สธ.พร้อมรับไม้ต่อศบค.

“บิ๊กป้อม” ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ไฟเขียวยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดฉาก 3 ปี “ศบค.” มีผล 30 ก.ย.นี้ “อนุทิน”  รับไม้ต่อ 1 ต.ค. ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ดูแลโควิด พร้อมแผน 4 ระดับคุมสถานการณ์ “เลขาฯ สมช.” เตรียมเสนอ ครม.รับทราบ 27 ก.ย.นี้  “มท.1” มั่นใจทุกจังหวัดไม่มีปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่าน “ที่ปรึกษา ศบค.” ขอ ปชช.อย่าการ์ดตก ดูแลตัวเองเหมือนเดิม

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.30 น. วันที่ 23 กันยายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2565 ซึ่งถือเป็นประธานการประชุม ศบค.ครั้งแรก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมทั้งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ประวิตรกล่าวก่อนการประชุม ศบค.ว่า ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศบค.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.2563 ซึ่งเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่งแล้ว สามารถบริหารจัดการจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งผู้ติดเชื้อผู้ป่วยที่ลดน้อยลงไป

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานว่าปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศ ที่ผู้ประกอบการขับเคลื่อนกิจการได้ปกติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 และขยายมารวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและ ครม.ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 ก.ย.65 เป็นต้นไป ถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค.

 “หลังจากนี้เมื่อไม่มี ศบค.แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะเป็นผู้กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยมีแผนปฏิบัติการควบคุมโรครองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ควบคุมโรคให้อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังหรือรุนแรงน้อย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับการควบคุม มีการวางแผนทางไว้ 4 ระดับ โดยสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับเฝ้าระวังที่อัตราป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 0.1% อัตราครองเตียงอยู่ระหว่างที่ 11-24% จะให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคเป็นระดับอำเภอ แต่ถ้าอัตราการป่วยเสียชีวิตขยับไปที่ 0.1-0.5% อัตราครองเตียง 25-40% จะถือเป็นระดับรุนแรงน้อย ศูนย์ปฏิบัติการจะเป็นระดับจังหวัดและเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคขึ้นมา หรือถ้าไปถึงระดับรุนแรงปานกลาง มีอัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 0.5% อัตราครองเตียง 41-75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข หากเข้าขั้นระดับรุนแรงมากที่อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 1% อัตราครองเตียงมากกว่า 75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับประเทศ

ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 752 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 752 ราย หายป่วย 794 ราย อยู่ระหว่างรักษา 8,235 ราย อาการหนัก 523 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 244 ราย เสียชีวิต 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,677,090 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,636,163 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 32,692 ราย โดย สธ.คาดการณ์จากนี้จนถึงปี 2566 อาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็กๆ ขึ้นบ้างตามสถานการณ์ แต่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

ใช้ พรบ.โรคติดต่อคุมโควิด

 “เรื่องของวัคซีน จะมีคณะกรรมการสร้างเสริมคุ้มกันโรคแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มาทำหน้าที่ดูแลตรงนี้ ส่วนการจัดหาและกระจายวัคซีน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายใต้ได้รับวัคซีน จะมีคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มาดูแล ดังนั้นหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มต่อไปจะไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติแผนจัดหาวัคซีนเดือน ต.ค.65 ตามกรมควบคุมโรคเสนอ เห็นชอบแผนการประชาสัมพันธ์โควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น รับทราบความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีน เห็นชอบการจัดจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และรับทราบการประมวลผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติป้องกันและควบคุมโรค” โฆษก ศบค.กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังได้รายงานข้อมูลการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65-21 ก.ย.65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งสิ้น 5,257,196 คน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม 211,974 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 432,889 ล้านบาท 

 “พล.อ.ประวิตรได้ขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือ ขอบคุณผู้ประกอบการที่ร่วมใจ และภาครัฐที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งจนผ่านพ้นและเปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน ศบค.ชุดใหญ่ดำเนินงานมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้วางแผนป้องกันเอาไว้ และขอให้การดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ด้านนายอนุทินกล่าวว่า หลังยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรามีทั้งมาตรการและแผนปฏิบัติการที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประชุมกันเมื่อวันพุธ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา และเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาครั้งนี้ ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแผนปฏิบัติการกับโรคติดต่อเฝ้าระวังตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติให้ลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งมีโรคแบบนี้อยู่กว่า 50 โรค เขามีแผนขั้นพื้นฐานของอยู่แล้ว 

ถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไม่ต้องกักตัว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นเช่นไร นายอนุทินกล่าวว่า เดี๋ยวว่ากัน มันมีรายละเอียดอยู่ ตนยังไม่สามารถลงรายละเอียดตรงนี้ได้

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค.กล่าวว่า การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังทำให้เราสบายขึ้นเยอะ เพราะทุกอย่างผ่อนคลายเกือบหมด แต่อยากย้ำว่าเรายังต้องดูแลตัวเอง เพราะยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ซึ่งเราไม่อยากให้มีใครเสียชีวิต ต้องให้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่านี้ ตนเชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนจึงต้องดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงตนเอง สามารถถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความจำเป็น ที่สามารถลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งหากฉีดเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันลองโควิดได้ แต่ตอนนี้การฉีดเข็มกระตุ้นยังถือว่าต่ำ จึงขอให้เข้ารับการฉีดอย่างน้อยให้ได้เข็มที่ 3 ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร จะทำให้เราสบายใจกันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายคนพอเห็นอาการไม่รุนแรงเลยไม่ไปฉีดกัน

 “การระบาดระลอกใหม่ไม่ใช่เรื่องที่เรากังวล เพราะเรียนรู้จากโควิดมา 3 ปี มีระบบที่รองรับได้ แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค. ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศบค.หมดไป ดังนั้นแต่ละกระทรวงจะยังทำงานโดยบูรณาการร่วมกันโดยใช้มติ ครม.ไปก่อน และระยะยาวเราได้แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่มีโครงสร้างบางส่วนคล้าย ศบค. จะได้ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสภา ที่ผ่านมาเคยเสนอนายกฯ ออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อใช้ไปก่อน รวมทั้งยืนยันหลังวันที่ 1 ต.ค. จะไม่เกิดสุญญากาศ กระทรวงต่างๆ ยังทำหน้าที่ การทำงานจะไม่มีปัญหา แต่อาจไม่เข้มข้นเหมือนตอนมี ศบค.” ที่ปรึกษา ศบค.ระบุ

ไม่สุญญากาศมีแผนรับมือ

ส่วน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาฯ สมช. กล่าวว่า หลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รวมทั้งก็ยังมีร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่ปรับปรุงจากที่ใช้อยู่เดิมด้วย คือปี 2558 ถ้ามีอะไรพิเศษเราสามารถพิจารณาใช้กฎหมายเพิ่มเติมได้ ส่วน ศบค.ก็จะยุติ โดยมติทั้งหมดจะต้องนำเข้า ครม.วันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหมดความจำเป็นที่จะใช้ในการควบคุมโรค และไม่จำเป็นต้องใช้ควบคุมโรคอื่นๆ จึงไม่ต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และในระหว่างนี้จะนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาใช้ดูแล ซึ่งคิดว่าเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ เพราะระดับท้องถิ่นและจังหวัดมีประสบการณ์รับมือมาแล้ว ขณะที่ผลการตรวจภูมิคุ้มกันบุคคลในแต่ละจังหวัด พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ภูมิคุ้มกันที่สูงจากการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ แม้จะพบผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK เฉลี่ยหลัก 10,000 คนต่อวัน แต่มั่นใจว่าจำนวนจะค่อยๆ ลดลง และจากนี้เราจะเดินหน้าเปิดประเทศ เสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป เหมือนกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะเปิดในวันที่ 11 ต.ค.นี้

ถามว่า ในที่ประชุม ศบค.ได้วิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า เราไม่ได้วิเคราะห์อย่างนั้น แต่ที่ผ่านมาพูดเสมอว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีประโยชน์ในแง่ควบคุมโรค เพราะกฎหมายที่มีอยู่เดิมอาจไม่ครอบคลุม เช่น เรื่องกำหนดการเดินทางในช่วงที่มีการระบาดจำนวนมาก แต่สถานการณ์ระยะหลังจำเป็นน้อยลง เนื่องจากการครองเตียงและผู้เสียชีวิตน้อยลง

 “หลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราก็มีแผนรองรับไว้แล้ว โดยกำหนดอาการตามแท่งสี เพื่อแบ่งเกณฑ์การรักษา และมียุทธศาสตร์สำหรับสถานการณ์ในแต่ละประเภท หากเกิดเหตุก็นำแผนที่เตรียมไว้มาใช้ได้ทันที” นายสาธิตกล่าว

ถามว่า ครม.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแลหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการเฉพาะหรือไม่ รมช.สาธารณสุขกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาตามความจำเป็น และเสนอให้ ครม.เห็นชอบ แต่เวลานี้การบริหารสถานการณ์โควิด ทาง สธ.จะเป็นหน่วยงานหลักตามอำนาจใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากเน้นย้ำหรือมีข้อกังวลอะไรหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดตามการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อยู่ตลอด แต่ไม่ได้แสดงความเห็น จึงมองว่าเห็นด้วยกับทุกเรื่องที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม

วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของแต่ละจังหวัดได้เตรียมแผนตามกรอบ สธ.ไว้หมดแล้ว โดยแต่ละจังหวัดใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการตามกรอบ ซึ่งมีแผนรองรับฉุกเฉินรวมอยู่ด้วย

“ยืนยันการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้แต่ละจังหวัดไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะแต่ละจังหวัดจะมีการเตรียมการรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว” รมว.มหาดไทยกล่าว

ที่ จ.นครราชสีมา นพ.เจษฏ์ บุณยวงษ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป รวมทั้งกลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไป เข็ม 3 เข็ม 4 และเข็ม 5 อย่างต่อเนื่อง โดยการฉีดวัคซีนจากนี้ไปมีการเปลี่ยนแปลงไป รับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา, โรงพยาบาลทุกแห่งทั้ง 32 อำเภอ และ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล 

“การฉีดวัคซีนเราผ่านพ้น ตอนนี้ทั่วประเทศประมาณ 160 ล้านคน ยังมีคนกลุ่มหนึ่งคือเด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 5 ปีเด็กกลุ่มนี้ยังไม่เคยรับวัคซีนของโควิดมาก่อน ฉะนั้นในช่วงเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าน่าจะมีการฉีดวัคซีนของเด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 5 ปี ซึ่งกลุ่มนี้โดยเบื้องต้นต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มสำหรับวัคซีนโควิด ซึ่งยังคงมีความจำเป็น” นพ.เจษฎ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง