1มิ.ย.เปิด‘ผับ-บาร์’ ศบค.ชี้ลงอ่างต้องใส่แมสก์ ต่ออายุพรก.ฉุกเฉิน2เดือน

"ศบค." สั่งยกเลิกกักตัวผู้เสี่ยงสูง เปลี่ยนมาสังเกตอาการแทน คนไทยเข้า ปท.ไม่ต้องลงไทยแลนด์พาส ไฟเขียวเปิด "ผับ-บาร์-คาราโอเกะ-อาบอบนวด" พื้นที่สีเขียว-สีฟ้า กำชับนักเที่ยวใส่หน้ากากลงอ่าง เริ่ม 1 มิ.ย. พร้อมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน "บิ๊กตู่" ย้ำเมื่อผ่อนคลายให้แล้วผู้ประกอบการ-นักเที่ยวต้องยึดมาตรการ สธ.เคร่งครัด "ดอน" ตรวจพบติดเชื้อโควิด ส่อวุ่นเพิ่งร่วมวงนายกฯ รับแขกต่างประเทศ "อนุทิน" ชี้สัญญาณดีขยับใกล้โรคประจำถิ่น

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. ครั้งที่ 8/2565 เพื่อติดตามสถานการณ์โควิด-19 และปรับมาตรการต่างๆ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงผลการประชุมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,463 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,439 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,429 ราย ค้นหาเชิงรุก 10 ราย เรือนจำ 23 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,091 ราย อยู่ระหว่างรักษา 58,910 ราย อาการหนัก 1,037 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 510 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 41 ราย เป็นชาย 23 ราย หญิง 18 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 36 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,401,378 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,312,790 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 29,678 ราย

“ทิศทางการติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถือว่าการเข้าสู่การประกาศโรคประจำถิ่นในระยะที่ 3 เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่การประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นยังคงวันที่ 1 ก.ค.ไว้ก่อน เพราะต้องรอดูมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทั้งการเปิดสถานบันเทิงและการเปิดภาคเรียนที่เป็นตัวแปรว่าเป็นอย่างไร”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบปรับมาตรการการกักตัวในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากเดิมให้กักตัว 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน เปลี่ยนเป็นไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันยังเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ จากเดิมมีพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด ปรับลดลงเหลือ 46 จังหวัด และเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท ตราด นครพนม น่าน บุรีรัมย์ พิจิตร อ่างทอง มหาสารคาม ยโสธร ลำปาง สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุดรธานี และอำนาจเจริญ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) จาก 12 จังหวัด เป็น 17 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กทม. กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา 

โฆษก ศบค.กล่าวว่า มาตรการในพื้นที่สีเหลือง ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนเกิน 1,000 คน ขณะที่มาตรการในพื้นที่สีเขียวและฟ้านั้น จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังผ่อนคลายให้สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. โดยให้จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 24.00 น. งดกิจกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการให้บริการที่มีการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า เช่น อาบอบนวด ต้องสวมหน้ากาก โดยผู้รับบริการไม่ต้องโชว์ผลตรวจโควิด เพียงแต่โชว์ผลการฉีดวัคซีน พร้อมกับขอความร่วมมือกลุ่ม 608 งดหรือเลี่ยงเข้าพื้นที่เหล่านี้ 

ไฟเขียวเปิด 'ผับ-บาร์'

                    “มาตรการของสถานประกอบการ ผู้ให้บริการ นักร้อง นักดนตรี ต้องได้วัคซีนตามเกณฑ์และได้รับเข็มกระตุ้น ตรวจคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวัน และตรวจ ATK ทุก 7 วัน สถานบริการต้องขึ้นทะเบียนและขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มไทยสต็อปโควิด อีกทั้งต้องให้กระทรวงมหาดไทย, กทม., สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดติดตามอย่างใกล้ชิด” โฆษก ศบค.กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยปรับลดการตรวจในการเข้าราชอาณาจักร ผู้เดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ สามารถแสดงผลตัว ATK โดยแพทย์ หรือผลตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และยกเลิกการกักตัวในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ แต่หากเดินทางมาถึงแล้วไม่มีผลตรวจโควิด ให้ตรวจ ATK ที่สนามบิน ขณะที่ระบบไทยแลนด์พาสนั้น ให้คงเหลือเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น ขณะที่คนไทยไม่ต้องลงทะเบียนไทยแลนด์พาสแล้ว และยกเลิกการกักตัว โดยให้ตรวจ ATK ที่สนามบิน หากมีผลเป็นบวก ให้ไปพบแพทย์และดำเนินการรักษา แต่หากผลเป็นลบสามารถเข้าประเทศได้เลย 

“ที่ประชุม ศบค.ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. จนกว่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินเป็นโรคประจำถิ่นตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด” โฆษก ศบค.กล่าว

                    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า การประชุมวันนี้มีการผ่อนคลายเรื่องระดับพื้นที่หรือสีของจังหวัด ซึ่งเหลือเพียงพื้นที่สีเขียว สีเหลือง และสีฟ้า เนื่องจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น รวมถึงการมีมติร่วมกันที่จะผ่อนคลายสถานที่ท่องเที่ยว ผับ บาร์ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่รับมาพิจารณาดำเนินการ โดยเราต้องพิจารณาตามหลักของ สธ.

“เมื่อผ่อนคลายให้เปิด ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้ที่ให้บริการและผู้ที่ไปเที่ยว นอกจากนี้ก็มีการปรับมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศให้รวดเร็วขึ้น เพราะจากสถิติจำนวนคนที่เดินทางเข้าประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะทางอากาศ ขณะที่ทางเรือและทางบกก็มีมาตรการอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการหารือตามมาตรการต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ได้สอบถามเรื่องการเปิดเรียน ก็ได้รับรายงานทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อยู่ ฉะนั้นมาตรการทุกอย่างที่รัฐออกไป ตนรู้ว่าประชาชนเดือดร้อน ไม่สบายใจ เพราะทุกคนถูกสถานการณ์ทำให้เกิดความลำบากในการประกอบการ ประกอบอาชีพ และทุกเรื่อง รัฐบาลจึงพยายามทำอย่างเต็มที่ และระมัดระวัง ขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย

"วันนี้ประเทศไทยถูกยกระดับเป็นลำดับต้นๆ ของโลก หรือเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนด้วยซ้ำในเรื่องการดูแลการแพร่ระบาด หลายอย่างก็นำไปเป็นบทเรียน องค์การอนามัยโลกก็นำของเราไปศึกษา วันนี้การท่องเที่ยวของไทยได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ตและเชียงใหม่ ถ้าเราทำได้และร่วมมือกันดี ฉีดวัคซีนให้ครบมันก็จะดีขึ้นไปกว่านี้ เพราะเครื่องจักรสำคัญด้านเศรษฐกิจของเราคือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งวันนี้ก็คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนพอสมควร ก็คงทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องจักรอันอื่นยังไปได้ช้า เพราะเรามีซ้อน 3 ซ้อนคือ 1.มาตรการกีดกันทางการค้า 2.โควิด-19 และ 3.สถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งเกี่ยวพันกันทั้งหมดเท่ากับรัฐบาลเจอ 3 เด้ง ผมพยายามทำอย่างดีที่สุด ตัดสินใจบนพื้นฐานความถูกต้องจากผลการหารือของทุกฝ่าย ซึ่งเราต้องไปด้วยกัน" นายกฯ กล่าว

พบ‘ดอน’ติดเชื้อโควิด

มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลา 08.50 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการใช้ ATK ตามแนวทางที่ปฏิบัติเป็นประจำ แต่ปรากฏว่าผลเป็นบวก จึงเข้ารับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง ในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งผลพบเชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว คาดว่าจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ในไม่นาน เนื่องจากได้รับวัคซีนตามเกณฑ์แล้ว 4 เข็ม

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น นายดอนได้เข้าร่วมหารือกับนายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ที่เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในช่วงที่เตรียมจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งการประกาศไม่ใช่อยู่ดีๆ จะประกาศก็ทำได้ เพราะในช่วงที่ประกาศเป็นโรคระบาดร้ายแรง องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศให้เป็นโรคร้ายแรงของโลก ดังนั้นหากเราจะประกาศ ต้องประสานงานให้เขาได้รับทราบด้วย เวลานี้ดูสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด และขณะนี้เข้าเงื่อนไขของโรคประจำถิ่นบ้างแล้ว ส่วนจะมีโอกาสประกาศได้เร็วขึ้นหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าเรายังไม่เคยพูดว่าจะประกาศวันที่ 1 ก.ค. แต่ใช้เป็นวิธีการปฏิบัติออกมา เช่น การปรับโซนสีพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการผับ บาร์ คาราโอเกะ

ถามถึงความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2548 เพื่อรองรับหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้เรียบร้อยแล้วหรือยัง นายอนุทินกล่าวว่า เราใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว เพื่อรวมความร่วมมือกับทุกฝ่ายมาดำเนินงาน และตราบใดที่ ศบค.ยังไม่ยุบ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีผลอยู่ เราก็ยังทำงานร่วมกันแบบนี้

 “เรื่องหน้ากากอนามัยที่อยู่ในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นเพียงข้อแนะนำในการปฏิบัติ ไม่ถึงกับว่าถ้าไม่สวมหน้ากากแล้วจะต้องถูกลงโทษ ยกเว้นแต่บางจังหวัดที่เป็นประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดไว้ แต่ไม่ได้บังคับใช้ถึงขั้นลงโทษขนาดนั้น และทำไมต้องบังคับใช้ในเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือ ทั่วโลกถอดหน้ากากกันหมดแล้ว แต่เรายังสวมหน้ากากป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่คนร่วมมือโดยไม่ต้องบังคับ ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อดีขึ้น วันนี้ผู้ป่วยที่มีอาการหนักเหลือแค่ 1 พันเศษ จำนวนผู้เสียชีวิตลด นี่คือสัญญาณที่จะนำไปสู่โรคประจำถิ่น” นายอนุทินระบุ

จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.นครราชสีมา ประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ โดยเฉพาะหลังเปิดเทอมเรียนออนไซต์ของโรงเรียนต่างๆ ทั้ง 1,730 แห่ง โดยได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้มีการรายงานสถานการณ์ในโรงเรียน สถานศึกษาทุกวันศุกร์ในทุกสัปดาห์ เพื่อดูแนวโน้มของการแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อในโรงเรียนต่อไป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่เสียชื่อ! ‘ธรรมนัส' นำชาวพะเยารับนายกฯ ‘เศรษฐา’ รับปากดันสร้างสนามบิน

‘เศรษฐา’ รับปากดันสร้างสนามบินพะเยา เปิดท่องเที่ยวเมืองรอง ด้าน ‘ธรรมนัส’ นำชาวบ้านต้อนรับด้วยดอกคำใต้ พร้อมชูป้ายพรึบขอสนามบิน