ติดเชื้อ-ดับลด เดินหน้าโควิด โรคประจำถิ่น

ยอดติดเชื้อโควิดลดลงต่อเนื่อง ผู้ป่วยรายใหม่ 3,893 ราย เสียชีวิต 38 คน "บิ๊กตู่" ปลื้มไทยรับเลือกเป็นที่ตั้ง สนง.เลขาฯ ศูนย์อาเซียนรับมือภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข-โรคอุบัติใหม่ "สาธิต" ชี้หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามเกณฑ์ มั่นใจแผนประกาศโรคประจำถิ่นไม่สะดุด

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,893 ราย ติดเชื้อในประเทศ 3,886 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,860 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 26 ราย เรือนจำ 4 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,323 ราย อยู่ระหว่างรักษา 63,337 ราย อาการหนัก 1,245 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 607 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 17 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 28 ราย มีโรคเรื้อรัง 8 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย

โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,382,977 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,290,090 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 29,550 ราย ส่วนยอดฉีดวัคซีนวันที่ 16 พ.ค. 25,923 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 135,697,195  โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 865 ราย, บุรีรัมย์ 198 ราย, สุรินทร์ 160 ราย, ชลบุรี 139 ราย,  อุบลราชธานี 132 ราย, ร้อยเอ็ด 118 ราย,  สมุทรปราการ 110 ราย, มหาสารคาม 95 ราย, นนทบุรี 95 ราย และขอนแก่น 92 ราย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลกว่า ล่าสุดไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งจะทำการเปิดสำนักงานในเดือน ส.ค.นี้ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับและชื่นชมประเทศไทยที่สามารถรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีที่สุด ถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

"เรามีความพร้อมที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น บุคลากรด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงในการให้บริการรักษา เรามีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสากลถึง 58 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราน่าภาคภูมิใจที่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยไม่แพ้ใครในโลก" นายกฯ กล่าว

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า เรื่องนี้ยังไม่นำพิจารณาเข้า ครม. ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มดูดีขึ้นเรื่อยๆ และมีสัญญาณลดลง ทั้งผู้ป่วยปอดอักเสบและผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ยังติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อหลังเดือนเม.ย. ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขลดลง หากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 4-5 เกณฑ์ คืออัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.01% แต่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 0.1% ถ้าเทียบกับอัตราการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน ถ้าอยากผ่านเกณฑ์และตัวเลขลดลง แผนการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นก็จะไม่สะดุด

"จะเสนอ ครม.ได้เมื่อไหร่ต้องดูที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง และต้องติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในเกาหลีเหนือประกอบด้วย แต่เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน  และจากการสอบถามองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เดินทางมาไทยเพื่อศึกษาวิจัยต่อสู้กับโควิด-19 ตนได้สอบถามไปว่าถ้ามีการกลายพันธุ์เชื้อสายพันธุ์ใหม่ในไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าหากมีการระบาดใหญ่ในพื้นที่วงกว้างแล้วไม่ได้รับการติดตามหรือฉีดวัคซีน ซึ่งข้อนี้ก็คล้ายกับประเทศเกาหลีเหนือ ส่วนการกลายพันธุ์ในไทยขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร" รมช.สธ.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบ68 ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง  ‘เรือดำน้ำ-ฟริเกต’ ไปถึงไหน?

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า “สุทิน” จะได้รับการอนุมัติให้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมต่อเพื่อผลักดันโครงการ และปัญหาที่ยังไม่ลุล่วงเหล่านี้หรือไม่

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์