จับตาแบงก์สหรัฐล้ม/หุ้นดิ่ง27จุด

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

นายกฯ มอบทีมเศรษฐกิจติดตาม 2 ธนาคารในอเมริกาปิดตัว ไม่พบแบงก์ไทยเกี่ยวข้องหรือเข้าลงทุน ย้ำพื้นฐานสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง ระบบกำกับเข้มตั้งแต่หลังวิกฤตปี 40 "คลัง" แจงยังไม่ส่งผลต่อไทยโดยตรง "ตลท." บอกนักลงทุนอย่าเพิ่งตกใจ แนะติดตามข่าวสารต่อเนื่อง ขณะที่ "ส.อ.ท." จับตาการแก้ปัญหา หวั่นสถานการณ์ลุกลามล้มเป็นโดมิโน 

เมื่อวันจันทร์ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลติดตามสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกับประเมินผลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่เพียงใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุน หรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง พร้อมกับประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากทั้ง 2 แห่งมีการทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ  ไม่ได้มีการบริการแบบกว้างขวางเช่นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และทางการสหรัฐฯ มีการเข้าดำเนินการดูแลปัญหาที่รวดเร็ว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ทางด้านฐานะของสถาบันการเงินไทยทั้งระบบมีความแข็งแกร่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำกับด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด  ซึ่งมาตรการกำกับระบบสถาบันการเงินของไทยมีการปรับปรุงให้ดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รัดกุม มาตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 ทำให้ในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤตการเงินโลกหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตโควิด-19 แต่สถาบันการเงินของไทยทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ก็ยังสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ด้วยฐานะที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท.ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565  ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบมีเครื่องชี้ฐานะทางการเงินในระดับสูง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS  Ratio) ร้อยละ 19.4 สภาพคล่อง (Liquidity  Coverage Ratio: LCR) สูงถึงร้อยละ 197.3  มีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.73  ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL  Coverage Ratio) สูงถึงร้อยละ 171.9 การให้สินเชื่อ และรับเงินฝากในภาพรวมมีการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวในลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบการดูแลผู้ฝากเงินที่เข้มแข็ง ด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 1.34 แสนล้านบาท  คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งกองทุน ณ ปัจจุบันสามารถครอบคลุมผู้ฝากกว่าร้อยละ 98% ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ หรือระบบการเงินของประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป

 “ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน  ในการนี้ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด” นายพรชัยกล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ต้องดูความรุนแรงของเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือไม่ แต่ปัจจุบันยังเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) รวมถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็เข้ามาดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตอนนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่อาจจะกระทบคนไทยที่นำเงินออกไปฝากและผู้ที่กู้เงินจากธนาคารเหล่านี้ แต่ก็คาดว่าไม่ได้เยอะมาก รวมถึงผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) คาดว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบเยอะ

"แต่ยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแค่ไหน แนะนำนักลงทุนอย่ากังวลและตกใจเกินไป แต่ให้ระมัดระวังและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามหน่วยงานต่างๆ จะมีการปรับตัวอย่างไร” นายภากรกล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้ว สิ่งที่กังวลมาตลอดและยังคงต้องติดตามต่อไปคือ การที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย มากขึ้น และจะกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ที่มีฐานะการคลังอ่อนแอ คิดเป็น 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้จากผลกระทบต่อภาคส่งออกตั้งแต่เดือน ต.ค.65  จนถึง ม.ค.66 ที่การส่งออกมีมูลค่าติดลบต่อเนื่อง จึงทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมโต 1-2%  เป็น 0-1% จากปีก่อน ดังนั้นการส่งออกของไทยครึ่งปีแรก จึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลงไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก  

 “การล้มลงของ SVB ระยะสั้นอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน และหลายคนมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ดังนั้นต้องดูนโยบายที่สหรัฐฯออกมา ว่าจะสามารถสกัดกั้นการลุกลามเป็นโดมิโนจนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ได้หรือไม่ในระยะต่อไป โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายกังวลคือ แบงก์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ยังคงส่งสัญญาณจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่อาจไปแตะระดับ 5.25-5.50%” นายเกรียงไกรกล่าว

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สำหรับไทยผลกระทบจะปรากฏทางอ้อมผ่านความผันผวนของตลาดการเงินมากกว่า ขณะที่ผลกระทบทางตรงจากธนาคารของสหรัฐฯ  ทั้ง 2 แห่งยังมีจำกัด นอกจากนี้ด้วยความที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสถานะสภาพคล่องและความมั่นคงของเงินกองทุนที่มั่นคง รวมถึงมีการกระจายตัวของโครงสร้างสินทรัพย์และโครงสร้างเงินฝากที่ดีกว่า อีกทั้งพฤติกรรมลูกค้าแตกต่างจากสหรัฐฯ และที่สำคัญยังมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิดโดย ธปท. จึงเชื่อมั่นว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังในกรณีสหรัฐอเมริกา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง