‘อนุทิน’ ยันไม่ถอยหลัง เปิดทุกอย่างสู้ ‘โควิด’

ศบค.รายงานพบติดโควิดรายวันในไทย 2.5 พันราย เสียชีวิต 28 คน "อนุทิน" ลั่นจากนี้เราไม่มีการปิด หรือห้ามนั่นนี่อีก จะเดินไปข้างหน้า ไม่ย้อนไปข้างหลัง สร้างดุลยภาพทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตได้เต็มที่

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,501 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,500 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,499 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1 ราย จากเรือนจำ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,917 ราย อยู่ระหว่างรักษา 24,112 ราย อาการหนัก 639 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 312 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 28 ราย เป็นชาย 14 ราย หญิง 14 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 20 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,482,389 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,427,963 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,314 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 539,811,565 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,329,876 ราย ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 10 มิ.ย.เพิ่มขึ้น 86,864 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.64 จำนวน 138,522,268 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยควบคุมโควิดได้อย่างดี องค์การอนามัยโลกชื่นชมให้เป็นแบบอย่าง วันนี้ปัญหาของเราไม่ใช่การขาดวัคซีน แต่คือคนไม่ยอมมารับวัคซีน ถือว่าเป็นอันตรายมากพอสมควร ถ้าตอนนี้ใครรับเข็ม 2 แล้ว 3 เดือน ก็ให้มารับเข็ม 3 ทันที และอีก 3 เดือนก็มารับเข็ม 4 หากรับเข็ม 4 แล้วยังเป็นคนเสี่ยงหรือมีความจำเป็นก็มารับเข็ม 5 ได้ ซึ่งผู้ที่รับเข็ม 3 เข็ม 4 เข็ม 5 แล้วแม้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่มีผู้ใดป่วยอาการหนักและเสียชีวิต

ส่วนที่ถามว่าตอนนี้คนไทยจะดำเนินชีวิตกับโควิดได้อย่างปกติหรือไม่ ต้องตอบว่าได้ เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรที่เป็นข้อห้าม สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดหมดแล้ว แต่การประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ไม่จำเป็นต้องประกาศวัน ว. เวลา น. เพราะอยู่ที่พฤติกรรมของเรา ซึ่งทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่ในโรคประจำถิ่นแล้ว เพราะไม่ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ คนเข้ามาก็ไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องตรวจเชื้อ และกำลังพยายามยกเลิกระบบ Thailand Pass ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยกเลิกในคนไทยแล้ว อนาคตอันใกล้ก็จะยกเลิกทั้งหมด เพื่อให้คนเดินทางเข้าประเทศได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า เราดำเนินนโยบายเช่นนี้มาเข้าเดือนที่ 2 แล้ว ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี เพราะได้เตรียมการป้องกันต่างๆ ให้ประชาชนในประเทศหมดแล้ว และคนที่มาจากต่างประเทศก็ผ่านระบบคัดกรองที่เข้มแข็งของกรมควบคุมโรค จึงค่อนข้างที่จะมั่นใจว่าจะประกาศหรือไม่ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เราก็ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้มากแล้ว

"เรื่องหน้ากากอนามัยก็พิจารณาว่า หากอยู่ในบ้านกับคนรู้จัก รู้ว่าไม่ได้ไปมีความเสี่ยงที่ไหนมาก็ถอดหน้ากากคุยกันได้ แต่ถ้าไปสถานที่แออัด มีคนมากมายในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหาร ระหว่างรอคิว ก็ใส่หน้ากากเอาไว้ หรือไปประชุมสัมมนา ห้องประชุมมีคนเยอะ ถ้าไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเขาไปไหนมาบ้างก็ใส่หน้ากาก คิดว่าประชาชนก็เริ่มมีความคุ้นชินกับรูปแบบนี้อยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ.คิด 2 อย่างหลักๆ คือ ทำอย่างไรให้การควบคุมโรคระบาดมีประสิทธิภาพ และเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านอื่นๆ น้อยที่สุด ซึ่งถ้าคิดแค่จะสกัดโรคระบาดก็แค่ปิดทุกอย่าง โรคเหลือ 0 แน่นอน แต่จะเกิดความเสียหายมหาศาล ดังนั้น สธ.ไม่ทำเช่นนี้ เราไม่เอาง่ายเข้าว่า เราต้องคิดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน โอกาสการสร้างรายได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงบริหารจัดการสถานการณ์โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่โควิด

"จากนี้เราไม่มีการปิดหรือห้ามนั่นนี่อีก เราเดินไปข้างหน้า ไม่ย้อนไปข้างหลัง และใช้ความพร้อมที่มีอยู่ ทั้งยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ดำเนินชีวิตพวกเราต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ขอสิ่งเดียวอย่าให้ขาดคือความร่วมมือของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ประคับประคองสถานการณ์ต่างๆ ให้สมบูรณ์ สร้างดุลยภาพทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตได้เต็มที่"

รมว.สาธารณสุขกล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สธ.และรัฐบาลยังพร้อมดูแลเรื่องโรคโควิดเต็มที่ เมื่อพ้นสถานการณ์ไปแล้ว มั่นใจว่าไทยจะได้รับความเชื่อมั่นจากนานาอารยประเทศ คนจะมั่นใจมาเที่ยวไทยมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะเมื่อป่วยก็ได้รับการดูแล แทบจะเรียกว่า first class แต่เราไปป่วยประเทศอื่นเป็นคนละเรื่อง นี่คือ Soft Power ที่ไทยมีอยู่ ความเข้มแข็งที่ไม่ต้องใช้การลงทุน หรือบังคับจิตใจอะไรมากมาย มันอยู่ในสายเลือดของเรา นอกจากนี้ยังจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย เพราะเห็นแล้วว่าการจะไปลงทุนที่ไหนจะดูแค่สิทธิประโยชน์ในการลงทุน เรื่องภาษีอย่างเดียวไม่ได้ ไม่สำคัญเท่าประเทศนั้นมีระบบสาธารณสุขที่ดี

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูง อาทิ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อุบลราชธานี สมุทรปราการ ฯลฯ ให้คุมเข้มมาตรการป้องกัน คัดกรอง รณรงค์ฉีดวัคซีน และดูแลกลุ่มเสี่ยง 608 เป็นกรณีพิเศษ ขอความร่วมมือเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์และรับวัคซีนเข้มกระตุ้นหลังพบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนกลุ่มนี้  ขณะเดียวกันก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมการปฏิบัติหากพบยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ขอความร่วมมือทุกคนยังคงปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับรายงานจากประชาชนผ่านหลายช่องทาง เกี่ยวกับการเปิดบริการสถานบันเทิงเกินเวลาที่กำหนด ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. อนุญาตให้เปิดบริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด หรือสถานที่คล้ายกันได้ไม่เกิน 24.00 น. ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าสถานบันเทิงหลายพื้นที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังสร้างความกังวลให้กับประชาชน จึงได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครองและท้องถิ่น เพิ่มความเข้มงวด ตรวจตราสถานบันเทิงที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ

เธอเผยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้เจ้าหน้าที่ไม่ปล่อยปละละเลยต่อการกระทำความผิด หากพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่มีละเว้น และหากพบเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม รวมถึงผู้ให้บริการเอง

น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า หากประชาชนพบเห็นสถานบริการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 สามารถแจ้งข้อมูลโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน เพราะแม้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลงตามลำดับ แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินกิจกรรมกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะตอกย้ำแนวปฏิบัติจัดระเบียบสังคม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะวางแนวปฏิบัติคณะทำงานบูรณาการมหาดไทย – ตำรวจ ขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้กระทำผิด ชี้ความมั่นคงคือหัวใจเมื่อประชาชนเชื่อมั่น สังคมปลอดภัยแล้วเศรษฐกิจจะตามมา