ม.272ล่มปากอ่าว! วันนอร์เลื่อนประชุมหลังก้าวไกลปลุกผีชงญัตติเสนอชื่อซ้ำ

โรม” หัวหมอ ชงญัตติทบทวนมติรัฐสภาปมห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ แต่เจอค้านระงม ก่อน “วันนอร์” ตัดบทเลื่อนประชุมตั้งแต่ยังไม่เที่ยง ทำ “ก้าวไกล” อดปิดสวิตช์ สว. “ชัยธวัช” ซัด ทำแบบนี้ไม่สง่างาม ด้าน สภาสูงประสานเสียงไม่เห็นด้วยแก้ ม.272 “สมชาย” ซัดเลิกเล่นเป็นเด็ก

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายอมร นิลเปรม  สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ว่า ตนมีมุมมองอีกแบบหนึ่ง อย่างน้อยตอนนี้ สว.ยังต้องดำรงตำแหน่งอยู่อีก 10 เดือน จึงอยากถามว่าทำไมต้องรีบร้อนที่จะแก้ไข ปกติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีฝ่ายค้าน ส่วนเรื่องการยื่นแก้ไขกฎหมายมาตรา 272 จะส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่าแล้วแต่หน้างาน คนที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่ของ สว.ที่จะพิจารณาคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง

นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการแก้กฎหมาย หากวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นญัตติหรือไม่ และสมมติว่าศาลไม่รับ ก็สามารถเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ต่อ แต่หากมาตรา 272 สามารถแก้ผ่าน จะต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าสภาทำมิชอบ เพราะกฎหมายมาตรานี้ทำประชามติมา จึงต้องหยุดการโหวตนายกฯ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเดียวกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้

นายสมชายกล่าวว่า การยื่นแก้ไขกฎหมายนี้ เป็นการเล่นการเมืองที่ไม่ถูกต้อง ตนสนับสนุนให้มีการเลือกนายกฯให้เสร็จ หากเลือกเสร็จกฎหมายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะอีก 10 เดือนก็หมดอายุตามสภาพกฎหมาย ในวันที่ 11 พ.ค.67 ส่วนตัวไม่มีปัญหาที่จะเข้าไปอธิบายหรือชี้แจง เพราะเป็นเรื่องธรรมดามาก ที่ผ่านมามีความพยายามยื่นแก้ไขกฎหมายนี้กว่า 6 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ซึ่งมีแนวโน้มได้เสียง สว. ลดน้อยลงเรื่อยๆ

 “กฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็นต้องไปแก้หรือยกเลิก เว้นแต่จะมีการแสร้งไม่เข้าใจ และเล่นแต่การเมือง เป็นปัญหาที่ทำให้คนไทยเบื่อการเมือง เพราะนักการเมืองเล่นการเมืองอยู่แบบนี้ หวังตีหัวเข้าบ้าน และไปด่า สว. รวมทั้งดิสเครดิต สว. เพื่อหวังผลระยะยาวให้มีสภาเดียว จึงเป็นการเล่นการเมืองที่ไม่ตรงไปตรงมา ยืนยันว่าถ้ากฎหมายนี้เข้ามาไม่เห็นด้วย จะไม่โหวตให้ผ่าน แต่ถ้าผ่านผมจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามหน้าที่” นายสมชายระบุ

เขากล่าวอีกว่า การยื่นแก้ไขกฎหมายนี้ ไม่ใช่ของสนุกที่จะเล่นไปได้เรื่อยๆ เลิกเล่นเป็นเด็ก ตอนนี้ สว. พร้อมเลือกนายกฯ แล้ว การเล่นเกมแบบนี้ไม่เหมาะสม ส่วนตัวมองว่าประธานสภาฯ ควรสั่งงดการประชุม เหมือนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งงด ซึ่งในวันนั้นมี 2 วาระเช่นเดียวกับวันนี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า แนวทางของพรรคคือเห็นว่าควรจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่แก้เฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง และหากต้องแก้ไข ต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม การแก้ไขมาตรา 272 ในขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ และรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันก็ผ่านการทำประชามติ และเป็นกติกาที่ประกาศ ให้กับสาธารณชนรับทราบทั้งหมด ทุกคนย่อมทราบถึงขั้นตอนและกติกาต่างๆ ซึ่งหากจำเป็นต้องแก้ไข ต้องตั้ง ส.ส.ร. เป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย

'วันนอร์' สั่งเลื่อนประชุม

ด้านนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า จริงๆ แล้วมาตรา 272 ควรแก้ไขและยกเลิกนานแล้ว เพราะเป็นกลไกหนึ่งในการขัดขวางประชาธิปไตย พรรคเป็นธรรมชัดเจนในการสนับสนุนยกเลิกมาตรา 272 เราเห็นว่าการเลือกนายกฯ ในครั้งแรก ก็ใช้มาตรา 272 ที่มี สว.อยู่ ที่ไม่สามารถทำให้เราโหวตนายกฯ ได้

ต่อมาเวลา 09.30 น. ในการประชุมรัฐสภา มีวาระพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกฯ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะมีสมาชิกมาลงชื่อเพียง 239 คน ยังไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งว่าจะรอสักครู่

จากนั้น นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขอให้ประธานรอสมาชิกจนกว่าจะสามารถเปิดประชุมได้ และไม่เชื่อว่าจะมีสมาชิกไม่มาประชุมเพื่อให้องค์ประชุมล่ม แต่คิดว่าที่สมาชิกยังไม่มาครบเพราะการจราจรรอบๆ รัฐสภาติดขัด เนื่องจากมีการปิดถนนฝั่งถนนสามเสน และมีตู้คอนเทนเนอร์วางกีดขวางอยู่

จากนั้นเวลา 10.08 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกเข้าประชุม 345 คน แต่อยากให้ประธานกำชับเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้  สว.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม เนื่องจากเห็นว่ามี สว.จำนวนมากรออยู่หน้าห้องประชุม ทุกคนกินเงินเดือน อุตส่าห์มาแล้วก็ขอให้ลงชื่อ ตนได้ยินเขากระซิบกันด้วยว่าลงชื่อไปแล้ว ทำไมอย่างไรดี อยากบอกว่าลงชื่อแล้วจะถอนชื่อไม่ได้ หรือจะให้ตนและ สส.ก้าวไกลไปดูแลกำกับแทน แจ้งประชาชนให้ทราบว่า สส.รออะไรทำไมถึงยังไม่ประชุม ขอชี้แจงว่าตอนนี้ สส. รอ สว.อยู่ ตอนนี้ สว.มาลงชื่อเพียง 49 คนเท่านั้นเอง

เวลา 10.20 น. นายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขณะนี้มีสมาชิกครบแล้ว 374 คน โดยนายรังสิมันต์ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา อาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ข้อ 32 (1) ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติของรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ห้ามเสนอชื่อบุคคลซ้ำเป็นนายกฯ ในคราวประชุมเดียวกัน 

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า  เรื่องนี้ที่ประชุมมีมติรัฐสภาเด็ดขาดแล้ว โดยวินิจฉัยตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 และขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งศาลได้ชี้แจงไปแล้วว่าจะวินิจฉัยรับคำร้องหรือไม่ ในวันที่ 16 ส.ค. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ก็ทำตามที่นายรังสิมันต์ได้ เรื่องนี้ไม่ควรที่จะพิจารณาตอนนี้ เพราะอาจติดขัดศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายรังสิมันต์ยืนยันต้องพิจารณาญัตติที่เสนอ เพราะมีผู้รับรองถูกต้อง

ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า  ญัตตินี้ไม่เกี่ยวกับเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ แต่ให้ทบทวนมติรัฐสภา อย่างไรก็ตาม อ่านข้อบังคับแล้วไม่มีข้อใดเขียนว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว จะปิดกั้นการเสนอญัตติ และญัตตินี้อาจเป็นผลดีในความคลุมเครือที่เกิดขึ้น จึงขอให้เดินหน้าต่อ เพราะญัตติถูกต้องตามข้อบังคับ

 ทำให้ประธานที่ประชุมชี้แจงว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. วินิจฉัยตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 151 ถือเป็นเด็ดขาด ดังนั้น จะทบทวนเรื่องเดิมจึงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นการตัดสินของรัฐสภาก็จะทบทวนอยู่ตลอด

เช่นเดียวกับนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ภท. และนายสมชาย แสวงการ สว. ที่กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้หารือ ถือว่าญัตติยังไม่ถูกต้อง ขอให้ประธานเปิดการประชุมเพื่อเข้าสู่ระเบียบวาระ แล้วในช่วงนั้นก็ค่อยเสนอญัตติ  

จากนั้นประธานได้สั่งเปิดประชุมในเวลา 10.38 น. โดยมีสมาชิก 519 คน ซึ่งนายรังสิมันต์ได้เสนอญัตติดังกล่าวอีกครั้ง ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวยืนยันคำเดิมว่า นายรังสิมันต์ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นมติของรัฐสภา ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 เป็นเด็ดขาด การจะมาทบทวนอีกแสดงว่าวันนั้นไม่เด็ดขาด ถ้าวันนี้จะเดินหน้าอีกถือว่าขัดต่อข้อ 151

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันให้เดินหน้าตามญัตติตามที่นายรังสิมันต์เสนอ ทำให้นายสมชายเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 61 ว่า ญัตติของนายรังสิมันต์ไม่สามารถเสนอต่อที่ประชุมได้

จากนั้นสมาชิกหลายคนลุกขึ้นอภิปรายต่ออีก โดยไม่ฟังคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาที่จะให้เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ส่วนเรื่องการโหวตนายกฯ ให้รอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน โดยฝั่งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันต้องทบทวนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ส่วน สว. ขอให้ประธานดำเนินการลงมติตามญัตติที่เสนอค้างไว้

กระทั่งเวลา 11.27 น. นายวันมูหะมัดนอร์จึงตัดบทและกล่าวสั้นๆ ว่า ขอใช้อำนาจประธานในการวินิจฉัยเลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน และสั่งปิดการประชุม เท่ากับว่าการประชุมวันนี้ (4 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐสภายังไม่ได้มีการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272

ก้าวไกลซัดไม่สง่างาม

ภายหลังปิดประชุม นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อม สส.จากพรรคก้าวไกล แถลงต่อสื่อมวลชน โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า ญัตติที่ สส.พรรคก้าวไกล เสนอให้ทบทวนมติที่รัฐสภาเคยพิจารณาว่า การเสนอชื่อนายกฯ เป็นไปตามญัตติทั่วไปตามข้อบังคังที่ 41 เป็นญัตติที่ถูกต้อง ซึ่งประธานสภาฯ ควรเปิดให้มีการลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่กับญัตตินี้ เรื่องนี้ทางพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อาจารย์วันนอร์ได้เป็นประธานสภาฯ เรามีข้อกังวลว่าการปิดประชุมนี้อาจไม่สง่างาม อาจถูกมองว่าเสียง สว. อาจไม่มากพอ ทำให้ไม่ไปสู่การลงมติ

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า การปิดประชุมสภาทำให้การดำเนินการวาระการประชุมทั้ง 2 วาระในวันนี้ไม่เกิดขึ้น อย่างการเลือกนายกฯ เรายืนยันว่า สามารถเลือกได้โดยไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อบอกให้เลื่อนไปก่อน ก็ยังมีวาระการเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้าผ่านวาระ 1 ก็จะทำให้การเลือกนายกฯ ไม่ไปสู่ทางตัน หวังว่าการประชุมครั้งต่อไปจะดำเนินการไปได้โดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแก้ไขได้จะกลับมาเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งหรือไม่ นายชัยธวัชตอบว่า เราไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ทำเพื่อทุกพรรค รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ตอนนี้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย อาจไม่จำเป็นต้องพลิกขั้วรัฐบาล หรือถูกบีบให้ไปร่วมกับพวกสืบทอดอำนาจจากขั้วรัฐบาลเดิม

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าการเสนอชื่อนายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นญัตติ สามารถเสนอซ้ำได้ นายชัยธวัชกล่าวว่า หากมีคำวินิจฉัยแบบนั้น ก็ต้องคุยกับพรรคการเมืองอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าการเสนอญัตติวันนี้ เห็นว่าไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการมาชี้ แต่ควรเป็นอำนาจของสภา เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงเสนอให้มีทบทวน

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ทราบมาแต่ต้นว่ามีความพยายามในการล้มการประชุม ถ้าไม่ได้นายวิโรจน์ช่วยกระตุ้น คงจะไม่มีการแห่เข้ามาประชุม แต่การใช้วิชามารแบบนี้ ขอถามว่า ประเทศได้อะไรจากการปิดการประชุมแบบนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง