ศาลแจงคดีตะวัน-แบม อึ้ง!ขอเที่ยวทะเล-ฉลอง

รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แจงอาการ "ตะวัน-แบม" สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ 340 หมอ-พยาบาลรวมชื่อยื่นศาล-UN เร่งให้ประกัน ยก 6 เหตุผลถึงตาย ด้านโฆษกศาลแจงยิบ ทั้งคู่อยู่ในความดูแลตามเงื่อนไขศาลโดย "พิธา" ที่ผ่านมาเคยทำผิดเงื่อนไขศาล และศาลเคยอนุญาตให้นอกเคหสถาน 14 ครั้งจากที่ขอ 19 ครั้ง มีทั้งไปเที่ยวระยอง เล่นบอร์ดเกม ฉลองหลังสอบเสร็จ เผยคดีม.112 เพียวๆ ปล่อยตัวเกือบหมดแล้ว ยกเว้นมีคดีวางระเบิดวางเพลิงพ่วง

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ชี้แจงอาการป่วยของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) โดยสรุปอาการของ น.ส.ทานตะวันว่า ยังคงไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ รู้สึกตัวดี ยังมีอาการอ่อนเพลีย ตาลาย ปากแห้ง ยังมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติหรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น ยังเจ็บหน้าอกด้านซ้ายเวลาพลิกตะแคงตัว มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง นอนหลับได้เป็นพักๆ สามารถโต้ตอบได้ อารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วยังคงต่ำกว่า 70 mg/dL ปฏิเสธคำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำผสมวิตามินซีเพื่อบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ส่วนอาการของ น.ส.อรวรรณ ยังคงไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ รู้สึกตัวดี ยังมีอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง ปวดกรามลดลง มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง ต้นขาอ่อนแรง เกร็งขาเหมือนเป็นตะคริว เวียนศีรษะ นอนหลับได้เป็นพักๆ สามารถโต้ตอบได้ อารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะจากปลายนิ้วเริ่มต่ำกว่า 70 mg/dL

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ หมอ-พยาบาล รวม 340 รายชื่อ เดินทางยื่นถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญารัชดาฯ และผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย เร่งให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด พร้อมทั้งแสดงกังวลถึงสุขภาพผู้กระทำการอดน้ำ-อาหารประท้วง

โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ประกอบไปด้วยสหสาขาวิชาชีพ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักโภชนาการ นักเทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายสาขาวิชาชีพนั้น มีความกังวลต่อสภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องหาเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับจดหมายเปิดผนึกเรื่อง ขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพื่อให้ได้รับการรักษาทางร่างกายและจิตใจ มีเนื้อหาความว่า   มีความวิตกกังวลต่อสภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสิทธิโชค ที่ได้มีการประกาศอดอาหาร ทานตะวันและแบม ที่ประกาศอดอาหารและน้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อภาวะสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว โดยผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจากการการอดอาหารและน้ำนั้น อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อภาวะสุขภาพ ดังนี้

1.ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 2.การขาดสมดุลเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance) ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบกล้ามเนื้อ 3.ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ความรุนแรงที่มากจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไตวายเฉียบพลัน หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน

เสียชีวิตได้ในที่สุด

4.ภาวะไตบาดเจ็บ (Acute Kidney Injury) มีโอกาสกลายเป็นโรคไตเรื้อรังจนถึงขั้นต้องฟอกไต 5.ภาวะ Ketoacidosis หรือเลือดเป็นกรด อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 6.กลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการได้รับสารอาหาร หลังจากการขาดอาหารเป็นเวลานาน (Refeeding Syndrome) ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติและเสียชีวิตได้ในที่สุด

วันเดียวกันนี้ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้เเถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตามที่มีข่าวในสื่อมวลชน กรณีวันที่ 16 ม.ค.66 ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกการปล่อยชั่วคราวนางสาว  ท. และนางสาว อ. ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ศาลยุติธรรมขอแจ้งให้ทราบ ดังนี้

ดุลพินิจของศาลในการสั่งคดี มีการตรวจสอบตามลำดับชั้นศาลในทางวิธีพิจารณาคดี คดีนี้ หากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ได้

 กรณีนางสาว ท. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2565 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการในลักษณะแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา) คำสั่งศาลอาญานี้ เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าคดีมีเหตุที่จะออกหมายขังได้ตามกฎหมาย แต่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขให้นางสาว ท. ปฏิบัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการไปก่อเหตุต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ต่อมาวันที่ 18 มี.ค.2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาว ท. ได้ทำกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลไต่สวนแล้วพบว่านางสาว ท. ปฏิบัติผิดเงื่อนไขจริง จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

วันที่ 20 พ.ค.2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางสาว ท. โดยนางสาว ท.และนายพิธายืนยันรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ

ไปเที่ยวจังหวัดระยอง

ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา) และให้ตั้งนายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลนางสาว ท. เงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าว ศาลกำหนดให้ใช้แก่คดีต่างๆ มามากแล้ว มิใช่เจาะจงใช้เฉพาะแก่คดีนี้หรือคดีกลุ่มนี้ และเป็นการกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การติดกำไล EM ก็ดำเนินการภายใต้ความยินยอมของผู้ต้องหาให้ติดได้ การห้ามออกนอกเคหสถานหรือห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว (ม.108 วรรคสาม)

แม้นางสาว ท. จะยินยอมสวมกำไล EM และยอมรับเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ก็ได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปทำกิจธุระหรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามสมควร ซึ่งนางสาว ท. ได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระรวม 19 ครั้ง ศาลอาญาได้พิจารณาอนุญาตถึง 14 ครั้ง เช่น นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ทำบัตรประจำตัวประชาชน ตัดชุดกระโปรงนักศึกษา ซื้อเอกสารประกอบการเรียน ไปเที่ยวจังหวัดระยอง เล่นบอร์ดเกม ฉลองหลังสอบเสร็จ ชมงานศิลปะ โดยศาลไม่อนุญาตเพียง 5 ครั้ง ด้วยเหตุกิจกรรมที่ขออนุญาตไปดำเนินการมีลักษณะที่จะผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว

สำหรับประเด็นเรื่องการนัดไต่สวนกรณีผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของนางสาว ท.นั้น เป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยการคุมขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา นอกจากศาลต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในคดีที่มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจดำเนินการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงหรือไม่ และสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ทุกคดีไป

ในกรณีของนางสาว ท. ศาลนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาเรื่องการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราววันที่ 1 มี.ค.2566 แต่เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 นางสาว ท. และนางสาว อ. ยื่นคำร้องขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราวตนเอง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไปตามที่ผู้ต้องหาประสงค์ เพราะพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเข้าเกณฑ์เป็นกรณีผู้ต้องหาแสดงเจตนาว่าไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหาและผู้กำกับดูแลรับรองกับศาลไว้ได้  อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย เมื่อมีการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวและศาลมีคำสั่งออกหมายขังแล้ว จึงไม่ต้องมีการไต่สวนอีก

นายสรวิศยังกล่าวเสริมว่า ข้อเรียกร้องที่จะให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคนก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตะวันและแบมจะมีทางออกอย่างไรได้บ้างนั้น ตนคิดว่าในคดี 112 ปัจจุบันมีในศาลอาญา มีการปล่อยชั่วคราวเกือบทุกคดี มีเพิกถอนปล่อยชั่วคราว 3 คดี เนื่องจากมีการกระทำผิดเงื่อนไข อีกสองคดีเป็นคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ทั้งสามคดีนี้ไม่รวมคดีของตะวันและแบมที่ยื่นขอถอนประกันตัวเอง ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันเลยมีแค่คดีเดียว แต่ส่วนที่มีปัญหาคือเป็นคดี 112 บวกกับความผิดข้อหาอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น วางเพลิงวัตถุระเบิดซึ่งมีหลายคดี แต่ละคดี  ซึ่งจะเห็นว่าพฤติการณ์แต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน ถ้าเฉพาะมาตรา 112 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ารวมข้อหาวางเพลิงมีวัตถุระเบิดต่อสู้ขัดขวางก็จะต้องแยก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์