“จุลพันธ์” การันตีรัฐบาลปักหมุดสางหนี้ทั้งระบบ งัดทุกกลไกช่วยเหลือ แต่รับห่วงเกิดกรณีจงใจผิดชำระหนี้ ลั่นเดินหน้าช่วยเหลือเอสเอ็มอี พร้อมคาด 2 สัปดาห์ลุยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละพัน “ชัย” โอ่เครือข่ายลูกหนี้ชอบใจ รบ.แก้เชิงรุก
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เตรียมแถลงใหญ่ถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบในช่วงปลายเดือน พ.ย.ว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมด จึงอยากให้รอความชัดเจนก่อน รายละเอียดทั้งหมดให้รอฟังจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่เบื้องต้นยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นคนละส่วนกับโครงการพักหนี้เกษตรกร ครั้งนี้รัฐบาลจะใช้กลไกในการแก้ไขโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจจะทำให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) แต่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ต่อประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กมันสูงมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องยกเอาแรงกดดันเหล่านี้ออกจากประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นการต่อลมหายใจ รัฐบาล ยืนยันว่าการพักหนี้ครั้งนี้จะไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เพราะรัฐบาลมีกลไกประกอบหลายอย่างในการเข้าไปช่วยเหลือ รัฐบาลหวังว่าการพักหนี้ในครั้งนี้ประกอบกับกลไกอื่นๆ ที่รัฐลงไปจะสามารถทำให้ประชาชนพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้อย่างแข็งแรง
รมช.การคลังกล่าวอีกว่า กรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานเรื่องการพักหนี้เรียบร้อย และส่วนงานกำลังดูในรายละเอียดอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าหนี้สหกรณ์ค่อนข้างซับซ้อน และสหกรณ์มีหลายประเภท จึงต้องมาดูว่านิยามในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้จะรวมถึงสหกรณ์อะไรบ้าง เพราะหากรวมไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ด้วย สเกลการให้ความช่วยเหลือจะใหญ่มาก
"เท่าที่ทราบเบื้องต้นข้อมูลที่มีการส่งเข้ามาเป็นกลุ่มค่อนข้างจำเพาะ แต่เมื่อเป็นกลุ่มจำเพาะก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าเป็นกลุ่มสหกรณ์ใดที่ส่งมา คงไม่ใช่สหกรณ์ทั้งหมด และจะต้องมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนว่า ทำไมสหกรณ์นี้จึงสามารถเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือได้ ส่วนสหกรณ์อื่นๆ ถึงจะไม่เข้า เราจะต้องดำเนินการโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถตอบสังคมได้ว่าทำไม ตรงนี้กำลังให้ส่วนงานราชการดูเอกสารที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งมา เบื้องต้นอาจจะเฉพาะสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเราจะยึดตามข้อมูลที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเข้ามาเป็นหลัก"
รมช.การคลังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เป็นโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน โดยหากมุ่งเน้นการช่วยเหลือไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ก็จะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีอื่นๆ ที่อยู่นอกกรอบไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ดังนั้นตอนนี้จึงพยายามหารือและพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบภาระที่รัฐบาลรับไหว เพราะต้องยอมรับว่ามูลหนี้ของเอสเอ็มอีต่อรายค่อนข้างสูง ไม่ใช่หลักแสนบาทแบบหนี้เกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการหากลไกเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน ยืนยันว่าอาจจะไม่ใช่การพักหนี้ และการเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐบาลจะต้องดูแล และต้องไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard
นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาทว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนี้ ยืนยันว่า ธ.ก.ส.ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแต่อย่างใด แต่ต้องมีการนำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส.ในช่วงปลายเดือนนี้ก่อน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายภายในกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งมีเพียงพอดำเนินการ
วันเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังนายกฯ ได้ยืนยันว่าจะประกาศมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบในปลายเดือน พ.ย. เครือข่ายลูกหนี้ได้ออกมาชื่นชมรัฐบาลที่ทำงานเชิงรุกเดินหน้าแก้หนี้มิติใหม่ให้กับประชาชน
นายชัยยังได้หยิบยกการให้สัมภาษณ์ของนายอาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ กับ The ACTIVE Thai PBS ว่า คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยมีความเชี่ยวชาญ และเกาะติดการทำงานด้านหนี้มานานกว่า 3 ปี เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องอาศัยความกล้าตัดสินใจของรัฐบาล โดยยกเรื่องการปรับลดหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นการเคาะมาตรการผ่านมาจากบอร์ดแก้หนี้ ถือเป็นการนำเอากฎหมายออกมาใช้บังคับจริง โดยเฉพาะผู้จัดการ กยศ. ที่ไม่เคยใช้มาตรการเหล่านี้ในการลดหนี้ เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนผู้ค้ำประกัน 3.2 ล้านคน ปลดหนี้ได้ตามกฎหมายใหม่ พร้อมขอบคุณที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่ ปลดล็อกผู้ค้ำประกันหลายล้านคน ถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกอย่างแท้จริง
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า นายอาจินยังให้ความเห็นถึงการแก้หนี้ข้าราชการ ครู ตำรวจ ที่รัฐบาลจะเตรียมเดินหน้าว่า จุดเริ่มต้นของการหยิบนโยบายแก้หนี้มาจากการขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ครูจากรายการ นโยบาย by ประชาชน ทางไทยพีบีเอสไปต่อยอด และเป็นหนึ่งในทีมของคณะกรรมการแก้หนี้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงมีความมั่นใจว่าการแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศไทยจะเดินหน้าไปถูกทิศถูกทางมากขึ้น โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมขอให้รัฐบาลเร่งแก้หนี้นอกระบบที่ต้องมีศูนย์ One Stop Service เกิดขึ้นให้ประเทศไทยปราบเจ้าหนี้นอกระบบได้ และควรปรับโทษให้รุนแรง มีรางวัลนำจับสำหรับเจ้าหนี้ที่ไร้ธรรมาภิบาล เนื่องจากคณะทำงานชุดนี้มีตัวแทนจากรอง ผบ.ตร.ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้แก้หนี้นอกระบบด้วยการตั้งกองทุนเพื่อให้คนไทยปลดหนี้นอกระบบ มีความมั่นคงโดยไม่ถูกทำร้ายข่มขู่
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ในส่วนประเด็นหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ขณะนี้ กยศ.อยู่ระหว่างดำเนินการคำนวณยอดหนี้ของลูกหนี้ใหม่ โดย กยศ.ได้ขอให้กรมบังคับคดีชะลอการบังคับคดี และชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ขายทอดตลาด เพื่อรอผลการคำนวณยอดหนี้ใหม่ก่อน ซึ่งในบางกรณีเมื่อคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้ว ลูกหนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเลย เพราะหนี้ที่คำนวณใหม่ลดลงมาก
เขากล่าวอีกว่า ขณะที่นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ยืนยันว่า ลูกหนี้ กยศ.ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายใหม่ เช่น การลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% นอกจากนี้ กยศ.จะเปิดให้ปรับโครงสร้างหนี้ โดยผู้ค้ำประกันเดิมทุกคนที่มีภาระอยู่ จะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.67 เป็นต้นไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงแนวทางที่นายกฯ จะให้มหาดไทยดูแลหนี้นอกระบบว่า ท่านได้เชิญตน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และอธิบดีกรมการปกครอง ไปหารือเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว เราก็จะมีการแถลงข่าวในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ถึงความร่วมมือ ในการปราบปรามและแก้ไขปัญหานี้นอกระบบให้หมดสิ้นไป โดยวางแนวทางว่า นายอำเภอ ผู้กำกับฯ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ที่ดูแลเรื่องกฎหมาย และสิ่งที่จะต้องมาแจ้งว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนดทำไม่ได้ ผิดกฎหมายสรรพากรในเรื่องภาษี แต่ละหน่วยงานจะทำหน้าที่ของตัวเองไป
เมื่อถามว่า บัญชีเจ้าหน้าที่และลูกหนี้ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ต้องห่วง คนมีหนี้ทั่วประเทศ เราต้องทำตัวเป็นที่พึ่งให้กับคนเหล่านี้ หลายคนถูกเอาเปรียบมานาน ส่วนอำเภอเองต้องประกาศรับลงทะเบียนจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ รวมทั้งสำรวจด้วยตัวเองด้วยกรณีคนที่ไม่กล้าเพราะเกรงกลัวอิทธิพล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล จะเร่งดำเนินการหลังประชุมหารือกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ฝ่ายค้าน’ตีปี๊บ ช่วงต้นปี2568 จัดศึกอภิปราย
พรรคประชาชนตีปี๊บต้นปีหน้ารัฐบาลเจอกฐินอภิปรายแน่
นฤมลขึงขังบี้‘หวานใจ’ ปชน.กังขา‘เขากระโดง’
"นฤมล" ยันเร่งตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดินภูนับดาว
4คนไทยยังอยู่ในมือเมียนมา
4 ชีวิตลูกเรือไทยวืดกลับบ้าน "บิ๊กอ้วน" ยันเมียนมาปล่อยแบบไร้เงื่อนไข ขณะที่บัวแก้วสยบข่าวโยงขนอาวุธว้าแดง-เรียกค่าไถ่
อิ๊งค์ถอย!ลั่นไม่มีขึ้นแวต15%
“นายกฯ อิ๊งค์” รีบดับไฟ ยันไม่มีการปรับแวตขึ้น 15% ยกต่างประเทศปรับโครงสร้างภาษีต้องใช้เวลากว่า 10 ปี
นายกฯส่งตัวแทนลงใต้ เตือน7-11ธ.ค.ฝนถล่ม!
รัฐบาลเตือน 7-11 ธ.ค. ใต้ฝนหนัก “ประเสริฐ-ธีรรัตน์” ตัวแทนนายกฯ ลงยะลา
กรมคุกกั๊กปมเอื้อ‘ปู’ แจงยิบพักโทษ‘บุญทรง-เปี๋ยง’บอก‘แม้ว’ชั้น14เท่าติดคุก
"ภูมิธรรม" ปัดตอบ "ราชทัณฑ์" เตรียมพักโทษ "เสี่ยเปี๋ยง" โยน "ยุติธรรม-พาณิชย์"