ขรก.เฮ!ชงครม.ขึ้นเงินเดือน

“จุลพันธ์” แจงอยู่ระหว่างร่างคำถามเตรียมส่งกฤษฎีกาตีความออกกฎหมายกู้เงินอุ้ม Digital Wallet 5 แสนล้านบาทว่าทำได้หรือไม่ ยืนยันต้องดำเนินการตามกฎระเบียบ ขั้นตอน ยันชงร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเข้า ครม.ภายในปีนี้ ขรก. รอเฮ! “ปานปรีย์” ได้ข้อสรุปขึ้นเงินเดือน  ชงเคาะ 28 พ.ย.

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวถึงความคืบหน้าการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการร่างคำถามเพื่อเตรียมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าเงินดิจิทัลว่าสามารถทำได้หรือไม่

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบ ขั้นตอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายหน่วยงานรับรองการประชุมก่อน จากนั้นต้องรอดูภาพรวมภาวะทางเศรษฐกิจล่าสุด จากการแถลงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ก่อนจะร่างคำถามสอบถามให้ครบถ้วน ก่อนส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความต่อไป

 “ยืนยันว่าไม่ได้ยื้อเรื่องนี้ รอเขาส่งที่ปรับอยู่เหมือนกัน ขั้นตอนมันต้องรอเวียนรับรองการประชุมคณะกรรมการฯ และพอมีแถลงภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ก็ต้องมาปรับใหม่อีก จากนั้นจะสามารถร่างคำถามให้ครบถ้วนได้ โดยคาดว่าจะยื่นคำถามให้กฤษฎีกาตีความได้ในเร็วๆ  นี้” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า กระบวนการการยกร่างกฎหมายใช้เวลาไม่มาก ส่วนกฤษฎีกาจะใช้ระยะเวลาตีความแล้วส่งกลับมายังกระทรวงการคลังได้เมื่อไรนั้น  ไม่กล้าตอบ แต่กระทรวงการคลังยังคงตั้งเป้าหมายตามเดิมว่าจะสามารถยกร่างพ.ร.บ.กู้เงินฉบับดังกล่าว และสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ ล่าสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุไว้ชัดเจนว่า มติกฤษฎีกาสามารถตอบคำถามกระทรวงการคลังได้เพียงว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย และจะไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาแต่อย่างใด หากเข้าเงื่อนไข รัฐบาลก็สามารถทำได้ หากไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านี้ ส่วนจะให้แนะนำว่าสามารถใช้ช่องทางอื่นใดแทนได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กฤษฎีกาไม่สามารถแนะนำได้ และจะให้ตีความว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต ก็ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของ ครม. ที่จะต้องหาข้อมูลมาสนับสนุน

นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ออกมาโต้ตอบตนในกรณีที่กล่าวว่านายกรัฐมนตรีตระบัดสัตย์ต่อโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการกู้เหตุใดถึงไม่คัดค้านนั้นว่า เข้าใจว่าขณะนั้นนายพร้อมพงศ์อยู่ในคุก จึงไม่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย ณ ขณะนั้นประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ประเทศเกิดการล็อกดาวน์ สิ่งที่ต้องทำในขณะนั้นคือดูแลพี่น้องประชาชนให้ดี ดังนั้นเหตุผลในการกู้เงินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับวันนี้คนละเรื่องกัน

ส่วนที่นายพร้อมพงศ์ระบุว่า ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์กู้ใช้หนี้คืนได้หรือไม่  นายชัยชนะกล่าวว่า ขอฝากไปยังนายพร้อมพงศ์ว่า เอาหูสองหูฟังให้ดี ประชาธิปัตย์กู้เงินครั้งแรกตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง กู้มา 5.8 พันล้านบาท ตอนนั้นจีดีพีที่ติดลบ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เติบโต 2% กว่า และในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กู้มา 4  แสนล้านบาท ก็เอามาทำโครงการไทยเข้มแข็ง ทำให้จีดีพีจากติดลบก็โตขึ้น นี้คือการกู้อย่างมีหลักการด้วยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขึ้นมา และในยุค IMF รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็เป็นคนแก้ปัญหา ตอนนั้นประเทศไทยจีดีพีติดลบ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้จีดีพีโตขึ้น

 “จึงขอฝากเด็จพี่ผู้ที่ผมชื่นชมในการแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ เข้าใจดีว่าตอนนี้อายุเยอะแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากฝากไฟฉายให้กับเด็จพี่ 1 กระบอก เพื่อไม่ต้องหิวแสงเยอะ ไม่ต้องหาแสงเยอะ เอาไฟฉายไว้จะได้มีแสงในตัวเอง ไม่ต้องหาแสงกับคนอื่น” นายชัยชนะกล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า  ขอสนับสนุนที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เตรียมแถลงประกาศแก้หนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพราะเห็นว่าเรื่องหนี้สินเป็นเรื่องสำคัญมากกับชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงของพี่น้องประชาชน  ขอให้นายกฯ และรัฐบาลทำอย่างจริงจังแบบครบวงจร พร้อมยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและต่อเนื่องจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ส่วนใหญ่มาจากเงินที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงิน ต้องมีกฎหมายควบคุมการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หากการให้กู้ยืมเงินนอกระบบต้องไม่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หากคิดดอกเบี้ยโหด สูงกว่านั้น ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนั้นรัฐบาลโดยฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจควรลงไปตรวจสอบผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ที่มักจะปล่อยเงินกู้จำนวนมากๆ ว่ามีแหล่งเงินมาจากไหนมาจากเงินสีเทา ธุรกิจผิดกฎหมาย การพนัน และยาเสพติดด้วยหรือไม่ เป็นการฟอกเงินผ่านการให้กู้ยืมอีกทอดหนึ่งหรือไม่ 

 “ผมจึงขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ดำเนินการกวาดล้างมาเฟียผู้มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่อาจใช้ช่องทางนี้นำเงินสีเทาผิดกฎหมายมาฟอกผ่านการปล่อยกู้ให้แก่ประชาชน และมีทีมทวงหนี้โหดไปทำร้ายร่างกายลูกหนี้ที่ผิดนัดจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าวมาจำนวนมากแล้ว” นายธนกรระบุ

เมื่อถามว่า การแก้ปัญหาหนี้สินจะช่วยประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร นายธนกรกล่าวว่า  คนเป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่จะทำอย่างไรหากไม่มีรายได้ที่เพียงพอใช้หนี้ สุดท้ายแล้วก็อาจจะกลับมาเป็นหนี้ใหม่อีก ตนจึงมองว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการฝึกทักษะอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน ต้องทำควบคู่ไปกับการช่วยปลดลดหนี้สิน จะเป็นทางออกช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถยืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคง และจะเป็นการแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนแบบยั่งยืน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาแนวทางปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ว่า ใกล้แล้ว อีก 1-2 วันน่าจะเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในวันอังคารที่ 28 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นคำตอบให้ครม.ได้พิจารณาว่าจะตัดสินใจขึ้นเงินเดือนเลยหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่า ต้องนำให้ ครม.ได้ตัดสินใจ

ขณะที่ นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวถึงการพิจารณาแนวทางปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการว่า  ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ขอประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน

เมื่อถามว่า ในการประชุมการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 23 พ.ย. จะชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์การปรับฐานเงินเดือนเลยหรือไม่ นายปิยวัฒน์กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ย. จะมีการคุยเรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางต่างๆ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องผลกระทบต่างๆ ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 23 พ.ย. เวลา 13.30 น. นายปานปรีย์จะเป็นประธานการประชุมการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ครั้งที่ 2/2566 ที่กระทรวงการต่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง