รถบรรทุกชงหลักฐานก.ก. ช่วยจัดการส่วยสติกเกอร์

สหพันธ์การขนส่งฯ หอบหลักฐาน "ส่วยสติกเกอร์" ชง "ก้าวไกล"   ช่วยแก้ปัญหา แฉส่วยมีอยู่ทุกพื้นที่พัฒนาการรุนแรงในยุคนี้ ร้องเรียนมาทุกกระบวนการแต่ไม่ได้รับการแก้ไข  "วิโรจน์" ระบุต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง พร้อมเลิกการซื้่อขายตำแหน่ง รรท.ผบ.ทล.ตั้งชุดสืบสวนทางลับจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินแล้วหลายราย ป.ป.ช.เร่งหน่วยงานรัฐเดินหน้ามาตรการป้องกันทุจริต แย้มอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเอาผิด จนท.รัฐ

ที่ที่ทำการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เวลา 14.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำโดยนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย พร้อมสมาชิกกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือและเข้าหารือกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ถึงปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก

ภายหลังการหารือ นายวิโรจน์เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่พรรคก้าวไกลได้รับเกียรติจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่เป็นสะพาน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของประกอบการการขนส่งถึง 10 สมาคม เป็นเกียรติอย่างสูงที่พวกเราได้ทำงานร่วมกัน ทั้งในเรื่องของการกำจัดปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก  และจะถูกผลักภาระไปยังภาคสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมทั้งทำให้ถนนเสียหาย และเป็นความเสี่ยงของประชาชนผู้ใช้ถนน

"ตอนนี้ทุกคนคงตั้งเป้าไปที่ตำรวจทางหลวง แต่นอกจากนี้ยังมีตำรวจภูธร หรือตำรวจในพื้นที่ที่ดูแลการจราจร บางท่านยังมีการกระทำดังกล่าวอยู่ ต้องยอมรับว่าเรายังต้องพูดถึงตำรวจภูธรอีก จากที่ประชุมพบว่าตำรวจทางหลวงบางท่านที่เป็นปัญหาก็ได้ยุติไปชั่วคราวแล้ว  แต่ในบางพื้นที่ยังพบว่ามีตำรวจภูธรยังชะล่าใจและกระทำอยู่ ผมขอบอกว่าเลิกเถอะ และในส่วนของสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะที่มีส่วนเกี่ยวพันด้วยนั้น คงจะไปบอกว่าให้เปลี่ยนทั้งหมดหรือเป็นทุกคนคงไม่ได้ ต้องย้ำว่าปัญหาเป็นที่ระบบ คาดว่าความเสียหายอยู่ในระดับหมื่นล้าน เรื่องการทุจริตนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของการทุจริตทั้งหมดในประเทศไทย"

นายวิโรจน์กล่าวด้วยว่า วาระสำคัญของการประชุมคือการสืบสาวราวเรื่องของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเราจะรวบรวมและส่งข้อมูลไปให้กับสำนักงานจเรตำรวจ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ที่ได้รับตำแหน่งรักษาการผู้บังคับการตำรวจทางหลวงในขณะนี้

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหานี้ยังคงมีเรื่องของกฎระเบียบจุกจิกที่ยังเป็นปัญหาอยู่ การทบทวนการแก้ไขข้อกฎหมายยังเป็นภาระหน้าที่ และการร่วมกันทำงานของพรรคก้าวไกลและสมาพันธ์ คิดว่าคงต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง เพราะหากตัดปัญหา เรื่องที่ต้องใช้ดุลพินิจออกไป ปัญหาคอร์รัปชันก็จะหมดไปโดยปริยาย  และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องการยกเลิกการซื้อขายตำแหน่งและระบบตั๋วของตำรวจ เชื่อว่าถ้าสิ่งนี้หมดไป การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันก็จะยั่งยืน

ด้านนายอภิชาติกล่าวว่า กระบวนการส่วยอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2539 และพัฒนาความรุนแรงขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ถามว่าที่ผ่านมาสหพันธ์หรือสมาคมทำอะไรอยู่ ทำไมจึงแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ซึ่งการพัฒนาของส่วยสติกเกอร์มาจากการที่มีสื่อมวลชนเจ้าหนึ่งแอบถ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะที่เรียกรับสินบนจากรถบรรทุกไว้ได้ และได้เผยแพร่เป็นข่าวออกไป การเก็บส่วยตามท้องถนนจึงหมดไป แต่มีการพัฒนาเป็นแผ่นสติกเกอร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเคลียร์ทาง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้อย่างสะดวก

มอบรายชื่อส่วยให้ 'วิโรจน์'

"ผมอยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปีแล้ว ร้องเรียนมาทุกกระบวนการ ตั้งแต่นายกฯ ผบ.ตร. รมต.คมนาคม แต่นายวิโรจน์ได้นำปัญหานี้มาบอกกับประชาชน และตรวจสอบ จนทำให้เกิดการโยกย้ายตำแหน่งในตำรวจทางหลวง การขนส่งเป็นหัวใจสำคัญ เป็นเส้นเลือดใหญ่ หากมีปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องขนส่งไปยังทั่วประเทศจะติดขัด หากยังมีระบบส่วยอยู่ จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ในเรื่องของราคาพลังงาน รัฐบาลที่แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้สินค้าดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามร้องเรียนไปทุกกรมกอง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข"

นายอภิชาติได้เปิดเผยถึงวิธีการในการจำหน่ายส่วยสติกเกอร์ของตำรวจอีกด้วยว่า จะมีตำรวจระดับล่าง ตั้งแต่ยศนายสิบ เรียกรถเข้าไปตรวจพร้อมกับให้เบอร์โทรศัพท์ โดยบอกว่าให้โทร.ไปเคลียร์กับเจ้านาย ซึ่งหากไม่ทำตามจะถูกกดดันและถูกตรวจค้น และหาข้อกล่าวหาที่ทำให้เราผิด และในส่วนของราคาส่วยสติกเกอร์มีหลายระดับ และราคาตั้งแต่ 3,000-5,000 บาท ไปจนถึงระดับพรีเมียม 25,000-27,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิชาติยังได้นำเอกสารที่มีรายละเอียดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรายชื่อผู้ประกอบการที่จำหน่ายส่วยสติกเกอร์ จำนวน 46 เจ้า  มามอบให้นายวิโรจน์ด้วย และจะนำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการแทน ผบก.ทล. เปิดเผยหลังจากเรียกประชุมรองผู้บังคับการ, ผู้กำกับการ ในสังกัดตำรวจทางหลวง จากกรณีสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก ว่า ได้สั่งการให้ทุกกองกำกับการมีผลปฏิบัติการในการจับกุมรถบรรทุกที่ฝ่าฝืนทำผิดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่าเริ่มมีการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินบ้างแล้วประมาณ 5 ราย ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ สมุทรปราการและอุบลราชธานี คาดว่าหลังจากที่มีการถ่ายทอดคำสั่งนโยบายไปแล้ว ต่อไปน่าจะมีการจับรถที่ทำผิดกฎจราจรมากขึ้น

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้สั่งให้ยกเลิกชุดเฉพาะกิจทุกชุด พร้อมทั้งตั้งชุดสืบสวนสอบสวนทางลับแสวงหาข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งจะได้หารือกับสมาพันธ์รถบรรทุก เพื่อประสานข้อมูล นำมาเป็นพยานหลักฐานดำเนินการกับตำรวจ ส่วนจะเรียกเข้ามาช่วยราชการหรือไม่นั้น ต้องมีข้อมูลเป็นหลักฐาน ถามว่าตอนนี้หากรู้ว่าตำรวจคนนี้ทำไม่ดี แต่เรายังไม่มีข้อมูลหลักฐานก็ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เร็ว ทางสมาพันธ์ต้องนำหลักฐานมาให้เลย จะได้สั่งดำเนินการได้ทันที ซึ่งตรงนี้เป็นความจริงใจของเราในการแก้ปัญหาต่อไป

ส่วนการประสานขอข้อมูลจากนายวิโรจน์นั้น พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า   ขณะนี้ยังไม่มีการตอบรับกลับมาผ่านทางรอง ผบก.ทล. แต่ตนอาจจะประสานไปด้วยตนเอง ทั้งนี้ ตนชื่นชมนายวิโรจน์ ที่นำข้อมูลการทุจริตต่างๆ  มาเปิดเผย ซึ่งก็เห็นด้วย และติดตามข้อมูลต่างๆ ที่ออกมาเปิดเผย รวมถึงส่วยในลักษณะอื่นๆ ด้วย และยินดีที่จะร่วมงานกันในเรื่องของการปราบปรามการทุจริต แต่ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังอาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและหลายฝ่าย จึงอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลการทุจริตต่างๆ มาให้คณะทำงาน เพื่อแก้ปัญหาทุจริตเรื่องส่วยให้หมดไป

ปปช.บี้หน่วยงานรัฐป้องทุจริต

ส่วนนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในเรื่องของการติดตาม ควบคุม และลดปัญหาการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.64 เพื่อเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา เพราะเล็งเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดิน และถนนหมดอายุการใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนน และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดย ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตดังกล่าว ตามที่ ป.ป.ช.เสนอ และกำหนดให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะนำไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 

นายนิวัติไชยกล่าวว่า ประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 2.พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ 3.จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย 4.ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด

5.ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion: HSWIV) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion:  BVIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก และ 6.เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต 

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เร่งผลักดันให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียกับประเทศชาติ ยังรวมไปถึงเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ขับขี่บนท้องถนนด้วย อาทิ การที่รถบรรทุกหนักวิ่งช้าแต่วิ่งเลนขวาสุดตลอดทาง  ทำให้รถเล็กที่มีความเร็วมากกว่าต้องขับแซงซ้าย ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นต้น ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตรากวดขัน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงกำชับไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ควรยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

 “เชื่อว่าจากกรณีที่เป็นข่าวส่วยสติกเกอร์ น่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหาทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ควรมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบ เพราะนอกจากจะมีความแม่นยำแล้ว ยังช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่ของการทุจริตคอร์รัปชันได้”นายนิวัติไชยกล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง