ฝ่ายค้านทู่ซี้ขอ5วัน ขู่เกมป่วน!ปิดประชุม มาร์คฟันธง‘พท.’ชนะ แต่ตั้ง‘รัฐบาล’ไม่ง่าย

แกนนำ พปชร.ห่วงบรรยากาศศึกซักฟอก วอน "ฝ่ายค้าน" ทำงานสร้างสรรค์ อย่าพูดใส่ร้ายเสียดสี   โฆษกรัฐบาลเย้ย ก.ก. ไร้ไม้เด็ดจึงโหนกระแสเครื่องบินรบพม่าล้ำแดนไทย  ท้าหากมีข้อมูลทุจริตให้นำมาโชว์ "สุทิน" ยืนกรานขอซักฟอก 5 วัน อ้างข้อบังคับหากอภิปรายไม่ครบ 11 คนสั่งปิดประชุมไม่ได้และไม่ยอมแน่ ส.ส.ปชป.เผย ส.ส.กลุ่มใหญ่ต้องการสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 จ่อชงที่ประชุมพรรคให้มีมติ "มาร์ค" เตือนระเบิดเวลา 2 ลูก ส.ว.เลือกนายกฯ-กลุ่มหัวก้าวหน้าต้องการแก้โครงสร้างสถาบัน ฟันธงเลือกตั้งครั้งหน้า พท.ชนะแต่เจอปัญหาตั้งรัฐบาล "โจ้" ข้องใจไม่เอาเครื่องบิน F-16 ขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินรบเมียนมา เล็งซักใน กมธ.งบฯ

เมื่อวันอาทิตย์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การเตรียมพร้อมต้องเป็นของฝ่ายค้าน ตนเป็นเพียงผู้ฟัง  อะไรที่ไม่ถูกต้องข้อเท็จจริงหรือไม่ถูกต้อง ทางรัฐบาลต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และเท่าที่ตนได้พูดคุยกับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกคน มั่นใจสามารถชี้แจงได้ เพราะก็รู้ว่าทำอะไรกันอยู่ ในเรื่องทุจริตผิดกฎหมายยืนยันว่าไม่มีอยู่แล้ว ส่วนบางเรื่องที่แก้ไม่ได้จริงไม่เป็นปัญหาของประชาชนเราก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ตนไม่มีประเด็นใดที่ไม่สบายใจ กังวลเพียงอย่างเดียวคือเรื่องบรรยากาศในการประชุม ขอให้ราบรื่นและเรียบร้อย ขอให้ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ มีข้อเท็จจริงก็พูดไป อย่าไปพูดทำนองใส่ร้ายหรือเสียดสีจนเกิดการประท้วง ขอให้ทำงานกันอย่างสร้างสรรค์

 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่ายังมีข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามาเรื่อยๆ และยังมีประเด็นใหม่เพิ่มขึ้นมาเช่นการรุกล้ำน่านฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านว่า หากฝ่ายค้านจะโหมโรงเรียกร้องความสนใจก็โหมโรงไป   แต่ต้องอยู่บนความพอเหมาะพอดีด้วย  เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากไม่รู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงก็ควรอยู่เงียบๆ ยังจะดีกว่า ไม่ใช่พยายามโยงทุกเรื่องให้เป็นเรื่องการเมืองไปหมด ประเทศจะเสียหายหรือไม่อย่างไรไม่สน แบบนั้นเรียกว่าใช้ไม่ได้ เพราะเอาแต่ได้ไม่ได้ยึดประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นหลัก การที่ฝ่ายค้านหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดนั้น เท่ากับการยอมรับไปในตัวว่าข้อมูล หลักฐาน หรือข้อเท็จจริงที่อ้างว่าเป็นไม้เด็ดนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริง พอเจอเรื่องที่เป็นกระแสจึงรีบกระโดดเข้าใส่ ผสมโรงไปกับเขาด้วย ถือว่าน่าผิดหวัง

"เมื่อฝ่ายค้านบอกว่ามีข้อมูลของรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องของการทุจริต การเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องก็ควรนำมาแสดงด้วย อย่าอภิปรายลอยๆ หรือเอาเรื่องในอดีตมาปนกับเรื่องในปัจจุบันโดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะไม่เช่นนั้นคนที่จะทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็คือฝ่ายค้านเสียเอง ไหนๆ ก็จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก็อยากจะขอให้สร้างผลงานให้ประชาชนได้จดจำบ้างว่าฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่อะไรในสภาบ้าง เพื่อลบภาพจำที่พรรคก้าวไกลมักจะเอาแต่ไปร่วมกับม็อบบนท้องถนนจนไม่สนใจงานในสภา" นายธนกรกล่าว

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวกรณีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่าให้เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตรา 151 เพียง 4 วัน จะไม่สามารถอภิปรายรัฐมนตรีได้ครบ และจะถือเป็นการผิดข้อบังคับการประชุมสภาว่า รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาอะไร แล้วแต่นายสุทินจะว่าอย่างไรก็ว่าไป เอาที่สบายใจ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ที่ประธานสภาฯ ที่ควบคุมการประชุม ตนอยากให้เวลาฝ่ายค้านอภิปราย 3 วันด้วยซ้ำ แต่ทางรัฐบาลเห็นว่าเหมาะสม อภิปราย 4 วัน ลงมติวันที่ 5 ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 6 ก.ค. จะมีการพูดคุยเรื่องกรอบเวลา

เมื่อถามว่า กังวลที่ฝ่ายค้านระบุมีทีเด็ดเช็กบิลรัฐมนตรี จะวางกลยุทธ์ 3 ดาบ ฟันรัฐมนตรีดิ้นไม่หลุด นายนิโรธกล่าวว่า ของเราวางแน่นหมดแล้ว ดาบอะไรก็ไม่รู้  ดาบพู่ดาบแซ่ เอาเถอะพวกชอบชักดาบ  ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร พวกชอบชักดาบก็ชักดาบไป

ฝ่ายค้านย้ำขอ 5 วันซักฟอก

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รัฐมนตรีของพรรค ปชป.ที่ถูกอภิปรายไม่กังวลเรื่องชี้แจง แต่ในเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายก็สำคัญ หากฝ่ายค้านต้องการกรอบเวลาตามที่ต้องการ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องได้รับการจัดสรรเวลาที่เท่าเทียมกันในการชี้แจง ไม่เช่นนั้นฝ่ายค้านอภิปรายแต่ในส่วนของรัฐบาลได้เวลาที่น้อยกว่าก็จะไม่เป็นธรรมต่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายอีกเช่นกัน กรณีที่นายสุทิน คลังแสง ที่พยายามโจมตีว่าการกำหนดกรอบเวลาอภิปรายว่ารัฐบาลขี้เหนียวเวลาด้อยค่าการตรวจสอบ ต้องบอกว่าฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนพร้อมชี้แจงในสภาอยู่แล้ว เพราะเป็นกระบวนการตรวจสอบตามระบบประชาธิปไตย

ด้านนายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันต้องได้วันอภิปราย 5 วัน ไม่รวมวันลงมติอีก 1 วัน รวม 6 วัน หากพร้อมให้อภิปรายวันที่ 19 ก.ค. ก็จะอภิปรายถึงวันที่ 23 ก.ค. และลงมติวันที่ 24 ก.ค. ขณะนี้ต้องไปตกลงในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ วันที่ 6 ก.ค. เพื่อตกลงกรอบเวลาอภิปรายให้ชัดเจน ฝ่ายค้านยืนยันต้องได้ 5 วัน ไม่รวมวันลงมติ หากฝ่ายรัฐบาลจะหักคอฝ่ายค้านในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายให้แค่ 4 วัน ฝ่ายค้านไม่ตกลงด้วยอยู่แล้ว ถ้าถึงวันอภิปราย หากครบ 4 วันเมื่อไหร่แล้วฝ่ายค้านยังอภิปรายรัฐมนตรีไม่ครบ 11 คน จะปิดอภิปรายไม่ได้ เพราะผิดข้อบังคับการประชุมสภาที่ระบุให้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต้องอภิปรายให้ครบทุกคน จึงจะปิดอภิปรายได้ ถ้า 4 วันยังไม่ครบ วันรุ่งขึ้นก็ลงมติไม่ได้ ต้องอภิปรายต่ออีก 1 วันให้ครบก่อน

 "ไม่ต้องห่วงฝ่ายค้านจะอภิปรายวกวนซ้ำซาก ถ้าทำเช่นนั้นประธานที่ประชุมไม่ให้ทำอยู่แล้ว ฝ่ายค้านจะเสียเอง ฝ่ายรัฐบาลอย่ากังวลมากไปโดยไม่มีเหตุผล จะกลัวอะไรนักหนา ถ้าเพิ่มอีกแค่ 1 วัน หรือกลัวข้อมูลฝ่ายค้านพูดไปแล้วได้สาระดี รัฐบาลจะตอบไม่ได้ หากครบ 4 วันแล้วยังอภิปรายรัฐมนตรีไม่ครบ 11 คน แต่รัฐบาลจะชิงปิดอภิปรายฝ่ายค้านไม่ยอมแน่" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรค ปชป. ในฐานะ กมธ.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ได้มีการสงวนความเห็นในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้วิธีหารด้วย 500 จากการที่ได้มีการพูดคุยและอธิบายเหตุผลกับ ส.ส.ของพรรค ปชป. ปรากฏว่ามี ส.ส.ของพรรคบางส่วนต้องการให้พรรคพิจารณาให้ลงมติให้ใช้วิธีหารด้วย 500 ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมพรรคให้พิจารณาลงมติให้ใช้วิธีหาร 500 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องการให้มี ส.ส.พึงมี และในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 ก็ยังคงมี ส.ส.พึงมีอยู่ ดังนั้นการที่จะแก้ไขกฎหมายแล้วจะมาล้มล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้วิธีหารด้วย 500 นั้น ถือว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะได้กำหนดให้แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ในสภา ซึ่งจะเป็นการสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบคู่ขนานที่จะนำมาคำนวณแยกกัน

 “จากที่ได้คุยกับ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนมีความเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน และน่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้พรรคพิจารณาหารด้วย 500 และเรื่องนี้คงจะต้องไปหารือและชี้แจงพรรค เพื่อลงมติว่าจะเอาแบบไหน” นายอัครเดชกล่าว

ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กทม. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “มองอนาคตประเทศไทย” ในโอกาสครบรอบ 25 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ว่าใน 2 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญประเทศไทยจำเป็นจะต้องปรับและปฏิรูปเชิงโครงสร้างในหลายมิติ และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมครบวาระ เพราะกระแสความนิยมของรัฐบาลมีไม่มาก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบเลือกตั้ง อีกทั้งความนิยมของประชาชนยิ่งเทไปที่ฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังเลือกตั้งครั้งหน้าควรแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ให้มีส่วนเลือกนายกฯ หากไม่มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวถือเป็นระเบิดเวลา เป็นข้อผิดพลาด เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าฝ่ายค้าน เช่น พรรคแกนนำพรรคเพื่อไทยจะมีชัยชนะ แต่จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ถือว่ามีปัญหา และหากให้ ส.ว.เลือกนายกฯ อีก ก็ยิ่งมีปัญหาไม่จบ

'มาร์ค'เตือนระเบิดเวลา2ลูก

"หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และจะยอมประนีประนอมเฉพาะหน้าในเชิงผลประโยชน์หรือไม่ ถ้ายอมประนีประนอม แต่จะทำให้ฝ่ายหัวก้าวหน้าที่ต้องการแก้โครงสร้างสถาบันหลักอาจไม่นิ่งเฉย ซึ่งเป็นระเบิดเวลาอีกหนึ่งปัจจัย และเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ตนก็พูดแล้วว่าเข้ามาในวงการการเมืองถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เป้าหมายต้องไม่มาทำเพื่อครอบครัวตัวเอง แต่ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวในพรรคออกมายืนยันว่าจะไม่ทำแบบนั้น จึงมองว่าการเมืองไทย ท้ายที่สุดจะกลับไปสู่วังวนเดิมอีก" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเครื่องบินรบ MIG 29 ของเมียนมารุกล้ำในน่านฟ้าไทยว่า ทำไมกองทัพอากาศไม่ส่งเครื่องบิน F-16 ที่มีประสิทธิภาพขึ้นสกัดกั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกว่าเครื่องบินรบเมียนมาตีวงเลี้ยวเข้าน่านฟ้าไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอโทษแล้วคุยกันแล้ว แต่ตนมองว่าความจริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าการเข้ามาลุกล้ำน่านฟ้าไทย ถือว่ารุกล้ำอธิปไตยของประเทศ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผอ.ทอ. ระบุว่าก็เดือดเหมือนกัน แต่เครื่องบิน F-16 ขึ้นบินช้า ยืนยันระบบป้องกันทางอากาศดี แต่เมียนมาคือเพื่อน ซึ่งมองว่าเป็นการพูดปัดไปมา เครื่องบิน F-16 มีประสิทธิภาพมากกว่า MIG 29 และยังมีอาวุธที่ทันสมัยกว่าทำไมเราไม่บินไปสกัดกั้น

 "ในปี 2566 กองทัพอากาศได้ของบประมาณ 36,113 ล้านบาท การตั้งงบของกองทัพอากาศในปีนี้ไม่เหมาะสม เช่น การจัดซื้อเครื่องบินรบ F-35A ซึ่งซื้อเฉพาะเครื่องบินเปล่า ไม่มีอาวุธลำละ 2,700 ล้านบาท จำนวน 2 ลำ จากทั้งหมด 8 ลำ ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ จะมีการพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ก็จะถามถึงกรณีเครื่องบินรบเมียนมาบินเข้าน่านน้ำไทยกับกองทัพอากาศด้วย เพราะเสียอธิปไตยประเทศเป็นอย่างมาก" นายยุทธพงศ์กล่าว

ภาคประชาชน 12 องค์กร, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), เครือข่ายนักวิชาการด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SHAPE SEA), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ออกแถลงการณ์กรณีเครืองบินรบของพม่าลํ้าเขตแดนไทยว่า การรุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทย เท่ากับรัฐบาลไทยสนับสนุนให้มีการเข่นฆ่าประชาชนชาวพม่า ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลแสดงจุดยืนที่ชัดเจน คัดค้านการใช้กำลังทหารในการเข่นฆ่าประชาชนของตนเอง รัฐไทยย่อมถูกมองว่าเป็นการ "สมคบคิด" กับระบอบเผด็จการ "มิน อ่อง หล่าย" ที่ถูกฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ต้องทบทวนท่าทีต่อ "มิน อ่อง หล่าย" ว่าควรค่าต่อการคบค้าสมาคม กับบุคคลที่โหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม เป็นอาชญากรที่ปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชนชนชาติเดียวกันต่อไปหรือ ต้องประกาศเขตห้ามบิน (No Fly Zone) บริเวณชายแดนโดยทันที เพื่อธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยและเขตปลอดภัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง