล้วเกิดอาการหลอนยาจนเกิดไปฆ่าคุณแตงโม ตรงนี้ตำรวจก็ทำไม่เคลียร์ พอไม่เคลียร์ก็มีคำถามขึ้นมาว่าเป็นฆาตกรรมหรือเป็นอุบัติเหตุกันแน่ จึงต้องทำให้ชัดเจน ตอบคำถามได้ ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากสงสัยใครก็สามารถตรวจสอบได้ แต่ที่ไม่ตรวจหรือที่ผลไม่ออกมามีการใช้สิทธิหรืออ้างกฎหมายตัวใดกันแน่ หากว่า 2 คนนี้ไม่ตรวจได้ แสดงว่ากฎหมายยาเสพติดมีช่องว่าง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินควรต้องเสนอสภาเพื่อพิจารณาแก้ไข”  นายรณณรงค์ระบุ

ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และเป็นอดีตรองผู้บัญชาการ​ตำรวจนครบาล​ ขอให้ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำตามกระแสโซเชียลมีเดียนั้น นายรณณรงค์กล่าวว่า พล.ต.ท.อำนวยต้องดูว่าวันที่เกิดเหตุตำรวจไม่มีการอายัดเรือ ไม่ให้คนที่อยู่ในเรือทั้ง 5 ตรวจสอบร่างกาย  สารเสพติด ทำไม พล.ต.ท.อำนวยไม่ออกมาด่า แต่พอสังคมตั้งคำถาม ทำไมจึงออกมาด่าสังคม ถ้าตั้งแต่วันที่เกิดเหตุตำรวจทำครบถ้วน วันนี้ปิดคดีก็ปิดได้ แต่พอไม่ทำ แล้วจะมาชี้ที่หางเสือเรืออย่างเดียว มันไม่ได้

ด้านนายวทัญญู กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งตรวจสอบโดยเร่งด่วน เบื้องต้นหลังจากรับคำร้องแล้วจะเสนอคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....