เอกชนบี้เร่งตั้งรัฐบาล ผวาม็อบรุนแรงทุบศก.

ภาคเอกชนห่วงตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าทำการเมืองสุญญากาศ ผวาม็อบผสมโรง ยิ่งกระทบเชื่อมั่นฉุดจีดีพี กกร.ยังคงเป้าปีนี้ 3- 3.5% ชี้เงินเฟ้อกระดูกชิ้นใหญ่ กดดันเศรษฐกิจไทยไม่ขยับ กังวลภัยแล้งสร้างความเสียหาย 3.6 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกร.มองเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยยังอาจได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ  ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า รวมถึงหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต กกร.จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ไว้ที่ 3-3.5%

 “กกร.มีความกังวลสถานการณ์ภัยแล้งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงต่อภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเอลนีโญในปีนี้ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท ดังนั้น กกร.ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว และมองว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว” นายผยงระบุ

ส่วนความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัดส่วนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นกว่าในอดีต และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออาจอยู่สูงต่อเนื่องจากการส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.2566 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้นมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมี 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้  ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงานเป็นฮับมากขึ้น จากอานิสงส์ของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากไทยถือเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ดังนั้น ภาครัฐควรมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงปฏิรูปการขอวีซ่าให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น

"ภาคเอกชนอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะสุญญากาศ อยากให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากกว่านี้ ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่เกิดการสะดุด แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กกร.ได้ประเมินผลกระทบไว้ในคาดการณ์อยู่แล้ว หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปกว่าที่ควรจะเป็น คงบอกระดับความเสียหายไม่ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ" ประธาน กกร.ระบุ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค หากมีความล่าช้าออกไป 2-3 เดือน และเกิดสถานการณ์รุนแรง เช่น มีการประท้วง จะกระทบต่อกรอบการเติบโตของจีดีพีอาจเหลือเพียงร้อยละ 2-2.5% รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่ลดลง ซึ่งระหว่างนี้อยากเห็นรัฐบาลรักษาการออกมาตรการดูแลที่จะลดค่าครองชีพของประชาชน และดูแลต้นทุนผู้ประกอบการเพื่อให้ประคองตัวเองได้

สำหรับช่วงนี้มีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่หวังพึ่งได้แค่ 2 ตัว คือการท่องเที่ยว แต่ยังมีความเปราะบางเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกสบาย กับการบริโภคภายในประเทศ   ด้วยการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มกำลังซื้อ แม้จะมีข้อจำกัดก็ตาม ส่วนการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้น ผู้ผลิตก็หวังพึ่งกำลังซื้อในประเทศมาทดแทน ขณะเดียวกันก็ต้องระวังการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศผ่านการค้าออนไลน์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง